30 ก้าว ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการมาเรียนด้วยโครงงานฐานวิจัยของโรงเรียนบ้านลาแล

23 มิถุนายน 2021

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้จะขอนำเสนอความก้าวหน้าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ทั้ง 30 แห่ง ในการนำเสนอครั้งนี้ คือ โรงเรียนบ้านลาแล ซึ่งผู้เขียนได้พูดคุยกับนางสาวศิริภา ไชยนุ้ย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลาแล เพื่อขอนำเสนอบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับโครงงานฐานวิจัยที่โรงเรียนบ้านลาแลนำมาใช้จัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา

กะเทาะเพราะพันธุ์

จากการที่ได้พูดคุยกับ ผอ.ศิริภา ไชยนุ้ย จึงทราบว่า เพิ่งได้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 และด้วยการส่งต่อความปรารถนาดีจากผู้อำนวยการโรงเรียนคนก่อน จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมรับการฝึกอบรม โครงงานฐานวิจัย จากทีมโค้ชงานพัฒนาการศึกษา ของสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สำนักฯ ตั้งอยู่ที่ ม.อ.หาดใหญ่) เปรียบเสมือนการกะเทาะเมล็ดจุดเริ่มต้นการนำโครงงานฐานวิจัยมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน

ต้นกล้าปัญญา

ความมุ่งหมายของการจัดเรียนการสอนโครงงานฐานวิจัยเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำ มีความกล้าแสดงออก มีความสุขกับการมาเรียน เติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง ซึ่ง ผอ.ศิริภา ไชยนุ้ย ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญของผู้ที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านลาแล คือ ผู้บริหาร ครู ชุมชน และหน่วยงานต้นสังกัด

ผู้บริหาร ปรับบทบาทเป็นผู้นำทางวิชาการ อีกทั้งกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ และส่งเสริม

ครู ต้องได้รับกระบวนการพัฒนา เปลี่ยนบทบาทครูเป็นโค้ช ปรับกระบวรการคิดสู่การพัฒนา

ชุมชน ชี้แจงสร้างความตะหนักรู้ถึงความสำคัญให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง สร้างพื้นที่การเรียนรู้โดยชุมชนเช่น เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย และชุมชนมีส่วนร่วมในการปรับหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทตนเอง

หน่วยงานต้นสังกัด เข้านิเทศ ติดตาม ประเมินผล ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วยกัน

ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านลาแลได้มีโอกาสนำนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัยมาใช้ในการจัดการเรียนสอน โดยชั้นอนุบาลจะเป็นการบูรณาการโครงงานบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ระดับชั้นประถมศึกษาจะเป็นการบูรณาการโครงงานฐานวิจัยซึ่งจะจัดการเรียนการสอนทุกวันศุกร์ในภาคเช้า เรียน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะแบ่งแผนการจัดการเรียนรู้ออกเป็น 15 หน่วย เรียนภาคเรียนละ 120 ชั่วโมง รวม 240 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งครูจะเป็นผู้ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดศึกษา เช่น สำรวจชุมชน เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการลงมือทำ กล้าแสดงออก มีความสุข สนุกกับการมาเรียน ตัวอย่างเช่น โครงงานไข่เค็มสมุนไพร โครงงานน้ำหวานหลากสี ฯลฯ เพื่อฝึกทักษะผู้เรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม รู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และมีเวทีให้ผู้เรียนได้นำเสนอผลความสำเร็จเพื่อสร้างความภูมิใจในและคุณค่าในตนเอง

กำจัดวัชพืช

ผอ.ศิริภา ไชยนุ้ย ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะอีกว่า จากการที่ได้เข้าร่วมโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งมีข้อดีหลายเรื่อง เช่น การปรับใช้หลักสูตร การช่วยเหลือจากภาคีเครือข่าย แต่ก็ยังมีปัญหาติดขัดในด้านความเป็นอิสระ เรื่องบุคลากรและงบประมาณ ซึ่ง พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดและให้ความเป็นอิสระไว้ซึ่งเข้าใจว่าต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน หากการมีการปรับกฎ ระเบียบ แล้วก็เหมือนเป็นการกำจัดวัชพืชที่ไม่มีประโยชน์ออกไป อีกทั้งต้องการความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาครูให้มีความพร้อมเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดการเรียนรู้และผู้เรียน เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ

ส่งท้าย

ผู้เขียน มีความเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนโครงงานฐานวิจัยของโรงเรียนบ้านลาแล ว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ดีและมีคุณภาพอันหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ รู้จักสังเกต มีเหตมุผล และจะสามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ มีความกล้าแสดงออก มีความสุขกับการมาเรียน และประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่กระนั้นก็ยังติดขัดเล็กน้อยเกี่ยวกับการให้ความอิสระตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

ในการจัดการเรียนการสอนโครงงานฐานวิจัยในปีการศึกษา 2564 จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป และจะนำเสนอบทความที่น่าสนใจของโรงเรียนนำร่องอื่น ๆ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ในหัวข้อ “30 ก้าว ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา” บทความถัดไป

 

สุมหัวคิดกับเราที่

Facebook – สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา – EduSandbox
Group Facebook – EduSandbox – พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 


 


ผู้ให้สัมภาษณ์:
ศิริภา ไชยนุ้ย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลาแล
ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์ นักวิชาการศึกษา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ศิริภา ไชยนุ้ย

Facebook Comments
พื้นที่นวัตกรรมสตูล ขับเคลื่อนด้วย Inside-out วางเป้าที่คุณภาพ3 จังหวัดนำร่อง ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด