โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย สร้างสมรรถนะนักเรียน “อ่านเก่งก่อนเปิดเทอม”

24 มีนาคม 2020

ความจำเป็นของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยในปีการศึกษา ๒๕๖๓ ต้องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งมีกิจกรรมแตกต่าง หลากหลายจากหลักสูตรเดิม นักเรียนต้องลงมือทำงาน เรียนรู้ ด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมในหน่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนั้นถ้านักเรียนมีศักยภาพไม่เพียงพอ การเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียนก็จะช้า และไม่ได้ผลเท่าที่ควร อาจมีนักเรียนบางส่วนเท่านั้นที่สามารถพัฒนาตนเองได้ ด้วยความจำเป็นตรงนี้ที่โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยต้องเตรียมนักเรียนให้มีพื้นฐานเพียงพอก่อนเปิดเทอม

ประเด็นที่ ๑ “อ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง”

การอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง เป็นความพร้อมพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้อง มี แต่ปัญหาที่พบมี ๒ ประการ ประการที่หนึ่ง นักเรียนบางคนยังอ่านไม่ออก และประการที่สอง นักเรียนที่อ่านออกบางคนยังอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่มีความมั่นใจในการอ่าน มีอาการเขินอายเมื่อให้อ่านต่อสาธารณชน

ประเด็นที่ ๒ “วิธีการช่วยให้นักเรียนอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง”

จากการศึกษาเอกสาร การสนทนากับผู้ทรงคุณวุฒิ และครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียน ทำให้ได้วิธีการที่จะพัฒนานักเรียนในระยะเวลาอันสั้น (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓) และทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย (นักเรียนทุกคน รวมทั้งเด็กพิเศษด้วย) โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยค้นหาวิธีการช่วยให้นักเรียนอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง ทั้งสิ้น ๕ วิธี ดังนี้
วิธีที่ ๑ สร้างแบบฝึกที่นักเรียนทุกคนฝึกเองได้
วิธีที่ ๒ สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองในการฝึกอ่าน
วิธีที่ ๓ ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน รายบุคคลอย่างใกล้ชิด
วิธีที่ ๔ กระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่ จากคำที่อ่านได้
วิธีที่ ๕ สร้างเวทีสาธารณะให้นักเรียน เผชิญสถานการณ์คำใหม่

ภาพที่ ๑ วิธีการช่วยให้นักเรียนอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง
ประเด็นที่ ๓ “สร้างแบบฝึกที่นักเรียนทุกคนฝึกเองได้” 

การสร้างแบบฝึกอ่านคำภาษาไทยของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย เกิดจากการวิเคราะห์สาเหตุที่นักเรียนมักอ่านและเขียนผิดบ่อย และใช้วิธีการแบบคนไทยโบราณ คือฝึกให้นักเรียนนำพยัญชนะและสระมาประสมกัน แล้วอ่านเป็นคำ โดยแบ่งการฝึกตามหมู่ของพยัญชนะ และสระที่มีความจำเพาะเจาะจง และความยากง่ายต่างกัน ยกตัวอย่าง

  • พยัญชนะแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ อักษรกลาง อักษรสูง และอักษรต่ำ
  • สระแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่
    • กลุ่มที่ ๑ กลุ่มสระที่อยู่หลัง บน และ ล่าง ของพยัญชนะ ได้แก่ อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู ออ
    • กลุ่มที่ ๒ กลุ่มสระที่อยู่หน้าพยัญชนะ ได้แก่ เอ แอ โอ ไอ ใอ
    • กลุ่มที่ ๓ กลุ่มสระประสม ได้แก่ อำ เอา อัว เอะ แอะ โอะ เออ
    • กลุ่มที่ ๔ กลุ่มสระประสม ได้แก่ เอาะ อัวะ เออะ เอียะ เอีย เอือะ เอือ

หลังจากนั้นสร้างแบบฝึกโดยคำนึงถึงโอกาสที่นักเรียนจะอ่านได้เป็นสำคัญแล้วค่อยเพิ่ม ความยากขึ้นตามลำดับ 

