ก.ค.ศ. อนุมัติหลักเกณฑ์การย้าย ผอ.รร. แนวใหม่ สามารถทาบทาม ผอ.รร. ที่มีความสามารถสูง เข้ามาบริหารโรงเรียนได้

6 มีนาคม 2563

ก.ค.ศ. อนุมัติหลักเกณฑ์การย้าย ผอ.รร. แนวใหม่ โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม สามารถทาบทาม ผอ.รร.ที่มีความสามารถสูง เข้ามาบริหารโรงเรียนเพื่อประโยชน์ของทางราชการและการยกระดับคุณภาพผู้เรียน

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เวลา 13.30 น. ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ ก.ค.ศ. และคณะผู้บริหารสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ชี้แจงและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมติการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563

https://otepc.go.th/th/content_page/item/2889-2-2563.html?preview=2

ช่วงหนึ่ง ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ ก.ค.ศ. และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียนแนวใหม่ โดยวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา พิจารณาจากนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และการยกระดับคุณภาพโรงเรียน ประกอบกับเรียนรู้บทเรียนจากงานวิจัยนานาชาติ อาทิ OECD UNESCO และนำปัจจัย 3 ประการ มาประกอบการพิจารณา ได้แก่ ขนาดโรงเรียน บริบทโรงเรียน และคุณภาพโรงเรียน แล้วกำหนดหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียน เป็น 3 กรณี คือ การย้ายกรณีปกติ การย้ายกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และการย้ายกรณีพิเศษ

สำหรับหลักเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียน กรณีย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ มี 2 ประเภท คือ 1) การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ 2) การย้ายเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการในสถานศึกษา ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา คาดว่าจะใช้ในเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่ม 1 การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาขนาดกลางขึ้นไป

เป็นการย้ายผู้บริหารโรงเรียนโดยวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนให้สูงขึ้น หรือการพัฒนาโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องค้นหา หรือ hunting ผู้บริหารโรงเรียนที่มีความสามารถสูง เป็นที่ประจักษ์ โดยใช้การทาบทาม ดู Portfolio เพื่อมั่นใจได้ว่าสามารถยกระดับคุณภาพโรงเรียนได้จริง นอกจากนั้น จะต้องมีการทำข้อตกลง หรือ MOU ในการปฏิบัติงานด้วย

กลุ่ม 2 การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาขนาดกลางและขนาดเล็ก

เป็นการย้ายผู้บริหารโรงเรียนไปปฏิบัติงานในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ยากลำบากในการคมนาคม เสี่ยงภัย ทุรกันดาร เกาะ ภูเขา หรือชายแดน และมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติอยู่ในลำดับต่ำกว่าร้อยละ 20 ของสถานศึกษาในจังหวัด การย้ายในกลุ่ม 2 นี้ ใช้ในการพิจารณาย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาเท่านั้น ซึ่งการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่ม 2 นี้ ต้องเฟ้นหาผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความสามารถสูง ใช้การทาบทาม ให้แรงจูงใจพิเศษ เช่น การร่นระยะเวลาการขอวิทยฐานะ การกลับไปใช้สิทธิ์ในโรงเรียนเดิมได้เมื่อปฏิบัติการบรรลุผลตาม MOU แล้ว หรือไม่ก็อาจเสนอให้มีเงินวิทยพัฒน์ตอบแทนด้วย เพื่อจูงใจให้ย้ายไปยังโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่อยู่บนเกาะ ภูเขา ชายแดนในพื้นที่ห่างไกล เป็นโรงเรียนที่มีความท้าทายสูง หลักเกณฑ์นี้เป็นลักษณะ Performance Agreement (PA)

จากหลักเกณฑ์การโยกย้ายข้างต้น สอดคล้องกับมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 “ให้คณะกรรมการนโยบายเสนอแนะต่อ ก.ค.ศ. เพื่อให้มีการออกกฎ ก.ค.ศ. หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข สำหรับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับการคัดเลือก การบรรจุแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนเงินเดือ และการประเมินวิทยฐานะ ให้เกิดความเหมาะสมกับการบริหารงานของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา…”

การดำเนินงานของ ก.ค.ศ. นี้ ถือเป็นการทำงานเชิงรุก จากความเข้าใจในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างดียิ่งของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ ก.ค.ศ. ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ในช่วงที่เป็นรองเลขาธิการ กพฐ. กำกับดูแลสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และลงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหลายจังหวัด และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมริเริ่มแนวคิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในนามภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใน 8 จังหวัด สามารถคัดสรรผู้บริหารโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความสามารถสูง และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์พื้นที่ได้


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
วิดีโอประกอบ: OBEC Chanel

Facebook Comments
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา : การวิจัยภาคสนามที่ยิ่งใหญ่พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เปิดโอกาสให้ทำนอกกรอบ ตอบโจทย์พื้นที่ เติมให้เด็กมีสมรรถนะสูงขึ้น
บทความล่าสุด