ติดตามโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาขนาดเล็กที่ไม่มีผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้วยวิธีการจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกโดยวิธีการมีส่วนร่วมของชุมชนของโรงเรียนบ้านน้ำเที่ยง สังกัด สพป.อุบลราชธานี เขต 4
วันที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 8.30 น. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุมติดตามโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาขนาดเล็กที่ไม่มีผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้วยวิธีการจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกโดยวิธีการมีส่วนร่วนร่วมของชุมชนของโรงเรียนบ้านน้ำเที่ยง สังกัด สพป.อุบลราชธานี เขต 4 ผ่าน ZOOM โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รศ.ดร.สิริพันธ์ สุวรรณมาคา ผู้ทรงคุณวุฒิ นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) นางสาวปุณยนุช ดวงศรี ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 4 ศึกษานิเทศก์ กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา
นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวในที่ประชุมว่าทุกท่านมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ฝากครูรับฟังความเห็นของนักเรียน ชุมชน และท้ายที่สุดผู้บริหารที่จะมาบริหารจัดการ
การรับฟังทุกภาคส่วน ช่วยให้ได้ประสิทธิภาพอย่างดียิ่ง ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนช่วยในการผลักดัน
ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ และขอให้เป็นโมเดลที่ขับเคลื่อนได้ทั่วประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการศึกษาในอนาคต
นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผอ.สบน. ได้กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการประชุมวันนี้ รวมไปถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการโครงการวิจัยดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด เกิดประโยชน์เป็นอย่างไร ข้อค้นพบจากการดำเนินการ สพฐ. จะร่วมวิเคราะห์ เรียบเรียง
เพื่อเผยแพร่ไปยังสถานศึกษาอื่น เพื่อถอดบทเรียนเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อไป
ในการประชุมติดตามคราวนี้ ได้แบ่งเวทีเสวนาออกเป็น 3 เวที ดังนี้
- เวทีเสวนา วงที่ 1 ผู้ปฏิบัติการ: ครูผู้สอน ผู้แทนนักเรียน ที่ปรึกษาสถานศึกษา และผู้รับผิดชอบโครงการ
- เวทีเสวนา วงที่ 2 ชุมชนผู้หนุนนำ: กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคีเครือข่ายและผู้ที่เกี่ยวข้อง
- เวทีเสวนา วงที่ 3 ทีมคล้องใจ: สพท. และ สบน.
ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนจากการดำเนินการโครงการวิจัยดังกล่าวในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ร่วมกันสรุปบทเรียน ได้ว่า
- จำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โรงเรียนในสังกัดมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาในด้านคุณภาพการเรียนการสอน และการสร้างความเชื่อมั่นในชุมชนคุณภาพของผู้เรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะทักษะการอ่านออกเขียนได้ มีพัฒนาการด้านวิชาการที่ต่อเนื่อง - นักเรียนมีบทบาทเป็นผู้นำ
นักเรียนที่ทำหน้าที่ในสภานักเรียนมีความกล้าแสดงออก มีทักษะในการเป็นผู้นำ สามารถช่วยเหลือครูและนักเรียนรุ่นน้องในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ครูมีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นในการพัฒนา
ครูมีการปรับปรุงกระบวนการสอน มาตรงเวลา ให้ความใส่ใจนักเรียนมากขึ้น และมีความสุขในการทำงาน - การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย
ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับความเชื่อมั่นจากชุมชนในระดับสูง - โรงเรียนมีความก้าวหน้าในการพัฒนาในเชิงองค์รวม
โรงเรียนในสังกัดมีพัฒนาการด้านการบริหารจัดการและคุณภาพการเรียนการสอนในระดับที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีโรงเรียนมากถึง 80% ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม
ผู้เขียน&กราฟิกดีไซน์เนอร์: นางสาวยลดา คำโสภา