มช. ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเข้าร่วมการทำงาน เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนการบริหารจัดการการจัดการศึกษาทั้งระบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้เกิดการปฏิรูปด้านการศึกษาที่สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงในจังหวัดเชียงใหม่

8 ตุลาคม 2563

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะศึกษาศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ทุกภาคส่วนกว่า 9 หน่วยงาน ในการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดความองค์ความรู้ที่ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุม 40 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มช. ได้จัดประชุมภาคีเครือข่ายการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดี มช. ดร.อมรวิทย์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยบริการและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ รวมทั้งภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 9 หน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะต่าง ๆ ในสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันผลิตและพัฒนาครูในจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัด ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดี มช. กล่าวว่า โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่คณะศึกษาศาสตร์ได้ดำเนินการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มุ่งพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้การขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาคนเชียงใหม่อย่างยั่งยืนในที่สุด

การปฏิรูปการศึกษา มีสิ่งสำคัญของการบรรลุความสำเร็จ 4 ปัจจัย 1) การผลิตครูให้ได้สมรรถนะตามความต้องการของพื้นที่ 2) มีหลักสูตรที่ต้องสอดคล้องกับพื้นที่ 3) ความพร้อมของครอบครัวในการสนับสนุนการศึกษาของเด็ก และ 4) ระบบบริหารจัดการ ซึ่งระบบบริหารจัดการนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งประเทศ ให้ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม ความพร้อมของท้องถิ่น และระบบการบริหารจัดการนั้นต้องอาศัยการร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ กล่าวอีกว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้รองรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนและเหมาะสม รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.บ.การจัดการศึกษาพื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562 ขึ้น เพื่อหวังตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นความโชคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการนี้

“ มช. มีความยินดีที่จะให้คณาจารย์ในคณะต่าง ๆ นำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าร่วมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนและชุมชนที่ต้องใช้การศึกษาขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวมในชุมชน โดยเราหวังว่าการนำร่องนี้จะทำให้การจัดการศึกษาเกิดความยั่งยืน และเป็นไปตามเป้าหมายของสหประชาชาติในเรื่องของการจัดการศึกษาต่อไป ”

คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการ “กลไกขับเคลื่อนการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” คือ พัฒนาเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาให้จัดการเรียนขั้นพื้นฐานได้อย่างอิสระเพื่อให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียนมีสมรรถนะตามที่ชุมชน ผู้ปกครอง และโรงเรียนต้องการ

โดยคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมกการศึกษาระดับชาติ ต้องการให้การทำงานของคณะศึกษาศาสตร์ในครั้งนี้ ได้กลไกบางประการในการนำเสนอปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหารการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา “การทำงานครั้งนี้นับได้ว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และจะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา กล่าวเสริม

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแบ่งกลุ่มเพื่อสนทนา ในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) สมรรถนะผู้บริหารในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สู่เป้าหมายตามพ.ร.บ. 2) การปลดล๊อคในเรื่องต่าง ๆ 3) ฐานข้อมูลสำคัญเชิงระบบในการบริหารจัดการ 4) สมรรถนะที่สำคัญของครูในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมทั้งการออกแบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับหลักสูตร และนวัตกรรมการเรียนรู้ และ 6) สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจะนำมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ไข และพัฒนาในขั้นต่อไป


ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, ปนัดดา ไชยศักดิ์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปนัดดา ไชยศักดิ์

Facebook Comments
“ใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ…ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” แนวทางการทำงานของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.เล่าเรื่อง e-portfolio ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย จ.ระยอง
บทความล่าสุด