-
ความเป็นมา
ความจำเป็นเร่งด่วนของการปฏิรูปศึกษาครั้งใหม่ เพื่อการสร้างคนคุณภาพมาพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 จังหวัดจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคปฏิบัติ และภาควิชาการ ที่ต้องมาร่วมกันปฏิรูปการศึกษา โดยต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นสำคัญ คืนศรัทธาให้นักเรียนและครู และต้องใช้นวัตกรรมมาช่วยในการศึกษา
เป้าหมายของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
1. เพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เจตคติ ทักษะสำคัญ และความรู้ รวมทั้งขยายผลสู่นักเรียนทั่วประเทศในอนาคต
2. ลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา โดยยกระดับผลการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มอ่อนและยากจน
3. พัฒนานวัตกรรมการบริหารการศึกษาระดับจังหวัด ขยายผลนวัตกรรมการศึกษา ทั้งเชิงนโยบาย การจัดการเรียนรู้ และการบริหารในสถานศึกษาไปสู่นโยบายการศึกษาในระดับชาติและพื้นที่อื่น อาทิ ด้านหลักสูตร ตำรา สื่อการเรียนรู้ การทดสอบ การประเมินสถานศึกษา บุคลากร การเงิน รวมทั้งความสอดคล้องของการบริหารงานด้านต่างๆ
4. ร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคมในการจัดการศึกษา การพัฒนา และการขยายผลนวัตกรรมการศึกษา -
-
พื้นที่ปฏิบัติการ
สถานศึกษาระดับก่อนวัยเรียน และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดศรีสะเกษ
ระยะดำเนินการ
3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565)
เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลง
1. โรงเรียน ปีที่ 1 : พ.ศ. 2562 จำนวน 50 โรงเรียน ปีที่ 2 : พ.ศ. 2563 จำนวน 200 โรงเรียน
ปีที่ 3 : พ.ศ. 2564 จำนวน 800 โรงเรียน และปีที่ 4 : ปี พ.ศ. 2565 เต็มพื้นที่ โดยการปรับระบบพัฒนา และสนับสนุนครูเพื่อปฏิรูปห้องเรียน ปรับระบบความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ และชุมชนเพื่อระดมความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนจาก Real World situation เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทั้ง ASK (A : Attitude & character building S : skills K : Knowledges)
2. พื้นที่จังหวัด – เขตพื้นที่การศึกษาปรับวิธีการติดตามความก้าวหน้าและสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงเรียน – คณะกรรมการศึกษาจังหวัด (กศจ.) และสมัชชาการศึกษาจังหวัด มีส่วนร่วมในการเสนอแนะความต้องการของพื้นที่ ร่วมรับผิดชอบและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียน
3. ประเด็นหลักในการเปลี่ยนแปลง 6 ด้าน คือ
1) หลักสูตร
2) การประเมินการเรียนรู้
3) การบริหารบุคลากร
4) สื่อการเรียนการสอน
5) การประเมินคุณภาพ
6) การเงิน
-
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาทั้งจังหวัด ใน 6 ประเด็นหลัก คือ หลักสูตร การประเมินการเรียนรู้ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน การประเมินโรงเรียน และการเงิน เมื่อสิ้นสุดการดําเนินงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงทั้ง 6 ด้าน จะส่งผลถึงโรงเรียนทุกโรงในจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งสังกัด สพฐ. เอกชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้น โดยมีโรงเรียนแกนนําในการขยายผลทั้งจังหวัด 50 โรงเรียน
2) มีผลงานวิจัยทั้งวิธีการและเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้ในการจัดทําพระราชบัญญัติที่เอื้อให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ
3) เกิดการเชื่อมโยงการทํางานของภาครัฐ โรงเรียน ผู้ประกอบการ และชุมชนมากขึ้น
4) จํานวนนักเรียนที่ออกกลางคันลดลง จากการปฏิรูปห้องเรียน ครูปรับเปลี่ยนท่าที และวิธีการสอน
5) เยาวชนที่มีคุณภาพ มีทักษะสําหรับศตวรรษที่ 21 ที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
6) ได้เครื่องมือประเมินผลคุณลักษณะ และทักษะที่พึงประสงค์ สอดคล้องกับสภาพจริง เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ และฝ่ายนโยบาย คะแนนสอบวัดผล เช่น O-NET และตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นทั้งจังหวัด -
โครงการและกิจกรรมสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
1. การประชุมเตรียมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
2. การจัดนิทรรศการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
3. กิจกรรมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษโดยการสนับสนุนจาก สพฐ.
กิจกรรมที่ 1 การประชุมชี้แจงโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
กิจกรรมที่ 2 การเรียนรู้นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
กิจกรรมที่ 3 การศึกษาดูงานนวัตกรรมการเรียนรู้แบบองค์รวมเพื่อทิศทางใหม่ของการศึกษา
กิจกรรมที่ 4 การสัมมนาภาคีเครือข่ายและโรงเรียนที่เข้าร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
-
นวัตกรรมการศึกษาเด่นของจังหวัดศรีสะเกษ
-
1. โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้
ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning หรือ PBL) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community หรือ PLC)
2. การเรียนการสอนตามแนวคิดมอนเตสซอรี (Montessori)
3. การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach)
4. โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
5. โครงการ (Project Approach) ระดับปฐมวัย
6. การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยเป็นฐาน (Research Based Learning : RBL)
7. ห้องเรียนหุ่นยนต์ -