ยกระดับการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม Lesson Study & Open Approach เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบชั้นเรียน เพื่อสร้างการเรียนรู้และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ตามวิถีของตน

10 กันยายน 2564

เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบชั้นเรียน 
เพื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ตามวิถีของตน

จากครั้งก่อนที่เราได้พาไปรู้จักกับสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานีกันมาบ้างแล้ว คือ โรงเรียนบ้านประจัน กับการเรียนการสอนแบบทวิภาษา โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ ในการเรียนรู้จากนาเกลือ อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และโรงเรียนบ้านคาโต กับการสร้างสมรรถนะทางด้านอาชีพให้กับผู้เรียน ในครั้งนี้เราจะมารู้จักกับสถานศึกษานำร่องอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ โรงเรียนบ้านกะรุบี ซึ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 ตั้งอยู่ที่ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี โดยนายนูเซ็ง เจะบู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกะรุบี ได้กล่าวถึงเรื่องราวดีๆ ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนไว้ดังนี้

โรงเรียนบ้านกะรุบี ได้มีการดำเนินการนำนวัตกรรมการสอนในสาระวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมการสอนแบบ open approach หรือวิธีการแบบเปิด ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน มีการนำนวัตกรรมการบริหารในชั้นเรียน โดยมีการนำนวัตกรรม lesson study พร้อมทั้งการทำ PLC (Professional Learning Community) เพื่อสะท้อนผลการสอน โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนนำหลักในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งโรงเรียนได้ทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อสร้างเครือข่ายในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีมหาวิทยาลัยเครือข่าย คือ มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นพี่เลี้ยง ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาครูและนิเทศการสอนในชั้นเรียน มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ มีการแนะนำวิธีสอน การสังเกตชั้นเรียน และมีการลงพื้นที่โรงเรียนเป็นระยะ และสำหรับการใช้นวัตกรรมนี้นั้น จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนสามารถใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และคาดว่าปีการศึกษา 2564 นี้ จะเริ่มใช้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

นอกจากนั้นโรงเรียนได้มีนวัตกรรมการสอนแบบโครงงานฐาน สาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ว่าปลูกอย่างไร และทำให้มีรายได้มากน้อยอย่างไร ซึ่งสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่มีในท้องถิ่นนี้ยังอยู่ในขั้นต้นของการดำเนินการ โดยทางโรงเรียนจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

หลังจากที่ใช้นวัตกรรมการสอนแบบ open approach พบว่า นักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ สามารถสร้างแนวคิดและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เองว่านักเรียนมีแนวคิดการเรียนรู้อย่างไร จากนั้นก็นำมาสรุปและนำเสนอความคิดของตนเอง เพื่อให้ครูและเพื่อนในชั้นเรียนได้รับรู้และสรุปเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียนจากบทเรียนที่ครูออกแบบไว้หรือตั้งคำถามให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งบรรยากาศในการเรียนจะเห็นได้ว่านักเรียนมีความสนุก ไม่เกิดความเครียด โดยเฉพาะการเรียนคณิตศาสตร์ นักเรียนจะมีส่วนร่วมทุกครั้ง ถึงแม้จะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองในการสื่อสาร แต่นักเรียนสามารถที่จะใช้ภาษาไทยแบบง่ายๆ และภาษาท้องถิ่นในการนำเสนอให้ครูสามารถเข้าใจได้ อีกทั้งนักเรียนยังมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากขึ้น โดยสังเกตได้จากการที่เมื่อถึงเวลาเรียนนักเรียนจะอยู่ในห้องเรียนกันพร้อมหน้ารอครูว่าวันนี้ครูจะมาสอนอะไร โดยที่ครูไม่ต้องเรียก จากเมื่อก่อนที่ครูต้องเรียกตามนักเรียนให้มาเข้าเรียนเป็นประจำ สำหรับกลุ่มนักเรียนที่เรียนรู้ช้า ก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย นักเรียนกลุ่มนี้จะมีส่วนร่วม มีโอกาสในการนำเสนอในชั้นเรียน ถึงแม้ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ได้ เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม หรือการเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ รวมถึงในด้านของครูผู้สอน ซึ่งขณะนี้โรงเรียนมีครูแกนนำในการใช้นวัตกรรมที่ทำงานกันเป็นทีมในการถ่ายทอดความรู้ สร้างทีมงานในการสอนโดยการใช้นวัตกรรม และอยู่ในระหว่างการพัฒนาครูสู่ครูแกนนำให้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่นายนูเซ็ง  เจะบู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกะรุบี กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะครูจะได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เป็นการนำรูปแบบการใช้นวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนจริงๆ และยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่จะทำต่อไปให้เห็นเป็นประจักษ์ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม การใช้นวัตกรรม lesson study นำมาทบทวนวิธีการสอน ทบทวนบทเรียนที่ครูสอนนักเรียน และการทำ PLC ร่วมกัน

   

การสอนแบบ open approach ของโรงเรียนบ้านกะรุบีตามที่กล่าวมานั้น โดยเฉพาะการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่นักเรียนให้การตอบรับและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้นักเรียนได้ยกระดับการเรียนรู้ผ่านการคิด การแก้ปัญหา และการแลกเปลี่ยนร่วมกันในชั้นเรียน ทำให้ครูมองเห็นศักยภาพของนักเรียน ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปได้ และหากท่านผู้อ่านมีความสนใจเพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนของท่านหรือต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โรงเรียนบ้านกะรุบี โดยผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูแกนนำพร้อมที่จะร่วมพูดคุย ให้ข้อมูลและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อส่งต่อความสำเร็จแก่ท่านด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง


ผู้เขียน : ประสิทธิ์   สุขประสพโภคา
ผู้ให้สัมภาษณ์ :
นูเซ็ง  เจะบู  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกะรุบี
ผู้สัมภาษณ์: ประสิทธิ์   สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์ , เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพปประกอบ : โรงเรียนบ้านกะรุบี

Facebook Comments
นวัตกรรมการบริหาร UDOMSIT UDS MODEL เพื่อการจัดการสถานศึกษาอย่างมีคุณภาพนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบองค์รวม 7-11 วิถีใหม่สู่การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบของโรงเรียนบ้านร่องสะอาด (7 New normal 11 Key Performance Indicator: 7-11)
บทความล่าสุด