"6 นาที รู้จัก พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา" คลิปวิดีโอนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

18 กรกฎาคม 2562

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ได้นำเสนอความคิดรวบยอดและภาพรวมการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในรูปแบบคลิปวิดีโอ ความยาวประมาณ 6 นาที ซึ่งสาระสำคัญของคลิปวิดีโอมีรายละเอียด ดังนี้

“พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สนามปฏิบัติการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งพัฒนาคนไทยให้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ตรงตามความต้องการของพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาตามศักยภาพและความพร้อม ส่งเสริมสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล สามารถบริหารจัดการได้อย่างอิสระและคล่องตัวมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership หรือ TEP) ได้สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อนำนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติจริง อันนำไปสู่การประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ พื้นที่พิเศษในการจัดการศึกษาที่เอื้อให้คนในพื้นที่และทุกภาคส่วนรวมพลังร่วมจัดการศึกษา เรียนรู้การสร้างและใช้ นวัตกรรมการศึกษาร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ ทดลอง นำร่องระบบ กลไก นวัตกรรมการบริหารจัดการ นวัตกรรมการเรียนการสอน และนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยผสานจุดแข็งของการปฏิรูปการศึกษาทั้ง 2 ทิศทาง ทั้งการปฏิรูปจากบนลงล่าง และการปฏิรูปจากล่างขึ้นบน ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อคือ
(1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา รวมทั้งขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
(2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
(3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่สถานศึกษานำร่องและหน่วยงานทางการศึกษา
(4) สร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา
ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วจำนวน 6 พื้นที่ ครอบคลุม 6 ภูมิภาค รวม 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีสถานศึกษานำร่องทั้งสิ้น 267 แห่ง
ลักษณะการขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะมี
– คณะกรรมการนโยบาย ที่มีนายกเป็นประธาน วางนโยบาย ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ สนับสนุน กำกับ ติดตามพื้นที่
– คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน วางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ออกแนวปฏิบัติให้อิสระกับโรงเรียน
– สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ภาคีเครือข่าย และสถานศึกษานำร่อง บริหารจัดการศึกษาพัฒนานวัตกรรม เสนอแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ เสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานในพื้นที่บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
ประเด็นสำคัญ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่ถือเป็นโอกาสทองจังหวัดในการจัดการศึกษาตอบโจทย์ผู้เรียน สถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ
1. พื้นที่สามารถเลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างอิสระเพื่อเพิ่มคุณภาพผู้เรียน
2. สร้างและพัฒนาโครงสร้างการทำงานเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่
3. ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯได้ ไม่ติดตัวชี้วัด
4. มีอิสระในการเลือกซื้อสื่อหนังสือตำรา ตามกรอบหลักสูตรของพื้นที่
5. ออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ อาจไม่ใช้ O-NET/NT
6. สถานศึกษาได้งบพัฒนาเป็นวงเงินรวม (Block Grant)
7. สถานศึกษาไม่ต้องส่งคืนเงินบริจาค สามารถใช้จ่ายเงินบริจาคได้ตามแนวทางที่คณะกรรมการขับเคลื่อนกำหนด
8. มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่
9. สามารถ ลด ละ เลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครูและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วยกลไกการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อน
10. สร้างหลักเกณฑ์ในการประกันคุณภาพแนวใหม่ ไม่อิงการประเมินของ สมศ.
ซึ่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมฉบับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพใน 5 มิติที่ปรากฏชัดได้แก่
1. ประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่อง การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
2. ประโยชน์ต่อการศึกษา ผู้เรียนได้รับการพัฒนาครบสมบูรณ์ในทุกด้านทั้งทางด้านทัศนคติ ทักษะ และความรู้
3. ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เกิดการเตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและคุณลักษณะทางอาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
4. ประโยชน์ต่อสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาและลดช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาทางสังคม
5. ประโยชน์ต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ความสำเร็จทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ และความตั้งใจอย่างแรงกล้า ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่จะมาร่วมคิด ร่วมออกแบบและจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้เด็ก เยาวชน คนในพื้นที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา มีคุณภาพการเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

     

 


Written by พิทักษ์ โสตถยาคม และเก ประเสริฐสังข์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
เด็กโรงเรียนบ้านควนเก พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เรียนรู้โครงงานฐานวิจัย ใช้หลักสูตรภูมิสังคม ตอบโจทย์เด็กสตูลรุ่นใหม่ แข่งขันได้ ไม่ทิ้งถิ่นพื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ “โรงเรียนบ้านกระถุน” คุณครูเป็นโค้ช…ตอบโจทย์ชุมชน เด็กดูแลตนเองได้…ใช้ปัญหาเป็นฐาน
บทความล่าสุด