โรงเรียนบ้านกระถุน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ กับการเปลี่ยนแปลงด้วย “โมเดลลำปลายมาศพัฒนา” ยกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพนักเรียน

30 เมษายน 2563

โรงเรียนบ้านกระถุน ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านกระถุน ตำบลตำแย อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 โดยโรงเรียนบ้านกระถุนมีข้อจำกัดของโรงเรียนคือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คุณครูไม่ครบชั้น ปัจจุบันโรงเรียนจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีบุคลากรเป็นผู้บริหาร 1 คน คุณครูประจำการ 3 คน อัตราจ้างจากการระดมทรัพยากรจ้างครู 4 คน และภารโรง 1 คน และมีนักเรียนทั้งหมด 64 คน

โรงเรียนบ้านกระถุนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยโมเดลลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้เรียนแบบจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – Based Learning) และการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional Learning Community) ดังนี้

กิจกรรมจิตศึกษา

เป็นการพัฒนาปัญญาภายในในการพัฒนาปัญญาภายในและการสร้างคุณธรรมให้กับนักเรียน คือการเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน การมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม กระบวนการจิตศึกษาเป็นกระบวนการที่ได้ผลในการสร้างวินัยเชิงบวกให้เกิดขึ้นแก่ตัวผู้เรียนที่ได้ผล เป็นแนวคิดในการพัฒนาผู้เรียนและยกระดับความเป็นครู เพื่อการเรียนรู้และความงอกงามจากด้านในหรือจากจิตใจ

ในขั้นตอนกระบวนการของจิตศึกษา จะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาทีก่อนเริ่มการจัดการเรียนการสอนในวิชาการต่าง ๆ เด็กได้จะได้พัฒนาทางด้านจิตใจ โดยพฤติกรรมของเด็กเมื่อได้เข้าสู่กระบวนการมีสภาวะจิตที่นิ่ง ก็จะรู้ตนเอง กล้าพูด กล้าเปิดใจ และมีพฤติกรรมเชิงบวกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และในขณะเดียวกันครูก็ได้ร่วมพัฒนาและขัดเกลาตัวเองไปด้วย จิตศึกษาจึงช่วยพัฒนาครูและยกระดับจิตวิญญาณของความเป็นครูขึ้นไปอีกด้วย

กิจกรรม PBL (Problem – Based Learning)

การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นจัดการเรียนรู้ที่เน้นในสิ่งที่เด็กอยากเรียนรู้ โดยสิ่งที่อยากเรียนรู้ดังกล่าวจะต้องเริ่มมาจากปัญหาที่เด็กสนใจหรือพบในชีวิตประจำวันที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทเรียน อาจเป็นปัญหาของตนเองหรือปัญหาของกลุ่ม ซึ่งครูจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็กตามความเหมาะสม เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ ทำให้เกิดความเชื่อมโยง นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สอดคล้องกับการใช้จริง และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม นักเรียนสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล ได้อย่างมีวิจารณญาณ มีทักษะการเรียนรู้รอบด้าน นักเรียนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้รวมถึงในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติงานจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้

กิจกรรม PLC (Professional Learning Community)

กิจกรรม PLC ทางโรงเรียนบ้านกระถุนใน 1 สัปดาห์จะมีการจัดกิจกรรม PLC ทั้งสิ้น 2 วัน คือวันอังคารและวันศุกร์ เป็นการร่วมมือ ร่วมใจ เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ของครู ผู้บริหารโรงเรียน และรวมถึงผู้ปกครองในการทำความเข้าใจ เปิดใจให้กับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันของคุณครูในแต่ละชั้นเรียน พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมาย อภิปราย สะท้อนผล แลกเปลี่ยนกับคุณครูท่านอื่น ๆ เพื่อกำหนดว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยพิจารณาและสะท้อนผลในแต่ละประเด็น เพื่อปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนหรืองานวิชาการของโรงเรียน

ก่อนที่โรงเรียนจะเข้าร่วมเป็น 1 ในโรงเรียนนำร่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทางผู้อำนวยการโรงเรียนได้เล็งเห็นว่า การเป็นโรงเรียนนำร่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นจะพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการศึกษาที่กำหนดไว้ และยังได้พัฒนาบุคลากรภายในโรงเรียน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และคุณลักษณะที่ดี นี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาทั้งครูและนักเรียนให้มีการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาของผู้เรียนและพื้นที่ และสร้างองค์ความรู้เพื่อการขยายผลสู่การเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนอีกด้วย

ตลอด 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองมากขึ้น นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวมมากขึ้น บุคลากรมีการจัดเตรียมการเรียนการสอน โดยจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ นักเรียนได้ลงมือทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองภายในชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม

การเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนในตลอด 1 ปีการศึกษาที่ผ่านมามีดังนี้

ด้านบุคลากร

คุณครูผู้สอนมีความสุขในการที่ได้สอนในรูปแบบของนวัตกรรม ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดใจ และได้ทำความเข้าใจและการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียน มีการเปลี่ยนบทบาทเป็นชี้แนะ ชี้นำ ในแต่ละกิจกรรมและการเรียนการสอน รวมถึงคุณครูเองก็การพัฒนาตนเองผ่านการวางแผน การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน การทำงานร่วมกันภายในโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกด้วย

ทางด้านผู้อำนวยการรัตน์ฐาภัทร ดีพร้อมคุณาสินนั้นก็มีบทบาทหน้าที่ที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของคุณครูในทุกเรื่อง ให้ความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และสร้างการแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกัน รวมถึงได้เข้าไปสัมผัสในการจัดเรียนการสอนร่วมกันระหว่างผู้บริหารและครูผู้สอนอีกด้วย

ด้านนักเรียน

นักเรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้ยิ่งขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก มีสมาธิในการเรียน นักเรียนมีความสุข มีความสนุกสนานในการเรียนรู้ มีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น นักเรียนมีความกล้าแสดงออกในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่คิดต่อครูผู้สอนมากขึ้น กล้าที่จะตั้งคำถามกับครูผู้สอนหรือกับผู้อำนวยการโรงเรียนเอง ซึ่งนักเรียนก็สามารถทำได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านชุมชน

ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง โดยโรงเรียนได้ดำเนินการสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้กับผู้ปกครองและชุมชนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน และนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข 

โรงเรียนบ้านกระถุนได้กำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่จะถึงโดยมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียน ซึ่งคุณครูจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ได้รับการอบรม เพื่อพัฒนาการสร้างฐานสมรรถนะการเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะของนักเรียนในทุก ๆ ด้านที่นักเรียนจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ถ่ายทอดการเรียนรู้ ทักษะ ทัศนคติ ให้แก่นักเรียน โดยเน้นการสร้างให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ การมีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็น และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสม พัฒนาครูให้มีทักษะและความชำนาญในการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่จะนำนักเรียนให้ถึงเป้าหมาย เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้มากที่สุด


ผู้เขียน: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, รัตน์ฐาภัทร ดีพร้อมคุณาสิน
ผู้ให้สัมภาษณ์: รัตน์ฐาภัทร ดีพร้อมคุณาสิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกระถุน จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านกระถุน

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา พื้นที่นวัตกรรมระยอง การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นพัฒนารอบด้าน สานต่อ School Concept “Innovation For Life”โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) พื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ เน้นสร้างความรู้คู่ทักษะด้วย Brain – based Learning
บทความล่าสุด