ใช้สมองเป็นฐานสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม BBL (Brain - based Learning) โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) จังหวัดศรีสะเกษ

20 เมษายน 2563

โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์)  ตั้งอยู่ที่ เลขที่  11 หมู่ 7 ตำบลยางชุมน้อย อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 มีการสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เนื้อที่  51 ไร่ 3 งาน  43 ตารางวา  เขตพื้นที่บริการ 10 หมู่บ้านในตำบลยางชุมน้อย และมีนักเรียนนอกเขตอีกจำนวนหนึ่ง มีผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 39 คนและมีนักเรียน จำนวน 786 คน

เริ่มต้นเพื่อการเรียนรู้ที่รอบด้าน

โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นสิ่งที่ชุมชน ผู้ปกครองคาดหวังว่าโรงเรียนจะสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถเต็มตามศักยภาพของบุคคล ทางโรงเรียนได้จัดการประชุมคณะครูเพื่อหาแนวทางพัฒนาร่วมกัน โดยมีข้อสรุปว่าโรงเรียนจะนำนวัตกรรมที่สามารถพัฒนานักเรียนได้อย่างรอบด้าน ด้วยการนำนวัตกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิด BBL (Brain – based Learning) มาดำเนินการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในกับนักเรียนระดับอนุบาลถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

ความสำคัญ Brain – based learning ในศตวรรษที่ 21 

การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain – based Learning: BBL) ในศตวรรษที่ 21 เริ่มมีความเด่นชัดและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก Brain – based learning เป็นที่รู้จักในวงการการศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายให้มีการจัดการศึกษาในแนวทางนี้เป็นแนวทางหลักที่ใช้ในโรงเรียน Brain – based learning เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องวิถีการเรียนรู้หรือการทำงานของสมองทางธรรมชาติ เช่น ในเรื่องการเรียนการสอนจะเป็นการสอนให้สอดคล้องกับวิธีการทำงานของสมองแทนที่จะสอดคล้องกับอายุ ชั้นเรียนหรือห้องเรียนเพียงอย่างเดียวเพราะเด็กที่อายุเท่ากันอาจมีสมองไม่เหมือนกันก็ได้หรือมีความสามารถแตกต่างกันหรือความสนใจแตกต่างกันด้วย การใช้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสมองเป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์

พลิกโฉมโรงเรียนด้วยแนวคิด Brain – based Learning

โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) ได้ทำการพลิกโฉมโรงเรียนด้วยแนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain – based Learning: BBL) โดยทางโรงเรียนดำเนินการพลิกโฉมโรงเรียนได้ ดังนี้

  1. การสร้างร่างกายให้แข็งแรง โรงเรียนปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่สนาม เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาร่างกายอย่างเต็มที่ โดยสนามต้องกระตุ้นและท้าทาย เพื่อให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างเต็มที่
  2. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและท้าทาย ออกแบบอาคารสถานที่ ห้องเรียนและพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ ในโรงเรียนให้น่าสนใจ กระตุ้นสมองให้อยากเรียนรู้ให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ รวมทั้งรองรับลักษณะของเด็กที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้ความสนใจกับการออกแบบอาคารสถานที่ การจัดพื้นที่ในห้องเรียน การใช้สี การจัดวางเครื่องมือ การออกแบบ ตกแต่งภายในห้องเรียนรวมทั้งเลือกสรร เลือกใช้วัสดุให้สอดคล้องกับนวัตกรรมของยุคสมัย
  3. นำเสนอกระบวนการที่แปลกใหม่และกระตุ้นการเรียนรู้ ห้องเรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนจะได้สัมผัส จำเป็นต้องค้นหาวิธีการและขั้นตอนที่จะนำนักเรียน บรรลุสู่เป้าหมายที่วางแผนไว้ในแต่ละชั่วโมง ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้มีบรรยากาศที่เป็นมิตร ท้าทาย และปลอดภัย ครูทุกคนต้องคำนึงว่า ห้องเรียนจำเป็นต้องอยู่ในบรรยากาศที่แปลกใหม่ เพราะสมองเด็กจะตอบรับได้ดี ในบรรยากาศดังกล่าวนี้
  4. ใช้หนังสือและใบงานกระตุ้นสมอง โรงเรียนยังคงมีปัญหามากเกี่ยวกับการสรรหาหนังสือเรียน แบบฝึกหัดและการสร้างใบงาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องคัดสรรหนังสือเรียนและแบบฝึกต่าง ๆ ที่มีคุณภาพมาใช้ในโรงเรียนและใช้เป็นหนังสือค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบในการเรียนการสอน
  5. ใช้นวัตกรรมเพิ่มพลังการเรียนรู้ การที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จะใช้สื่อชนิดไหนและเครื่องมืออะไร ในแต่ละชั่วโมงหรือแต่ละสัปดาห์ ครูได้มีการวางแผนการล่วงหน้า การใช้สื่ออย่างบัตรภาพ บัตรคำ หรือของจริง สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มากมายผลิตขึ้นมา โดยนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้สื่อ เพื่อกระตุ้นให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีชีวิต

กุญแจ 5 ดอก …ก้าวสู่ BBL 

กุญแจดอกที่ 1 สนามเด็กเล่น

คือ การเปลี่ยนสนามเด็กเล่น เพื่อพัฒนาสมองน้อย ๆ และไขสันหลังให้แข็งแกร่ง เมื่อเด็กออกกำลังกาย ร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดทำสนามที่มีฐานหลากหลาย ให้เด็กได้วิ่ง ปีน โหน ลอด กระโดด ฯลฯ และมีวัสดุกันกระแทก จัดเวลาให้เด็กได้เล่นสนามวันละ ๒๐ นาที ทุกวัน โดยมีครูคอยดูแล

กุญแจดอกที่ 2 ห้องเรียน

คือ การเปลี่ยนห้องเรียนเพื่อเปลี่ยนสมองของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ มีความเข้มข้น มีสีสัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น ปรับปรุงห้องเรียนทาสีผนัง หรือนำฟิวเจอร์บอร์ดสี มาติดผนัง และทาสีโต๊ะ เก้าอี้ จัดมุมการอ่านไว้ในห้องเรียนทุกห้อง ทิ้งของที่ไม่ใช้ในห้องเรียน จัดวางอุปกรณ์และสื่อต่าง ๆ ไว้บนชั้นให้เป็นระเบียบ รื้อบอร์ดเก่าที่ไม่มีประโยชน์ทิ้งไป แล้วนำความรู้ที่มีประโยชน์มาจัดบอร์ด

กุญแจดอกที่ 3 กระบวนการเรียนรู้

คือ การกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สมองของเด็กตื่นตัว สนใจ ท้าทายการคิด ค้นหา ลองผิด ลองถูก เรียนรู้และจดจำ 
1. กระตุ้นสมองน้อยๆ ด้วยกิจกรรม “ขยับกาย ขยายสมอง” ทุกๆ ต้นชั่วโมง
2. กระตุ้นสมองทั้งสองซีก โดยใช้บทเพลงและบทกลอนและกิจกรรมที่สนุกสนาน ช่วยในการสอนภาษาและคณิตศาสตร์
3. กระตุ้นสมองทั้งสี่ส่วน โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เห็นภาพ ได้รับรู้ผ่านการได้ยินเสียง ได้เคลื่อนไหว และได้ใช้ประสาทสัมผัส

กุญแจดอกที่ 4 หนังสือเรียนและใบงาน

คือ การใช้หนังสือและใบงาน ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นสมองของนักเรียน ฝึกให้เด็กคิดทีละขั้นตอน นำทักษะและความรู้ในแต่ละขั้น มาประกอบกันเป็นความเข้าใจในที่สุด โดย จัดหาหนังสือเรียนและหนังสืออ่านเพิ่มต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ จัดทำใบงานตามหลักการ BBL ตามแนวทางที่วางไว้เพื่อนำนักเรียนไปสู่ความสำเร็จ

