โรงเรียนบ้านหนองกก จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนสร้างสุข นักเรียนสนุกที่จะเรียนรู้ ผอ.และครูเป็นครูโค้ช ตอบโจทย์คุณภาพด้วยนวัตกรรมเชิงระบบ

3 เมษายน 2563

โรงเรียนบ้านหนองกก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 ตั้งอยู่ หมู่ 17 ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  ภารกิจหลักจัดการเรียนรู้ 2 ระดับ คือ ระดับก่อนประถมศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 – 3 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6   มีเขตพื้นที่บริการ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองกก หมู่ 6, 9 และ 17  ชุมชนพูดภาษาถิ่น คือ ภาษาลาว  นับถือศาสนาพุทธ ทิศเหนือของบ้านหนองกกติดกับแม่น้ำมูลและเขื่อนราษีไศล อาชีพหลักเกษตรกรรมทำนาทั้งนาปีและนาปรัง  อาชีพเสริมจับสัตว์น้ำและรับจ้าง หัตถกรรมแปรรูปต้นกกเป็นของใช้  นักเรียนส่วนใหญ่อยู่กับญาติเพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด ชุมชนมีความรักสามัคคีและยึดมั่นในประเพณีอันดีงาม ชุมชนให้ความร่วมมือและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับโรงเรียน

ข้อจำกัดของโรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น ชุมชนได้ระดมทรัพยากรจ้างครู 3 คน ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นอนุบาล  20 คน ชั้นประถมศึกษา 47 คน รวมทั้งสิ้น 67 คน  มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  10 คน  

ต้นปี พ.ศ. 2559  ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มารับตำแหน่ง  ได้นิเทศชั้นเรียนและศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ พบว่า โรงเรียนยังไม่ผ่านการรับรองจาก สมศ.รอบสาม ผลสัมฤทธิ์การประเมินระดับต่าง ๆ ต่ำ  จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมโรงเรียนวังไกลกังวล นักเรียนไม่ใส่ใจในการเรียนรู้ ไม่กล้าแสดงออก ไม่มีวินัย ฯลฯ  คุณครูไม่ดูแลการสอนมอบหมายให้นักเรียนดูโทรทัศน์อย่างเดียว ปลายปี 2559 ผอ. มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนบ้านปะทาย และโรงเรียนบ้านนาขนวน อ.กันทรลักษ์  พบรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดความงอกงามทั้งภายในตนเอง (ปัญญาภายใน) ผ่านกระบวนการจิตศึกษาและความรู้ (ปัญญาภายนอก) ผ่านกระบวนการ PBL ขับเคลื่อนด้วยวง PLC ของคุณครู

ต่อมาได้รับการชักชวนจากท่าน ผอ.สมศักดิ์  ประสาร โรงเรียนบ้านประทาย ให้เข้าร่วมโครงการงอกนอกกะลาจังหวัดศรีสะเกษ จึงพาคุณครูบุคลากร Open eyes & mind ไปศึกษาดูงานแบบฝังตัว 1 วันที่โรงเรียนบ้านปะทาย  กลับมาพูดคุยพร้อมกันเข้าร่วมโครงการฯ  โดยเริ่มในปีการศึกษา 2560 เปลี่ยนโครงสร้างตารางเรียน เปลี่ยนวิถีปฏิบัติ  สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ชุมชน ได้รับโอกาสในการพัฒนาครูบุคลากรฯ อย่างต่อเนื่องจากต้นแบบ (Node) โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ และโรงเรียนเครือข่ายงอกนอกกะลา ในรูปแบบการอบรม  ศึกษาดูงานแบบฝังตัว การออกเยี่ยม (Site visit) ฯลฯ

โรงเรียนบ้านหนองกกได้ใช้นวัตกรรมรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วย 3 นวัตกรรม จิตศึกษา  PBL PLC  ซึ่งได้ดำเนินการตามนวัตกรรมนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว สามารถเปลี่ยนโครงสร้างตารางเรียน มีวิถีปฏิบัติ ดังนี้