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยสร้างแบบฝึกเป็นเล่มและมอบให้กับนักเรียนทุกคนได้ฝึกทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งในชั่วโมงเรียนภาษาไทยและนอกเวลาเรียน เรียกได้ว่า “ฝึกจริงจัง”

ตัวอย่างแบบฝึกอ่านคำภาษาไทย

ภาพที่ ๒ ตัวอย่างแบบฝึกภาษาไทย
ประเด็นที่ ๔ “สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองในการฝึกอ่าน” 

พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการฝึกอ่านของนักเรียน ดังนั้นโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจึงจัดทำแบบฝึกสำหรับนักเรียนมอบหมายให้กับผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่ง สำหรับไว้เป็นเครื่องมือในการสอนลูกหลานให้ฝึกท่อง ฝึกอ่าน รวมทั้งได้พูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองในการที่จะใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนอยากอ่าน อยากท่อง อ่านไปพร้อมกัน

ภาพที่ ๓ นักเรียนฝึกอ่าน
ภาพที่ ๔ แบบฝึกสำหรับนักเรียนอ่านหน้าชั้น
ประเด็นที่ ๕ “ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนรายบุคคลอย่างใกล้ชิด”

จัดทำแบบบันทึกการอ่าน วัตถุประสงค์เพื่อบันทึกความก้าวหน้าของนักเรียน มีรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุลของนักเรียน โดยให้นักเรียนบันทึกผลการอ่านลงในแบบบันทึกด้วยตนเอง หรือครูเป็นผู้บันทึก

ภาพที่ ๕ แบบบันทึกการอ่านของนักเรียน
ประเด็นที่ ๖ “กระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่ จากคำที่อ่านได้”

วัตถุประสงค์หลักของวิธีนี้คือเพื่อให้นักเรียนค้นหาคำ สร้างคำใหม่ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคำที่ฝึกอ่าน นักเรียนจะใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เพียงแต่ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำในักเรียนอ่านไม่ได้ เพราะว่าไม่มีคลังคำในสมองมากพอ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจึงใช้วิธีการสร้างคำใหม่หลังนักเรียนอ่านคำในแบบฝึกเสร็จแล้ว ขณะนี้มีวิธีสร้างคำใหม่ อย่างน้อย ๓ วิธี ดังนี้
กระตุ้นส่งเสริมการสร้างคำ โดยให้ครูลองออกแบบกิจกรรมที่ให้นักเรียนสร้างคำใหม่ ก็ได้มาประมาณ ๓ วิธี

  • วิธีที่ ๑ ครูให้นักเรียนเลือกคำในแบบฝึกมาสัก ๒-๔ คำ มาสร้างเป็นคำใหม่ตามใจนักเรียน แต่ต้องเป็นคำที่นักเรียนอธิบายได้ว่าคืออะไร โดยให้เวลานักเรียนสัก ๕ หรือ ๑๐ นาที แล้วมานับจำนวนคำที่นักเรียนสร้างได้ พบว่านักเรียนสร้างคำใหม่ได้ไม่มีขีดจำกัด
  • วิธีที่ ๒ ครูกำหนดคำจากแบบฝึกที่นักเรียนอ่านขึ้นมาคำหนึ่ง หลังจากนั้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่ร่วมกัน โดยผลัดกันบอก ใครคิดคำอะไรได้ก็บอก วิธีการนี้ก็สนุก และได้คำใหม่หลายคำ เมื่อนักเรียนบอกคำไหน ครูก็ช่วยกันเขียน หรือ ให้นักเรียนเขียนลงในสมุด แบบนี้ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดีมาก
ภาพที่ ๖ นักเรียนสร้างคำใหม่
  • วิธีที่ ๓ ครูให้เวลานักเรียนประมาณ ๕-๑๐ นาที แล้วให้นักเรียนเขียนลงในกระดาษหรือสมุดของตนเอง ได้คนละกี่คำก็ได้ ไม่ใช่เป็นการแข่งขัน หลังจากนั้นเมื่อหมดเวลา ครูให้นักเรียนล้อมเป็นวงกลมแล้วผลัดกันบอกคำของตนเอง ถ้าคำใดมีเพื่อนบอกแล้ว เมื่อถึงคราวของตนเอง ก็ไม่ต้องคำซ้ำนั้น แบบนี้นักเรียนใจจดจ่อว่าเพื่อนคิดคำเหมือนตนหรือไม่
ภาพที่ ๗ การสนทนาเล่าเรื่องคำใหม่ของนักเรียน
ประเด็นที่ ๗ “สร้างเวทีสาธารณะให้นักเรียนเผชิญสถานการณ์คำใหม่”

