ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2563

31 สิงหาคม 2563

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการประกอบด้วย นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล  ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง, นางคะนึงนิจ คชศิลา ผู้แทนปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย, นางอรสา ภาววิมล ผู้แทนปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายพยุงศักดิ์ ครเจริญ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา, นางประอรรัตน์ กาญจน์ธนภัทร ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศึกษาธิการจังหวัด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ และบุคลากรจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เข้าร่วมการประชุมและรายงานการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 

นายวิษณุ เครืองาม ประธานในการประชุมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย 1) กรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายประธานการประชุมในวันนี้เป็นประธานกรรมการ 2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานกรรมการ 3) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนเจ็ดคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย  และ 4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

จากนั้นฝ่ายเลขาฯ ได้รายงานการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือ เงินอุดหนุนรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมาจากการจัดสรรเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถานศึกษานำร่อง 226 โรงเรียนได้รับเงินงบประมาณทั้งสิ้น 725,900,106,983 บาท ส่วนที่สองคือ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้เพิ่มเติมจากโรงเรียนปกติที่ไม่ใช่โรงเรียนนำร่อง ทั้งนี้ที่ประชุมได้ขอให้คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณศึกษารายละเอียดและคำนวณงบเงินอุดหนุนทั่วไปให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเพียงพอต่อความต้องการจำเป็น ไม่เป็นภาระ ต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลัง แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง การจัดสรรงบประมาณควรดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น โดยนำงบประมาณที่ได้รับต่าง ๆ มารวบรวม แล้วคำนวณเป็นงบเงินอุดหนุนต่อหัว

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขอตั้งงบประมาณสำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งงบประมาณทั้งหมด 35 ล้านบาท ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งงบประมาณประเภทงบดำเนินงาน จำนวน 7,894,500 บาท งบเงินอุดหนุนสำหรับสถานศึกษานำร่อง จำนวน 22,600,000 บาท

จากนั้น นายอำนาจ วิชยานุวัติ กรรมการและเลขานุการ กล่าวชี้แจงประเด็นการแยกดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรายจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ประสงค์ให้จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นรายจังหวัด

ในส่วนของความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมฯ ของพื้นที่ฝ่ายเลขานุการได้นำเสนอคลิปวีดีโอรายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ศรีสะเกษ และสตูล และได้รายงานผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมทราบใน 8 ประเด็นซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความก้าวหน้าในภาพรวม ได้แก่ 1) การกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการขับเคลื่อนพื้นที่ 2) การประสานหน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชนร่วมขับเคลื่อน 3) การประสานหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยง 4) การปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เหมาะสมกับพื้นที่ 5) การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของครูและบุคลากร 6) การออกแบบ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ 7) การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และติดตาม โรงเรียนนำร่อง 8) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนงาน

ประเด็นต่อมาที่ฝ่ายเลขาฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคือ กรอบการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระเบียบ ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ภารกิจหลัก ของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ จำนวน 20 เรื่อง ซึ่งดำเนินการแล้ว 1 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 เรื่อง ส่วนอีก 16 เรื่องจะสามารถดำเนินการได้ ผ่านคณะอนุกรรมการ

สำหรับวาระเรื่องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ในครั้งนี้มี 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 2. องค์ประกอบของคณะกรรมการ จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เรื่องที่ 1 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครั้งที่ 1/2562 ซึ่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้งหมด 5 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการ ด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ด้านกฎหมาย ด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล ด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณและการมีส่วนร่วม แต่จากการวิเคราะห์โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ข้อสรุปว่า คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณและการมีส่วนร่วมมีลักษณะงานที่กว้างและมีงานที่แตกต่างกัน 2 ประการ คือ การบริหารงบประมาณและการมีส่วนร่วม จึงขอเสนอคณะอนุกรรมการทั้งหมด 6 คณะ คณะที่ 1-4 ยังคงเดิม โดยขอแยกคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณและการมีส่วนร่วม เป็นคณะที่ 5 คือ คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ และคณะที่ 6 คือ คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขว้างในประเด็นนี้และเห็นชอบตามที่เสนอ

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ชุดที่ 1 คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ทำหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับประเทศ กำกับติดตาม การประเมินผล ซึ่งจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย กลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และงานอื่นที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

ชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการบริหารและการจัดการศึกษา การขยายผล กลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และงานอื่นที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

ชุดที่ 3 คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ทำหน้าที่เสนอรูปแบบแนวทางและนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพการบริหารงานวิชาการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งเสริมให้มีการคิดค้นและพัฒนารวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล กลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และงานอื่นที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

ชุดที่ 4 คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารบุคคล ทำหน้าที่เสนอแนวทาง การบริหารงานบุคคลเรื่องการออกกฎ ก.ค.ศ. หรือเงื่อนไข วิธีการ ก่อนนำเข้าคณะกรรมการนโยบาย

ชุดที่ 5 คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ ทำหน้าที่เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบประมาณให้กับสถานศึกษานำร่อง เพื่อประสิทธิภาพและความคล่องตัว

ชุดที่ 6 คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ทำหน้าที่เผยแพร่การดำเนินงาน การขยายผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ในส่วนขององค์ประกอบของคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้นประกอบด้วย

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบาย จำนวน 1 คน เป็นประธานอนุกรรมการ
  2. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน เป็นอนุกรรมการ
  3. ผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานการศึกษา หรือสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 2 คนเป็นอนุกรรมการ
  4. ผู้แทน สพฐ./สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 2 คน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารายชื่อผู้สมควรแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 6 คณะ และที่ประชุมมีมติ เห็นชอบตามเสนอ และให้ปรับแก้ ดังนี้ ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ให้ระบุตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแทนการระบุชื่อ

เรื่องที่ 2 องค์ประกอบของคณะกรรมการ จำนวน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ในวาระนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปายและมีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขาเสนอ พร้อมให้ปรับแก้ร่างดังกล่าวในบางประเด็นให้เป็นไปตามมติที่ประชุม

ทั้งนี้ในการประชุมในคราวถัดไป นายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ รองประธานกรรมการ ได้นัดประชุมในวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563 แต่กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม และล่าสุดเนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 7 กันยายน 2563 เป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น ท่านประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงได้กำหนดวันจัดประชุมคณะกรรมการนโยบาย ครั้งที่ 2/2563 ใหม่เป็นวันที่ 21 กันยายน 2563


ผู้เขียน: ฉัตรชัย หล้ากันหา, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
เรียบเรียง: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
ผลการประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่งตั้งแล้ว!! คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรม
บทความล่าสุด