จิตศึกษา

เป็นกระบวนการที่พัฒนาผู้เรียนทำให้ผู้เรียนและครู เกิดการเรียนรู้เป็นปัญญาภายในจิตใจของตน ให้มีคุณลักษณะเป็นคนที่รู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) การมีสติอยู่เสมอการเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่างๆ เคารพในความแตกต่างของกันและกัน การมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย การมีสมาธิเพื่อกำกับให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เกื้อกูลกัน การมีจิตใหญ่ มีความรักมหาศาล เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีความหมาย และการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

จิตศึกษา เป็นการสร้างสัมพันธ์เชิงบวก คือ การที่ครูและนักเรียนมีบริบทที่เอื้อต่อกันในการเรียน รวมถึงบริบทภายในและภายนอกโรงเรียนก็ต้องมีลักษณะเป็นเชิงบวก ให้มีความปลอดภัยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของนักเรียน โดยที่บรรยากาศภายในห้องเรียนจะไม่มีการพูดคุยที่เสียงดัง ไม่มีการดุด่าว่ากล่าวของครู ซึ่งครูจะมีบทบาทของการชี้ถูกมากกว่าการชี้ผิดให้นักเรียน หมายความว่าครูจะไม่มีการจับผิดนักเรียนเป็นการเน้นให้เกิดบรรยากาศเชิงบวกมากกว่าเชิงลบให้กับนักเรียนภายในห้องเรียน โดยวิธีการทำ ซ้ำ ย้ำ ทวน คือ การพยายามให้การเกิดการทำทุกวัน

กระบวนการจิตศึกษา
1. การจัดการความเป็นชุมชนให้มีสนามพลังบวก (สภาพแวดล้อม บรรยากาศภายในและภายนอกห้องเรียน วิถีวัฒนธรรมใหม่
2. การใช้จิตวิทยาเชิงบวก การสร้างชุมชนและวิถีของชุมชน กระทำซ้ำ ๆ คงเส้นคงวา
3. กระทำผ่านกิจกรรมจิตศึกษา 3 กิจกรรม มุ่งเกิดสติ มีความชำนาญที่จะกลับมารู้ตัวเสมอ

โรงเรียนบ้านหนองกกมีการดำเนินการจิตศึกษาออกเป็น 3 ช่วง คือ เช้า : จิตศึกษา   เที่ยง : Body Scan และ บ่าย : พิธีนม ทั้ง 3 กิจกรรมนี้แตกต่างกันในช่วงเวลา ต่างกันในรูปแบบการปฏิบัติ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนสำหรับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น โดยมีการอธิบายของลักษณะกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมไว้ ดังนี้

1.1 กิจกรรมจิตศึกษา ภาคเช้า โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที เริ่มตั้งแต่ 08.30 น. – 08.50 น. กิจกรรมในช่วง 5 นาทีแรกเป็นการทักทายกัน ในช่วง 5 นาทีถัดมาเป็นการกระตุ้นสมองด้วยการ Brain Gym หรือการร้องเพลง ในช่วง 10 นาทีต่อมาเป็นกิจกรรมที่ทำผ่านกระบวนการ “ชง เชื่อม ใช้”  ซึ่งการ ชง คือ การที่ครูผู้สอนนำเสนอเรื่องราว สื่อภาพหรือเพลง เป็นการกระตุ้นสมองให้นักเรียนเกิดการอยากเรียนรู้ เกิดการตั้งคำถามขึ้น  ครูอาจจะตั้งคำถามกับนักเรียนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เกิดความรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นั้น เมื่อได้รับการตั้งคำถามนักเรียนก็จะเกิดกระบวนการตามความคิด ความรู้สึกของตน ในส่วนของการเชื่อมนั้นเป็นการเชื่อมโยงกับตัวนักเรียนเอง เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดตอบคำถามเป็นการแชร์ความคิดของตนเองเชื่อมโยงกับความคิดของเพื่อน และการใช้ คือ การนำพานักเรียนไปสู่สถานการณ์นั้นแล้วได้รับคำตอบของการตั้งคำถามจากครูแล้วก็จะมีการเชื่อมโยงไปถึงการนำไปปรับใช้กับชีวิตจริง เช่น การให้นักเรียนได้เข้าสู่สถานการณ์สึนามิ แล้วการตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาหรือการเอาตัวรอดจากสถานการณ์สึนามิ นักเรียนจะมีวิธีการอย่างไร ซึ่งนักเรียนก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดและวิธีการของตนเอง จากกิจกรรมนี้นักเรียนทุกคนจะรับรู้ความคิดเห็นและวิธีการที่แตกต่างและหลากหลายมากขึ้นจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน  ช่วง 5 นาทีสุดท้ายจะเป็นการขอบคุณสรรพสิ่ง Empower และขอบคุณซึ่งกันและกัน