จัดโชว์ยกชั้น เริ่มต้นจากที่เริ่มมองเห็นความก้าวหน้าในการอ่านของนักเรียน นักเรียนและครูผู้สอนจะร่วมกันระบุว่าจะโชว์การอ่านคำในแบบฝึกที่เท่าไร หลังจากนั้นทางโรงเรียนจึงเชิญผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานต้นสังกัด และบุคคลภายนอก มาร่วมทดสอบการอ่านยกชั้นของนักเรียน ในการอ่านจะใช้แบบทดสอบที่ผู้ทรงคุณวุฒิสร้างขึ้น จำนวน ๒๐ คำ โดยมีผู้ปกครองร่วมกิจกรรมทดสอบด้วย

ภาพที่ ๘ ภาพบัตรเชิญโชว์ยกชั้น
ภาพที่ ๙ ภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ภาพที่ ๑๐ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมสอบอ่านคำภาษาไทย ของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย

มุมมองผู้ที่เกี่ยวข้อง

ครูวีระ คำแหง (ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย)

ครั้งแรกที่ให้นักเรียนฝึกอ่านคำในแบบฝึก ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะว่าเป็นแค่การฝึกออกเสียงคำ จากหน้าไปหลังซ้ำๆ กัน อยู่อย่างนั้น แต่เมื่อผ่านไป ๑ สัปดาห์ สังเกตว่านักเรียนอ่านคล่องมาก แม้จะเป็นคำที่ประสมด้วยสระยากๆ ก็ตาม
สุดท้ายที่ผมเห็นประจักษ์ตา คือ เมื่อให้นักเรียนสร้างคำใหม่ นักเรียนสามารถสร้างคำได้ทุกคน แม้นักเรียนที่อ่านไม่คล่องก็สามารถสร้างคำใหม่ได้โดยอาศัยดูคำที่อยู่ในแบบฝึกเป็นฐาน นั่นแสดงว่านักเรียนเขานำสิ่งที่พบเห็นมาเขียนเป็นคำได้ 
ตรงส่วนนี้ที่ทำให้มั่นใจว่าในปีการศึกษาหน้า นักเรียนทุกคนจะมีสมรรถนะการอ่านเพียงพอกับการใช้หลักสูตรใหม่แน่นอน

ภาพที่ ๑๑ ครูวีระและกิจกรรมการอ่าน

ครูชลิตา แก้วตุ้ย (ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย) 