กุญแจดอกที่ 5 สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้

คือ ใช้สื่อและนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีสีสันและมีจำนวนเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน พึงพอใจ เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน โดย จัดหาสื่อ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ จัดหากระดานเคลื่อนที่ สำหรับห้องเรียนชั้นอนุบาลและประถมทุกห้อง จัดหาบัตรภาพ บัตรคำ เพื่อใช้ประกอบการสอน

ผลลัพธ์ที่สร้างสุขทุกฝ่าย

ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) ได้นำนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน BBL มาดำเนินการในระดับชั้นอนุบาลที่ 2 และ อนุบาล 3 ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 รวมจำนวน 15 ห้องเรียน ซึ่งหลังจากดำเนินการนวัตกรรม BBL ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ นักเรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้ยิ่งขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก มีสมาธิในการเรียน รวมถึงผลการสอบอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้ผลลัพธ์ผลการสอบเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนมีผลการสอบอ่านได้มากกว่า 70% ส่วนอีก 30% นักเรียนสามารถอ่านได้แต่ยังไม่คล่อง นักเรียนเรียนด้วยความสุข ครูสอนด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ผลิตสื่อใช้เองได้อย่างหลากหลาย ผู้ปกครองชื่นชมในผลงานของนักเรียน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนอย่างเต็มที่

จากความร่วมมือสู่การวางแผนที่ครอบคลุม

โรงเรียนอนุบายางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรม BBL มาใช้ เกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคณะทีมงานมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้สนับสนุนการอบรม สื่อ อุปกรณ์ และเทคนิคการจัดการเรียนรู้จากอาจารย์พรพิไล เลิศวิชา และครูที่ตั้งใจฝึก อบรม เตรียมการเพื่อนำความรู้มาพัฒนานักเรียน โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) ได้ประชุมครู PLC ทุกเดือนเพื่อเสนอปัญหาและแนวการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้ เพิ่มเติมเทคนิคการจัดกิจกรรมและรับข้อเสนอแนะจากศึกษานิเทศก์ในการสังเกตการสอนในชั้นเรียน

เป้าหมายในการสร้างทักษะชีวิตจากครูสู่นักเรียน

โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) ได้มีการวางแผนการศึกษาฐานสมรรถนะใน ปีการศึกษา 2563 โดยการอบรมครูให้มีความรู้ในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สร้างนวัตกรรมการสอนที่เน้นสมรรถนะนักเรียน เช่น การสร้างสมรรถนะการอ่าน ด้วยการใช้แบบฝึกอ่าน การสร้างคำใหม่ การสร้างบัญชีคำพื้นฐานของนักเรียน สู่สมรรถนะการอ่านแบบค้นหาสาระ อ่านแบบตีความ และอ่านแบบวิเคราะห์ การบูรณาการสู่ 8 กลุ่มสาระ และทักษาวิชาชีพเบื้องต้น

สิ่งที่โรงเรียนต้องการมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียน คือมีสมรรถนะการอ่าน นักเรียนอ่านได้ รู้ความหมาย ทักษะทางคณิตศาสตร์นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทักษะชีวิตและนำไปใช้ได้กับทุกสถานการณ์เป็นผู้ที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ สร้างองค์ความรู้นำมาบอกเล่าให้คนอื่นฟัง พร้อมทั้งพัฒนาตนเอง คิดและพัฒนานวัตกรรมอย่างหลากหลายที่นำมาใช้ในชีวิตจริงได้


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, ยงชัย สุเมธิวิทย์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ยงชัย สุเมธิวิทย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ยงชัย สุเมธิวิทย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์)

Facebook Comments
พลิกโฉมโรงเรียนสู่กระบวนการ Brain-Based Learning : BBL โรงเรียนบ้านพงสิม จังหวัดศรีสะเกษโรงเรียนบ้านท่าเสา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง มุ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพผ่านนวัตกรรมจิตศึกษา PBL เพราะครูที่มีคุณภาพ ย่อมนำไปสู่เด็กที่มีคุณภาพ
บทความล่าสุด