1.2 กิจกรรม Body Scan โดยเริ่มดำเนินการกิจกรรมในเวลา 12.40 น. – 13.00 น. ลักษณะของกิจกรรมนี้เป็นการให้นักเรียนได้ Shut Down สมองของตนเองเพื่อที่จะรอให้เกิดการ Restart สำหรับความพร้อมในการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้นในภาคบ่าย ซึ่งมีลักษณะคล้ายการจัดเรียงข้อมูลของความรู้ที่ได้รับมาช่วงเช้าโดยที่นักเรียนจะมีการจัดเก็บภายในสมองซึ่งเป็นการพักสมองแล้วให้การ Reboot ของสมอง เพื่อต้องการให้มีพื้นที่ความจำเพิ่มขึ้น โดยที่กิจกรรมนี้มีการ Scan  ด้วยกัน 3 ท่า คือ นั่ง ยืน นอน ซึ่งครูผู้สอนจะเป็นคนที่เลือกท่าในแต่ละวัน และส่วนใหญ่ท่าที่ได้รับความนิยมใช้ คือท่านอน เพราะว่าต้องการให้นักเรียนพักผ่อน เริ่ม 5 นาทีแรกจะเป็นการเบรนยิมเพื่อให้นักเรียนกลับมารู้ตัว  ช่วงเวลา 10 นาทีถัดมา ครูผู้สอนจะมีนิทานหรือเรื่องเล่าให้ฟังเพื่อให้นักเรียนได้เกิดจินตนาการในขณะที่นักเรียนอยู่สภาวะจิตว่างเปล่า ก็จะส่งผลให้นักเรียนเกิดจินตนาการตามเรื่องราวที่ได้ฟังหรือกรณีที่นักเรียนหลับก็จะไม่มีการปลุกหรือรบกวนใดๆก็จะปล่อยให้นักเรียนได้หลับเพราะถือว่าเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งเช่นกัน จะมีการ Scan ร่างกายของตนเองตั้งแต่หัวจรดเท้าว่าเป็นอย่างไร และ 5 นาทีสุดท้ายเป็นการขอบคุณกัน รวมถึงการมีกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว เช่น การนวดตัวให้กัน การร้องเพลงที่มีจังหวะเร่งเร้า มีการขยับร่างกายตามจังหวะเพลง

1.3 กิจกรรมพิธีนม เป็นการดำเนินการในช่วงเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นกิจกรรมการรับส่งนมด้วยความนอบน้อมด้วยการไหว้ ซึ่งเป็นการให้นักเรียนได้ฝึกทบทวนตนเองในการเห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเองที่มีส่วนในการส่งผลต่อการเจริญเติบโต หลังจากการดื่มนมเรียบร้อยแล้วจะเป็น AAR (After Action Review) ทบทวนในสิ่งที่ตนทำมาตลอดทั้งวัน นักเรียนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง โดยที่นักเรียนจะเป็นผู้สมัครใจในการเล่าว่าได้เรียนรู้สิ่งใดมาให้ทุกคนฟัง  และมี BAR (Before Action Review) เล่าถึงการเตรียมตัวสำหรับการเรียนรู้ในวันถัดไปว่าต้องเตรียมการอย่างไรบ้างและสุดท้ายก็เป็นการขอบคุณกันและกัน ทั้งคุณครูและนักเรียน

