การขับเคลื่อนงานด้วย “ใจ” ภาพสะท้อนจากการประชุมการพิจารณาแนวทางการคํานวณเงินอุดหนุน เพื่อประกอบการจัดทําหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงิน อุดหนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนนําร่องฯ สังกัด สพฐ.

6 สิงหาคม 2564

พึ่งจบลงอีกหนึ่งการประชุมการพิจารณาแนวทางการคํานวณเงินอุดหนุน เพื่อประกอบการจัดทําหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนนําร่องฯ สังกัด สพฐ. ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาและครูจากโรงเรียนนำร่อง ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ บุคลากรจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

จากการทำงานร่วมกันของคณะทำงานส่วนกลางของ สพฐ. บุคคลากรจากสํานักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและบุคลากรจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ได้ร่วมยกร่างแนวทางการคำนวณเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 28 เมื่อได้ร่างฉบับดังกล่าวแล้วทางคณะทำงานจึงเห็นควรให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมได้ร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ข้อพิจารณา ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างแนวทางการคำนวณเงินอุดหนุน ฯ ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 16.00 – 18.00 น. และตลอดระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมง บรรยากาศการพูดคุยกันเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความปรารถนาดีที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในระบบการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการปฏิบัติจริงของโรงเรียนนำร่องและผู้ดำเนินการระดับนโยบายในพื้นที่ได้ถูกสะท้อนผ่านวงการประชุมจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ TDRI ที่ถือเป็นฝ่ายเลขานุการในการจัดประชุมครั้งนี้จะได้นำทุกข้อคิดเห็น ทุกข้อเสนอแนะไปวิเคราะห์ พิจารณาปรับปรุงพัฒนาร่างแนวทางการคำนวณเงินอุดหนุน ฯ ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และเหมาะสมที่จะนำไปใช้จริง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้เขียนเห็นและอยากสะท้อนครั้งนี้หาใช่ผลลัพธ์จากการประชุม แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นนั้นคือสิ่งที่เลขาธิการ กพฐ. ดร.อัมพร พินะสา ได้กล่าวไว้ในที่การประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 17/2564 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เมื่อเช้าที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นี่เอง

“การจัดการศึกษานั้น ย่อมเกิดปัญหามีข้อติดขัดหรือเกิดอุปสรรคให้กับเราอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราในฐานะที่ต้องรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาก็ต้องทำงานเพื่อแก้ไข ป้องกัน จัดการกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น หากติดที่กฎระเบียบ ก็มาพูดคุยกันว่า กฎระเบียบ ตรงไหนที่มันจำกัดหรือเป็นอุปสรรค์ต่อการจัดการศึกษาของเรา ก็มาหาทางแก้หาทางปลดล็อกมัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ใจ คือ ต้องมีใจมาก่อน ถ้าทุกคนมีใจ ทำทุกอย่างเริ่มด้วยใจ ความมุ่งมั่น ทุ่มเทก็จะเกิดขึ้นตามมา ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ก็จะถูกทำลายไป การพัฒนาการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนก็จะสำเร็จได้ไม่ยาก”

ดร.อัมพร พินะสา
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6 ส.ค. 64

และถ้าเมื่อย้อนกลับไปดูบรรยากาศวันนี้ การทำงานของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะพบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราจะเห็นภาพการทำงานในลักษณะนี้ ถึงแม้จะมีสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) จนหลายหน่วยงานต้องหยุดชะงักในการปฏิบัติหน้าที่ หรือลดความเข้มข้นในการปฏิบัติงานลง แต่จากภาพที่เห็นสำหรับบุคคลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังทำนั้นกับตรงกันข้าม เราเห็นทุกคนตั้งใจทุ่มเท มุ่งมั่น อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ประชุมล่วงเวลา ทำงานไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เราเห็นครูในพื้นที่ต้องทำงานหนักเพื่อจัดเตรียมการเรียนการสอน และยังต้องแบ่งเวลาเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาให้ข้อมูลในเชิงนโยบาย เราเห็นศึกษานิเทศก์ต้องลงพื้นติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ไม่สามารถลงพื้นที่ติดตามในโรงเรียนได้ แต่เราก็เห็นภาพความพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนิเทศและติดตามมาใช้รูปแบบออนไลน์ เราเห็นผู้บริหารสถานศึกษานำทัพระดับโรงเรียนเดินหน้าเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงหลักสูตรสถานศึกษา ลงลึกในรายละเอียดสู่การสร้างสรรถนะให้กับนักเรียน ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดของระบบการศึกษา คือ ห้องเรียน เราเห็นศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่ต้องทำงานกันอย่างหนักบางจังหวัดมีผู้รับผิดชอบงานระดับจังหวัดเพียงไม่กี่คน ทำงานกันอย่างทุ่มเท ทั้งเวลา แรงกายและแรงใจเพื่อประสานงานหน่วยงานเอกชน ภาคีเครือข่าย หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ให้คอยสนับสนุนทางเทคนิค ให้ความรู้ในการจัดการเรียนรูปแบบใหม่  ตลอดจนความพยายามที่จะพัฒนาครูและบุคลากร เพื่อรองรับกับหลายสิ่งอย่างที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสำหรับการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่

และนี่คือความรู้สึกของผู้เขียน ที่คิดว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือภาพสะท้อนสิ่งที่ เลขาธิการ กพฐ. อยากจะเห็นและได้กล่าวถึงในการประชุมตอนเช้าที่ชัดเจนมาก

สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ใจ คือ ต้องมีใจมาก่อน ถ้าทุกคนมีใจ ทำทุกอย่างเริ่มด้วยใจ ความมุ่งมั่น ทุ่มเทก็จะเกิดขึ้นตามมา ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ก็จะถูกทำลายไป การพัฒนาการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนก็จะสำเร็จได้ไม่ยาก”

ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนอยากจะกล่าวคำว่า “ขอบคุณทุกท่านและเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ”

 



ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ

Facebook Comments
“นวัตกรเชิงชีววิถี การเรียนรู้สู่วิถีพอเพียง” หลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนวัดตาขัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง“เดคูพาจงานหัตถศิลป์ เรียนรู้จากการลงมือทำ” 30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา
บทความล่าสุด