นักเรียนห้องนี้มีทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่เรียนรู้ช้า ครั้งแรกนักเรียนที่เรียนรู้ช้าก็อ่านไม่คล่อง แต่นักเรียนที่อ่านเก่งกว่าก็จะมาช่วยกันสอน จึงทำให้อ่านคล่องขึ้น มาถึงขณะนี้นักเรียนจำได้ว่าแบบฝึกที่ ๑ มีพยัญชนะและสระอะไรบ้าง เรียกว่าจำขึ้นใจเลย ส่วนกิจกรรมสร้างคำใหม่เป็นกิจกรรมที่้สนุก นักเรียนชอบ เขาจะนั่งล้อมวงกัน แล้วผลัดกันตรวจสอบคำที่เขียนว่ามีคำอะไรบ้าง ซ้ำกันหรือไม่ มีความหมายว่าอย่างไร ตรงส่วนนี้เป็นเรื่องของนักเรียนที่เขาจะเรียนรู้ร่วมกัน
นักเรียนบางคนในห้องนี้เคยเป็นนักเรียนที่เรียนรู้ช้า แต่จากกิจกรรมการสร้างคำ ทำให้ครูรู้ว่านักเรียนคนนี้มีคลังคำในสมองเยอะมาก เขาจะบอกความหมายของคำได้หลายความหมายอย่างรวดเร็ว เช่น คำว่า “กา” เขาบอกได้ว่าเป็นสัตว์ หรือ ภาชนะ ส่วนนักเรียนบางคนสามารถอธิบายความหมายของคำได้ละเอียด เช่น งูกะปะ เป็นงูที่มีพิษร้าย กัดแล้วตาย
ในมุมมองส่วนตัว ชอบวิธีนี้ เพราะว่าครูไม่จบเอกภาษาไทย ยังไม่มีวิธีสอนภาษาไทยที่ดี ถ้าจะให้แก้ปัญหานี้คงต้องเหนื่อยมาก แต่ตอนนี้ครูเหนื่อยน้อยลง นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และเก่งมากขึ้นทุกวัน

ภาพที่ ๑๒ ครูชลิตา แก้วตุ้ย และการอ่าน

บทสรุปจากผู้อำนวยการโรงเรียน

กิจกรรมนี้ช่วยนักเรียน ช่วยครู ช่วยผู้ปกครอง ได้มาก เพราะว่าเห็นผลชัดเจน เด็กที่อ่านไม่ได้ ก็อ่านได้ เด็กที่ไม่อยากอ่านหนังสือให้ใครฟัง ก็อยากอ่าน มีเด็กดักรอ ผอ. เพื่อจะมาอ่านหนังสือให้ฟังทุกครั้งที่พบกัน เห็นแล้วรู้สึกถึงความภาคภูมิใจ รู้สึกถึงความโล่งใจของผู้ปกครองที่ลูกหลานอ่านหนังสือได้ ในวันที่โรงเรียนโชว์ยกชั้น ผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมประมาณเกือบ ๒๐ คน มาทดสอบการอ่านด้วยตนเอง เห็นรอยยิ้ม แววตา ของทั้งผู้ปกครองและเด็กแล้วหายเหนื่อย ผู้ปกครองหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ชอบและขอบคุณโรงเรียนที่ทำให้ลูกหลานอ่านออก ส่วนของพฤติกรรมเด็กเมื่อกลับถึงบ้านก็เปลี่ยนไป อยากจะอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟัง ชวนกันอ่านหนังสือระหว่างพี่น้อง บางครอบครัวพี่อ่านไม่ได้ แต่น้องอ่านได้ น้องก็จะสอนพี่

ภาพที่ ๑๓ นักเรียนอ่านคำอย่างตั้งใจ

หลายท่านอาจไม่เชื่อ คิดว่าโรงเรียนสร้างภาพ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ที่นักเรียน ถ้าสนิทสนมกันแล้ว นักเรียนที่ขี้อายก็อ่านหนังสือให้ฟังได้แล้ว ต้องบอกว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาก่อนเปิดเทอม เป็นบันไดขั้นแรกของเรา เราทุกคนในโรงเรียน และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน หวังว่าในปีการศึกษาใหม่ นักเรียนของเราจะอ่านเก่งขึ้น จะใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ได้มากขึ้น

ดาวน์โหลดไฟล์แบบฝึกได้ที่นี่ >>>> คลิก <<<<


ผู้เขียน: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย โทร.๐๙๗-๙๖๒๘๒๓๙
ผู้ให้สัมภาษณ์: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย โทร.๐๙๗-๙๖๒๘๒๓๙
ผู้สัมภาษณ์: อาภาภรณ์ ชื่นมณี ศึกษานิเทศก์ สพป.ระยอง เขต ๒
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โชติกา สมหมาย

Facebook Comments
สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ นำเสนอ Research Proposal “รูปแบบการพัฒนาโค้ชและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ช ในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ” ต่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติทุนวิจัย บพท.จังหวัดนราธิวาส เตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เฉพาะจังหวัดนราธิวาส
บทความล่าสุด