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning : PBL)

การเรียนรู้บูรณาการโดยใช้สถานการณ์หรือปัญหาเป็นฐาน  เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นสำหรับอนาคต เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ คือ คำถาม กับ ปัญหา โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับนักเรียน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่นักเรียนให้ความสนใจ นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ “สอนน้อย  เรียนรู้มากขึ้น” ซึ่งโรงเรียนบ้านหนองกก ได้มีการดำเนินการเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมด คือ การเปลี่ยนแปลงตารางเรียนโดยการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ ภาคเช้าเป็นการเรียนการสอนวิชาทักษะพื้นฐาน วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ และภาคบ่ายเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้กระบวนการ PBL ซึ่งการเรียนการสอนในรูปแบบนี้ส่วนที่ 1 เป็นการดำเนินการรูปแบบการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล ในภาคเช้าใช้การเรียนการสอนแบบ PBL เรียนปนเล่น (Play-based Learning)  ส่วนที่ 2 ดำเนินการกับนักเรียนประถมศึกษาที่ 1 – 6 ในภาคบ่าย

โรงเรียนจัดแบ่งกระบวนการเรียนรู้เป็น 4 Quarter ต่อปีการศึกษา 1 Quarter มี 10 สัปดาห์  สัปดาห์ที่ 10  ของทุก Quarter มีการเปิดบ้าน สรุปองค์ความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้จะผ่านกระบวนการ ชง เชื่อม ใช้

กระบวนการขับเคลื่อน/การพัฒนาครู ( Professional Learning Community: PLC )

การร่วมมือ ร่วมใจ วางใจต่อกัน มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ของครู ผู้บริหารโรงเรียน และรวมถึงผู้ปกครองในการทำความเข้าใจ เปิดใจ ในการนำนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปที่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยกระบวนการ (1) Dialogue สุนทรียะสนทนา สนทนาเพื่อการเรียนรู้ในวิชาชีพ เรียนรู้กันและกัน (2) S&L (Share & Learn) แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ ความสำเร็จ/ล้มเหลวจากหน้างาน  (3) AAR (After  Action  Review) ร่วมอภิปรายสรุปในแต่ละแง่มุม หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม และ (4) Lesson  Study ร่วมพัฒนากิจกรรมสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มครู โรงเรียนมีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง โดยทุกพฤหัสบดีในแต่ละสัปดาห์จะมีการ PLC ของครูอย่างสม่ำเสมอ ครูจะได้กล่าวถึง วิธีการเรียนรู้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในตัวนักเรียนจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของนวัตกรรม

โรงเรียนบ้านหนองกกมีการดำเนินการในช่วงระยะเวลาแรกในการนำนวัตกรรมมาใช้เป็นการเรียนการสอนอย่างในปัจจุบันนั้นได้มีการจัดทำกระบวนทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง โดยใช้กระบวนการ PLC เช่นกัน เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการของนวัตกรรมในการเรียนรู้ และผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้เรียน

การดำเนินการนวัตกรรมของโรงเรียนบ้านหนองกก ทุก 2 เดือนหรือ 50 วัน (1 Quarter) จะมีกระบวนการ Open House หรือการปิด Quarter ที่นักเรียนและครูจะร่วมกันนำเสนอรูปแบบการเรียน ความรู้ ทักษะ ที่ได้เรียนรู้ตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเรียนเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมเรียนรู้ ทำความเข้าใจ รวมถึงได้รับฟัง รับชม ผลงานของลูกหลานตนเองที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมที่โรงเรียนได้นำมาใช้ดำเนินการและมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและการสร้างกำลังใจให้แก่ทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไป

หลังจากนั้น โรงเรียนจัดให้มี  BIG PLC  โดยให้คุณครูและผู้บริหาร ได้
  1. การทบทวนหลังทำงาน/หลังปฏิบัติ/หลังกิจกรรม (After Action Review-AAR) โดยที่ระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา จากการเรียนการสอนมีส่วนใดบ้างที่ประสบความสำเร็จ นักเรียนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมใดบ้างที่มีการดำเนินการแล้วบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้หรือมีส่วนใด กิจกรรมใด เกิดปัญหาหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  2. กระบวนการวิพากษ์แผน คือ กระบวนการที่ให้ครูเสนอแผนการเรียนการสอนในระยะ 2 เดือนถัดไป โดยมีการชี้แจงเป็นรายสัปดาห์ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะดำเนินการ เช่น รูปแบบการเรียน กิจกรรมในการเรียน แผนการเรียนการสอนแบบ Active Learning และการกำหนดชิ้นงานให้นักเรียน

ผลลัพธ์จากการดำเนินการนวัตกรรมทั้ง 3 นวัตกรรมนั้น ในส่วนของนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลที่เห็นได้ชัดในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ การนักเรียนมีสภาวะจดจ่อ มีสติ ในการตั้งใจเรียนรู้มากขึ้นและการจดจ่อที่ในการที่จะทำสิ่งในสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและครูผู้สอน รวมถึงบรรยากาศในชั้นเรียนก็มีความสัมพันธ์ต่อกันในเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น

จากการดำเนินการนวัตกรรม ครูผู้สอนก็มีการเปลี่ยนแปลงที่มีผลลัพธ์เฉกเช่นเดียวกับนักเรียน คือ การที่ครูผู้สอนเปิดใจ เข้าใจ ที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆกับนักเรียน เป็นผู้รับฟังและผู้ชี้แนะมากกว่าการสอนเพียงอย่างเดียวและยังมีผลต่อการพัฒนาตนเองผ่านการวางแผน การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างครูผู้สอนท่านอื่นภายในโรงเรียนด้วย

การสร้างกำลังใจให้กับครูในการดำเนินการการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ผู้อำนวยการ รจนา ขอร่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกก กล่าวว่า การให้กำลังใจกับครูผู้สอน รวมถึงการเข้าไปสัมผัสในการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างผู้บริหารและครูผู้สอน เพื่อให้ครูได้พูดคุยในประเด็นที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงการพูดคุยในส่วนที่จะสร้างความงอกงามในตัวนักเรียนที่ครูผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ด้วยตนเอง  โดยผู้อำนวยการเองมีบทบาทหน้าที่ สนับสนุนในทุกเรื่อง ให้ความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และสร้างการแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันระหว่างครูผู้สอน 

โรงเรียนบ้านหนองกกได้มีการกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่จะถึง ด้วยการกำกับให้มีวิถีปฏิบัติที่มั่นคง พัฒนาครูให้มีความสามารถด้านการออกแบบแผนการเรียนรู้ มีทักษะและความชำนาญที่จะนำพานักเรียนให้ถึงเป้าหมาย ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ผู้บริหารและครูเป็นครูโค้ชได้ด้วยความมั่นใจ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้มากที่สุด มุ่งให้นักเรียนมีความสุข สนุกที่จะเรียนรู้  มีคุณลักษณะที่ดีและสามารถนำทักษะไปปรับใช้ให้เหมาะกับตนในการดำเนินชีวิต จากโรงเรียนสร้างสุขแห่งนี้


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, รจนา ขอร่ม
ผู้ให้สัมภาษณ์: รจนา ขอร่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกก จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: รจนา ขอร่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกก จังหวัดศรีสะเกษ

Facebook Comments
แนวทางขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม ควรเลือกทำ Big Rock เรื่องสำคัญและใหญ่ และวางภาพเป้าหมายความสำเร็จในทุกระดับโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ พื้นที่นวัตกรรมระยอง โรงเรียนพหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
บทความล่าสุด