สรุปผลการประชุมสานพลังคณะกรรมการขับเคลื่อนในฐานะผู้พลิกเกม Game changer และสร้างการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

22 มีนาคม 2566

สรุปผลการประชุมสานพลังคณะกรรมการขับเคลื่อนในฐานะผู้พลิกเกม Game changer และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สบน. ได้จัดประชุมผลการประชุมสานพลังคณะกรรมการขับเคลื่อนในฐานะผู้พลิกเกม (Game Changer) และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings และ Facebook Live ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 19 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา บทบาทคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตลอดจนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง และนราธิวาสที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา บุคลากรจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษานำร่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สบน. สรุปสาระสำคัญจากการประชุมได้ดังนี้

รับชมย้อนหลัง

ช่วงที่ 1

ผอ.เปลี่ยนแปลง มุ่งผลลัพธ์ที่นักเรียน

โดย นายทองคำ จิตสุภาพ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรุ่ง
  • ผู้อำนวยการโรงเรียนเปลี่ยนแปลงจากมุ่งเน้นการส่งประกวดและหารางวัลภายนอกมาสู่การมุ่งผลลัพธ์ที่นักเรียน โดยการสำรวจปัญหาผู้เรียนเพื่อแก้ปัญหา “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้”
  • วางแผนการแก้ปัญหาและแสวงหาโอกาสการพัฒนานวัตกรรม “การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน” เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหา “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ของผู้เรียน
  • พัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อเป็นผู้นำทางวิชาการและเป็นโค้ชให้กับครู โดยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และเปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตอบโจทย์นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกซื้อสื่อที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของผู้เรียน
  • พัฒนาโครงสร้างรายวิชา ออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามที่ชุมชนและสังคมต้องการ

ช่วงที่ 1

การปรับหลักสูตรสถานศึกษา
และการประเมินสมรรถนะ
โดย นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่
  • ต้องรู้จักผู้เรียนทุกคน” ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของผู้เรียนทุกคนเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตของผู้เรียนที่บ้าน เพื่อหาสาเหตุและปัญหาที่ปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้
  • ลดความเหลื่อมล้ำ” เปลี่ยนจาก “ภาระ “เป็น “สร้างแรงบันดาลใจ” ผู้เรียนสามารถดูแลตัวเองได้ มีความรับผิดชอบ
  • เปิดโอกาส” พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถออกแบบและจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน เหมาะสมกับความพิการและความต้องการให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ
  • อยู่ร่วมได้ในสังคม” ค้นหาความถนัดและพัฒนาทักษะอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว พัฒนาทักษะการทำงานและการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าผู้เรียนจะมีขั้นพัฒนาการอยู่ในระดับใด ถ้าเข้าใจความแตกต่างและถนัดของตนเองก็สามารถทำงานร่วมกันได้จนประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ

ช่วงที่ 1

การสร้างสมรรถนะด้านอาชีพ
โดย นายพยับ สุวรรณนิตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวคลอง
  • ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจากห้องเรียนสู่การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน “ทุนทางสังคมหรือทางวัฒนธรรม” ใช้ภูมิปัญญาในการจัดการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงพื้นที่ชุมชน ค้นคว้า และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่เกิดการพัฒนาสมรรถนะสำคัญ
  • หาต้นทุนทางชุมชน หาจุดเด่น วิเคราะห์ และแสวงหาแนวทางร่วมกับเพื่อนำความรู้จากชุมชนสู่ห้องเรียนเชื่อมโยงบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะพื้นฐานการคิด วิเคราะห์ การอ่าน การเขียน ผู้เรียนก็สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพ
  • พัฒนาทักษะอาชีพจากการเรียนรู้ภูมิปัญญา ปราชญ์ และชุมชน ซึ่งมีจุดเด่น คือ “ปลากุเลาตากแห้ง” เรียนรู้ทักษะอาชีพการค้าและการค้าแบบออนไลน์ และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เครื่องปลากุเลาตากแห้งจนเป็นที่ยอมรับ และส่งต่อความรู้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกภาคส่วน

ช่วงที่ 2

กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกลไกทางวิชาการและการพัฒนากรอบหลักสูตรจังหวัดระยองและนราธิวาส เรียงซ้ายไปขวา

  1. นายชาร์รีฟ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส
  2. นายธงชัย มั่นคง กรรมการผู้รงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  3. นายมนตรี ชัยชนะวิบูลย์วัฒน์ ประธานอนุกรรมการด้านการสร้างการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  4. นายปรัชญา สมะลาภา ประธานอนุกรรมการด้านบริหารบุคคล ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
 
  • การพัฒนาคนในจังหวัดให้สามารถอยู่และมีงานทำในจังหวัด สามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มากกว่า
  • พื้นที่ต้องมียุทธศาสตร์จังหวัด เป้าหมาย และกลไกการทำงานร่วมกัน
  • จังหวัดจะสามารถขับเคลื่อนได้ ผู้บัญชาการสูงสุดในจังหวัดต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อขยายผลจากจุดเล็กไปสู่ภาพใหญ่ โดยมีผู้สนับสนุนมาร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนกลไกการทำงานสู่ความสำเร็จร่วมกัน
  • วิเคราะห์ต้นทุนจังหวัดและหาตัวช่วยสนับสนุน สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่เห็นประโยชน์ในการพัฒนาร่วมกัน อาทิ การทำข้อตกลงกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษา ฯลฯ

ช่วงที่ 3

การขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในฐานะผู้พลิกเกม (Game Changer) ของพื้นที่นำร่องใหม่ทั้ง 11 พื้นที่

  • มีความพร้อมในการสร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้ และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
  • ศึกษาสภาพเริ่มต้นของโรงเรียน และกำหนดเป้าหมาย กำหนดกรอบเวลา กำหนดแผนงานอย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ
  • จะเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีใจ และจะหนุนเสริมให้โรงเรียนเข้าสู่การเป็นโรงเรียนจัดการตนเอง
  • เน้นที่ทักษะพื้นฐาน ทักษะที่สำคัญ ทักษะอาชีพ ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงก่อน
  • ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้บริบทพื้นที่ของตนเอง จุดเด่นประจำจังหวัดตนเอง
  • หลายจังหวัดสามารถดำเนินการได้โดยไม่นำเรื่องงบประมาณเป็นตัวตั้ง และมีแนวทางการแสวงหางบประมาณ โดยไม่ต้องรองบประมาณของส่วนกลาง
  • การขับเคลื่อนจากพื้นที่ จะเน้นจากล่างขึ้นบน ผสานพลังการทำงานร่วมกัน ทำให้เห็นความมั่นคงและเข้มแข็งในการดำเนินงาน
  • รับฟังข้อมูลจากโรงเรียน เริ่มต้นจากสถานศึกษา และออกแบบ สร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการ
  • ผนึกกำลังร่วมกันกับต้นสังกัด จังหวัด สมัชชาการศึกษาของจังหวัด ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
  • มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จงได้

ช่วงที่ 4

นายอัมพร พินะสา

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

การวิเคราะห์ต้นทุนของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • ต้นทุนด้านตัวผู้เรียน ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตลอดจนสภาพครอบครัว
  • ต้นทุนด้านบุคลากร คุณภาพของผู้อำนวยการโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และที่เกี่ยวข้อง
  • ต้นทุนด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมถึงผลผลิตที่ได้จากหลักสูตร
  • ต้นทุนด้านความร่วมมือหรือภาคีเครือข่าย ประสานหรือดึงการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย
ภารกิจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  • ขับเคลื่อนบูรณาการการทำงาน ทั้งศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้อำนวยการเขตพื้นการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเขตพื้นที่การศึกษาที่ต้องรับผิดชอบเพื่อร่วมขับเคลื่อนการให้บรรลุวัตถุประสงค์

ช่วงที่ 4

นายสุทิน แก้วพนา

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างยั่งยืน
  • “การบริหารจัดการข้อมูล” ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งภายในภายนอกองค์กร เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา
  • “วิเคราะห์ต้นทุน” วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้จุดแข็งและโอกาส กำหนดกลยุทธ์เชิงรุกในการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ใช้จุดอ่อนและอุปสรรคกำหนดกลยุทธ์เชิงรับเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและแก้ไขจุดอ่อน และหาวิธีป้องกัน
  • “ยุทธศาสตร์การศึกษา” เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ดึงศักยภาพนำมาจัดทำหลักสูตรจังหวัดที่สอดคล้องกับพื้นที่ และพัฒนาคนให้เป็นตามต้องการ กำหนดทิศทางเชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน
  • “การสร้างการมีส่วนร่วม” การบูรณาการความร่วมในจังหวัดและการสนับสนุนของจังหวัดจะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างเข็มแข็ง และจะช่วยให้พื้นที่จัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการ ใช้จังหวัดเป็นฐานมองศักยภาพผู้เรียนเป็นหลัก
  • “การพัฒนาพื้นที่” การพัฒนาพื้นที่ต้องไปพร้อมกับการวิจัย การบริหาร วิชาการ เพื่อสร้างความยั่งยืน และเกิดกลไก ความร่วมมือที่เหมาะสมนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ในการประชุมครั้งนี้ได้รับการประเมินความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด คือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมา คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 25 และมีประเด็นที่ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมอีกครั้งถัดไป ได้แก่ (1) การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษานำร่อง (2) การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และ (3) ความสำเร็จ ความล้มเหลว ปัญหา และอุปสรรคในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

* บุคคลที่ปรากฏในบทความนี้ ท่านใด ประสงค์ให้นำภาพหรือข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลออก
โปรดแจ้งมาที่ E-mail : Saraban@EduSandbox.com*

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       

 

Facebook Comments
ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2566สบน. ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนใหม่ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา