พัฒนากระบวนการคิดและแก้ปัญหาด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การมีทักษะอาชีพและทักษะชีวิต

24 สิงหาคม 2564

สร้างกระบวนการการเรียนรู้ คิดอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาด้วยตนเอง 
สู่การมีทักษะทางอาชีพและการใช้ชีวิต ด้วยการเรียนการสอนแบบ Active Learning

สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานีอีกหนึ่งแห่งที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ นั่นก็คือ โรงเรียนบ้านระแว้ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2 ตั้งอยู่ที่ ต.ระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และผลไม้ขึ้นชื่อ คือ ลูกหยี ที่ก่อให้เกิดอาชีพ การสรรค์สร้างความคิด และภูมิปัญญามากมาย และยังเป็นพื้นที่ที่สถานศึกษามีอัตราการแข่งขันสูง แต่โรงเรียนบ้านระแว้งก็สามารถที่จะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง อีกทั้งผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นในโรงเรียน จะเป็นเพราะเหตุใดนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง

นายประพันธ์ เจ๊ะอูมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านระแว้ง กล่าวว่า การเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านระแว้งนั้น ได้ให้อิสระ เป็นการเรียนการสอนแบบไหนก็ได้ที่เป็น active learning ซึ่งจริงๆโรงเรียนทำมาแล้ว 5-6 ปี ก่อนมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และมีการสร้างระบบนิเทศในโรงเรียน ซึ่งส่วนมากไปนิเทศเรื่องรอบนอก เช่นว่า ครูสอนอะไร สอนอย่างไร ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ให้มากที่สุด และเนื่องจากตนเองจบการศึกษาด้านจิตวิทยา จึงอยากให้ครูนำหลักจิตวิทยาไปใช้ให้มาก โดยเปรียบเทียบว่า ครูสอนไปหนึ่งชั่วโมงแต่ไม่ได้อะไรเลย กับสอนเพียงห้านาทีแล้วเด็กผุดความคิดขึ้นมา แล้วเด็กไปค้นคว้าด้วยตัวเองเพื่อไปต่อยอดความรู้ ซึ่งตนให้ความสำคัญกับการที่นักเรียนเรียนแล้วได้อะไรมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาและนำหลักกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5 STEPs) ของ รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์ มาปรับใช้ในโรงเรียน ซึ่งพบว่า เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การเรียนการสอนในโรงเรียน เพราะนักเรียนต้องตอบคำถาม นักเรียนต้องรู้เรื่องความสามารถด้านคำนวณ (numeral) นักเรียนต้องรู้เรื่องความสามารถด้านเหตุผล (reasoning) นักเรียนต้องนำไปสู่สังคม คือ เอาไปใช้ได้ เป็นการเรียนการสอนที่นักเรียนต้องฝึกทำด้วยตัวเอง ซึ่งได้เกาะติดการทำงานของครูทุกขั้นตอนตั้งแต่แผนการสอน โดยจะไปดูว่าครูสอนอะไร สอนอย่างไร ในแผนการสอนก็จะต้องมีแผน 5 ขั้นตอน และต้องมีครบ บันทึกหลังสอนก็ต้องมีด้วยเช่นกัน

นายประพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนมีโฟกัส คือ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด โดย อ.ยะรัง มีแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณลังกาสุกะ  การเรียนรู้จากสถานที่จริง สถานการณ์จริง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเพียงแค่รูปแบบของการไปเรียนรู้ปกติเท่านั้น ตนมองว่าประโยชน์ที่ได้รับอาจยังน้อยเกินไป ซึ่งสามารถต่อยอดไปอีกได้ จึงริเริ่มในการสร้างความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานที่ดังกล่าว เพื่อที่จะให้นักเรียนโรงเรียนบ้านระแว้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นมัคคุเทศก์น้อย ที่สามารถแนะนำนักท่องเที่ยวได้ และอาจถ่ายทำเป็น VDO ส่วนตัวของนักเรียนในการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และนำไปเผยแพร่ต่อไปได้ เช่น บนเว็บไซต์ Youtube

สำหรับความสัมพันธ์กับชุมชนและผู้ปกครองนั้น ได้มีโอกาสร่วมวงพบปะพูดคุยกับคนในชุมชนอยู่เสมอ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งจะมีการพูดคุยกันว่าต้องการอะไรแบบไหนเพื่อเติมเต็มให้กับบุตรหลาน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่จบการศึกษาออกไปแล้วจะเดินทางไปมาเลเซียกับผู้ปกครอง ต้องไปทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว จึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะให้กับนักเรียน โดยมีกิจกรรมที่จะสร้างเสริมวิชาชีพเล็กๆน้อยๆ เช่น การต่อท่อประปา ดูระบบไฟฟ้าเบื้องต้น ต้องมีทักษะอาชีพ ซึ่งสำหรับที่นี่คือการเลี้ยงไก่ และห่าน เพื่อให้มีทักษะติดตัว ถึงจะย้ายไปอยู่ที่มาเลเซียก็สามารถจะทำได้ โดยต่อไปจะพัฒนาหลักสูตรของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เกี่ยวกับการทำอาหารประเภทต้มยำ เนื่องจากต้มยำเป็นอาหารที่นิยมของชาวมาเลเซีย อีกทั้งการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ที่มีการประกอบอาชีพเน้นไปที่การทำอาหารและการแปรรูปอาหาร ซึ่งบ้านระแว้งมีลูกหยีเป็นผลผลิตสำคัญ อีกทั้งโรงเรียนก็เคยชนะการแข่งขันการแปรรูปอาหารจากลูกหยีในระดับภูมิภาค เช่น การทำเค้กลูกหยี น้ำพริกลูกหยี และอีกมากมาย ซึ่งนักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้ได้จริง และยังสามารถเป็นสินค้าส่งออกไปยังมาเลเซียได้อีกด้วย

