สพฐ. ปลดล็อก การประกันภายในและการประเมินภายนอก ให้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

17 เมษายน 2563

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 สพฐ. แจ้งผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนำร่อง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

หลักการ คือ เมื่อมี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จึงมีผลให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งแล้ว และมีบทเฉพาะกาลว่าพื้นที่ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งแล้วนั้น ถือว่าเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ โดยอัตโนมัติ รวมทั้งโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้มีการประกาศรายชื่อสถานศึกษานำร่องแล้ว ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถือว่า เป็น “สถานศึกษานำร่อง” มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการด้วยโรงเรียนเอง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด และภาคส่วนต่าง ๆ อย่างจริงจัง เพื่อมุ่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา นั่นคือ 1) ผสานเครือข่าย 2) กระจายอำนาจ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ 3) ผลิต คิดค้น พัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม และ 4) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา (ดูรายละเอียดของ พ.ร.บ. ที่นี่ >>>> คลิก <<<<)

และในมาตรา 37-38 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ซึ่ง พ.ร.บ. กำหนดให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำหนด หากคณะกรรมการนโยบายกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจะแจ้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำโรงเรียนนำร่อง เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยังมีหน้าที่และอำนาจในการออกแบบทดสอบตามมาตรา 20 (6) “จัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” และการประเมินผลตามมาตรา 20 (10) “จัดให้มีการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง” โดยจะต้องให้สอดคล้องกับหลักสูตรตามมาตรา 25 ทั้งนี้ หากคณะกรรมการขับเคลื่อนเห็นว่าโรงเรียนนำร่องใดมีความพร้อม อาจมอบหมายหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 20 (6) ให้แก่โรงเรียนนำร่องดังกล่าวดำเนินการในส่วนของตนได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนมีหน้าที่ อำนาจ และมีอิสระที่จะร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ออกแบบการจัดการศึกษาแนวใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และโรงเรียนนำร่องแต่ละโรงเรียนได้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะมากขึ้น/ดีขึ้นกว่าเดิม

กล่าวโดยสรุป คือ เพื่อเป็นการลดภาระด้านการประกันคุณภาพให้แก่โรงเรียนนำร่อง และตอบคำถามของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/ โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา ณ ขณะนี้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงแจ้งให้ทราบบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดขึ้นในอนาคต ตามมาตรา 37 และมาตรา 38

Download รายละเอียดดังหนังสือราชการและสิ่งที่ส่งมาด้วย ดังนี้


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านพยูน พื้นที่นวัตกรรมระยอง สอนเป็นทีม : PLC นิเทศในชั้นเรียน พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนผ่านองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลพลิกโฉมโรงเรียนสู่กระบวนการ Brain-Based Learning : BBL โรงเรียนบ้านพงสิม จังหวัดศรีสะเกษ
บทความล่าสุด