30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

14 กรกฎาคม 2564

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านพบกับบทความ 30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลานำเสนอความก้าวหน้าของโรงเรียนนำร่องทั้งด้านหลักการ แนวคิดและผลสำเร็จในบทความนี้เป็นการนำเสนอผลดำเนินงานของโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) เป็นหนึ่งในสถานศึกษานำร่องทั้ง 30 แห่งซึ่งผู้เขียนได้พูดคุยกับนางซาลีตาเจะมิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) เพื่อขอนำเสนอบทความสั้นเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่โรงเรียนได้พัฒนาขึ้น

จุดเริ่มต้นเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง

จากการพูดคุยทำให้รู้ว่า ผอ.ซาลีตา เจะมิง มีความมุ่งหวังที่ต้องการพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทชุมชนในพื้นที่ เปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนจากเดิม ด้วยการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนเชิงรุก (Active Learning) ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการลงปฏิบัติให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามเป้าหมายหลักสูตรสถานศึกษาและมีทักษะในการประกอบอาชีพ เนื่องจากโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย จากการสำรวจทรัพยากรในท้องถิ่น พบว่ากล้วยเป็นพืชที่นิยมปลูกเกือบทุกบ้านในท้องถิ่น ทางโรงเรียนจึงมีแนวคิดที่เพิ่มมูลค่าของกล้วย ตลอดจนต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ตั้งแต่การปลูก การขยายพันธ์ การสร้างผลิตภัณฑ์จากกล้วย จนไปถึงการขายพันธุ์กล้วย และผลิตภัณฑ์จากกล้วย ทางโรงเรียนคิดค้นนวัตกรรมและจัดทำนวัตกรรมนี้ขึ้น โดยส่งเสริมให้ครูบูรณาการหลักสูตร องค์ความรู้ หลายกลุ่มสาระ และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้นักเรียน เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์ต่าง ๆ เรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่ม ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถในการเรียนรู้ของตนอย่างเต็มศักยภาพให้ผู้เรียนได้ใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมุ่งพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ แบบ Active Learning

ตัวอย่างการจัดการเรียน หลักสูตรบูรณาการเรื่อง “กล้วย” ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยให้ครูทุกสาระการเรียนรู้ในแต่ชั้น ดำเนินการวิเคราะห์ความสอดคล้องของมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้ จัดทำผังมโนทัศน์บูรณาการ ( ไม่ต่ำกว่า 5 สาระการเรียนรู้) เรื่องกล้วย จัดทำโครงสร้างหน่วยการเรียนรู้สู่การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ เช่น ตัวอย่างจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ แบบ Active Learning ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง กล้วย…ผลไม้มหัศจรรย์บูรณาการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ เป็นการร้องเพลง กล้วยน้ำว้า และวาดภาพกล้วย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอ่านจับใจความสำคัญ โดยใช้ผังความคิด เรื่อง ประโยชน์ของกล้วย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ศึกษาสารอาหารจากกล้วย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรียนรู้เกี่ยวกับ วิถีภูมิปัญญาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม การละเล่นม้าก้านกล้วย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและ พลศึกษา ให้นักเรียนเคลื่อนไหวร่างกายโดยการเล่นม้าก้านกล้วย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับ การชั่งน้ำหนัก การตวง เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการชั่ง ตวง ส่วนผสมในการทำขนม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ การปลูกกล้วย การดูแลต้นกล้วย ฝึกปฏิบัตินักเรียนเย็บกระทงใบตองแบบสี่มุม และทำขนมกล้วยแบบนึ่ง ขนมกล้วยครก นำไปใส่เตาแบบขนมครก นำไปย่าง กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) เรียนรู้คำศัพท์ ส่วนประกอบของต้นกล้วย คำศัพท์ส่วนผสม ของขนมกล้วย เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

การจัดการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละชั้นจะต้องมีกิจกรรมที่ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ป. คือ