โรงเรียนบ้านระแว้ง ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งขณะนี้กำลังร่วมกันจัดทำหลักสูตร pattani heritage และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เกี่ยวกับโครงงานฐานวิจัย ซึ่งนายประพันธ์ กล่าวว่า อยากให้มีความร่วมมือรูปแบบนี้ต่อไป เพราะทำให้ครูเปิดใจ เช่นเมื่อครั้งนำโรงเรียนเข้าสู่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สร้างความกังวลให้กับครูบ้างเล็กน้อย แต่ตนมองว่า ถ้าเราไม่เปิด ก็จะไม่ได้รับ เรายินดีที่จะร่วมมือกับใครก็ได้ที่นำมาซึ่งการพัฒนาให้เกิดแก่โรงเรียน และปัจจุบันครูเองก็เปลี่ยนความคิด เพราะรู้สึกสนุกกับงาน และตอบโจทย์ความต้องการได้

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น มีความกระตือรือร้น มีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ ตอบสนองการมีทักษะของนักเรียนในศตวรรษที่ 21  รู้จักหน้าที่ เช่น เมื่อมีแขกจากนอกโรงเรียนเข้ามา นักเรียนจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร เมื่อมีการแข่งขันกีฬาของโรงเรียนหรือการจัดการเต้นแอโรบิค นักเรียนจะมีคณะกรรมการเพื่อจัดการกันเองว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร นักเรียนมีความสุขจากการแสดงออก ซึ่งนักเรียนจะได้รับโอกาสเหมือนกันทุกคน เช่น การทำโครงงานฐานวิจัย นักเรียนจะได้พูดแสดงออกบนเวที ผู้ปกครองที่นั่งฟังก็รู้สึกดีใจ เกิดความพึงพอใจ แม้กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียนเองก็ยังรู้สึกปลาบปลื้มใจไปด้วย และโรงเรียนบ้านระแว้งมักได้รับเชิญให้เป็นโรงเรียนต้นแบบทั้งในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดอื่นๆ เช่น ยะลา นราธิวาส จึงทำให้นักเรียนเกิดความรักและภูมิใจในโรงเรียน และครูเองก็มีความสุขกับการทำงาน

   

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ โรงเรียนบ้านระแว้ง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความเอาใจใส่ต่อนักเรียน ท่ามกลางสังคมและวัฒนธรรมการย้ายถิ่นฐาน เมื่อจบการศึกษาออกไปจะต้องไม่ไปมือเปล่า แต่ต้องนำเอาทักษะทางด้านอาชีพและการใช้ชีวิตติดตัวไปด้วย ถึงจะอยู่ที่ไหน ในสังคมใด ก็สามารถดำรงชีวิตหรือสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวได้ และการที่โรงเรียนใช้หลักการยืนหยัดด้วยตนเองเป็นตัวตั้ง จากคำกล่าวของนายประพันธ์ เจ๊ะอูมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านระแว้ง ที่ว่า

“โรงเรียนต้องยืนด้วยตัวเองให้จงได้ เราเป็นครู วิธีการสอนไม่ควรไปลอกหรือตามคนอื่น ทำไมเราไม่ทำขึ้นมาเอง แล้วหากเราเกิดติดขัดเมื่อไหร่จึงค่อยถาม แต่เราต้องศึกษาด้วยตัวเองก่อน เสร็จแล้วผลก็จะเกิดขึ้นเอง”

การดำเนินการด้วยแนวคิดนี้จึงเป็นหลักประกันของความมั่นคง เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจจากครู ผู้ปกครอง และชุมชน ถึงแม้อยู่ในพื้นที่ที่สถานศึกษามีการแข่งขันสูงก็ตาม โรงเรียนบ้านระแว้ง จึงเป็นแบบอย่างให้กับสถานศึกษาที่มีสภาพบริบทใกล้เคียงกันได้เป็นอย่างดี หรือหากมีสภาพบริบทที่แตกต่างกันก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เชื่อว่า แต่ละพื้นที่ต่างก็มีเอกลักษณ์และจุดเด่นของตนเองที่เปรียบได้กับต้นทุน เพียงแค่เราเชื่อมั่นที่จะหยิบยกออกมาแล้วจัดการวางแผนอย่างเหมาะสมดั่งการลงทุน ผู้ที่ได้รับผลกำไรมากที่สุดก็คือ นักเรียน อันเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคตข้างหน้า การลงทุนนี้จึงคุ้มค่ายิ่งนัก



ผู้เขียน:
ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
ผู้ให้สัมภาษณ์: ประพันธ์  เจ๊ะอูมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านระแว้ง
ผู้สัมภาษณ์: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านระแว้ง  จังหวัดปัตตานี

Facebook Comments
“น้ำพริกแกงสด” ของดีในชุมชนบูรณาการการเรียนรู้สู่การสร้างสมรรถนะให้แก่นักเรียน? ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ #EP.2 “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง -Inclusive Education”
บทความล่าสุด