  1. ปลูก นักเรียนทุกคนทุกชั้นเรียนจะต้องทำกิจกรรมปลูก (ปลูก ดูแล ขยายพันธ์)
  2. แปรรูป นักเรียนทุกคนทุกชั้นเรียนจะต้องทำกิจกรรมแปรรูปกล้วย เป็นอาหาร ขนม
  3. ประยุกต์ นักเรียนทุกคนทุกชั้นเรียนประยุกต์ขนมหรืออาหารที่แปรรูปมาต่อยอดความรู้ โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้แปลกใหม่ไปจากเดิม เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OCOP (One Class One Product) ของชั้นเรียน
การเปลี่ยนแปลงหลังจากเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง 4 ด้าน
  • ผู้บริหาร
    มีนวัตกรรมที่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีแหล่งเรียนรู้สวนกล้วยออร์แกนิค ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน และหน่วยงานต้นสังกัด
  • ครู
    พัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตรพัฒนาการสู่สมรรถนะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถบูรณาการทุกวิชาได้ในทุกขั้นตอน มีเทคนิคการสอนที่ดี มีความอดทน มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่น เสียสละในการปฏิบัติงาน มีการจัดหา และผลิตสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย
  • นักเรียน
    มีความตั้งใจเรียนมากขึ้น เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการลงมือปฏิบัติ มีความสอดคล้องกับริบทชุมชนและมีทักษะในการประกอบอาชีพตามความถนัดตนเอง นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้จากห้องเรียนออกไปสู่ชุมชนและชีวิตจริงของนักเรียนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติจริง สร้างรายได้เสริมระหว่างเรียนและนำไปประกอบอาชีพในอนาคตนักเรียนสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และนักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต
  • ชุมชน
    ได้เห็นถึงคุณภาพของผู้เรียน คุณภาพของเรียนและกระบวนการจัดการเรียนการสอนมีการนำภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาสืบสาน ให้คงอยู่ต่อไป คนในชุมชนมีความรู้ มีทักษะในการประกอบอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นตนเอง และได้รับการพัฒนามากขึ้น
พัฒนาสู่เป้าหมาย

เป็นสถานศึกษาคุณภาพมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพสมรรถนะและทักษะในการประกอบอาชีพมีทักษะชีวิต มีสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหา เผชิญสถานการณ์จริงในชีวิตได้

ความภาคภูมิที่เป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มีความเป็นอิสระ สามารถจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของนักเรียน สอดคล้องกับบริบทของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการสืบทอดองค์ความรู้ ให้ลูกหลานได้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิใจและรักบ้านเกิดของตนเอง

ทางสู่ความสำเร็จ

ความสำเร็จต้องมีการวางแผนจัดการที่ดีต้องการให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลามีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปแบบที่จะช่วยผลักดัน ช่วยเหลือและส่งเสริมโรงเรียนนำร่องประสบความสำเร็จ

ส่งท้าย

ผู้เขียนมีความเห็นว่าการเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) ที่รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ให้สามารถปรับตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้หลักสูตรสถานศึกษามีความเหมาะสมกับบริบทชุมชน ผู้เรียนเกิดทักษะและคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำและมีความหมายต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งขณะนี้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ โดยใช้ สตอรี่ไลน์ ของโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) อยู่ระหว่างการพัฒนาคุณภาพ และการดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ โดยใช้ สตอรี่ไลน์ ในปีการศึกษา 2564 จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป โรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์) จะนำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างไรและจะนำเสนอบทความที่น่าสนใจของโรงเรียนนำร่องอื่น ๆ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ในหัวข้อ “30 ก้าว ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา” บทความถัดไป

 
สุมหัวคิดกับเราที่

Facebook – สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา – EduSandbox
Group Facebook – EduSandbox – พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 


 


ผู้เขียน:
อิศรา โสทธิสงค์
ผู้ให้สัมภาษณ์:
ซาลีตา เจะมิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์)
ผู้สัมภาษณ์:
อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์:
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์:
ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ:
โรงเรียนบ้านบาตัน (ฟลอยด์รอสอนุสรณ์)

Facebook Comments
มิติแห่งวิถีการสร้างและพัฒนาคนระยอง: กรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง Rayong MARCOหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง “MODERN MT Curriculum” เพื่อส่งเสริมการมีงานทำในศตวรรษที่ 21
บทความล่าสุด