คณะอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภา หนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นคานงัดของการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

15 พฤศจิกายน 2562

เมื่อวาน (วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562) นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์/ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) และนายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สบน. ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ณ ห้องประชุม  2101 อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา (ดูรายละเอียดที่นี่) มีนางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุม มีท่านที่ปรึกษาและอนุกรรมการที่เข้าร่วมประชุม อาทิ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พลเอก ประสาท สุขเกษตร นายสวัสดิ์ ภู่ทอง นางกัลยา คุรุจิตโกศล นายศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ นางสุนี จึงวิโรจน์ นายชาญชัย มาณจักร นายจิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นางสาวณัฐิกา นิตยาพร นายสายสิทธิ์ เจตสิกทัต นางสาวทิฆัมพร แรงเขตรการ

ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ แนวคิดและแนวทางที่มีประโยชน์และคุณค่าต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ของกระทรวงศึกษาธิการ อย่างมาก อาทิ

            – เน้นว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็น National Action Research ไม่ใช่ “การทดลอง”  แต่เป็นเช่น “การวิจัยปฏิบัติการ” ที่ให้กรอบวิธีการ แล้วพื้นที่เลือกสรรสิ่งที่ใช้ได้ผลมาดำเนินการ
            – เน้นการจัดการเชิงพื้นที่ ปรับกลไกการขับเคลื่อน ศึกษาผลทั้งระบบนิเวศของการจัดการศึกษา ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น
            – เน้นการจัดการเชิงระบบและกระบวนการ ประเด็นสำคัญของการบริหารจัดการ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. มีทั้งในมาตราที่เกี่ยวข้องในเชิงระบบ (มาตรา 5 มาตรา 40 และมาตรา 42) และมาตราที่เกี่ยวข้องในเชิงกระบวนการ (มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 25 มาตรา 36 และมาตรา 37)
            – ความมุ่งหวังของคณะอนุกรรมการจะผลักดันให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นกลไก หรือเป็น “คานงัด” ของการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่จะเร่งดำเนินการให้เห็นผล และขยายผลในวงกว้าง
            – เน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนา นอกจากจะเป็นเรื่องของความชัดเจนของนโยบายและมาตรการจูงใจสถานศึกษานำร่องแล้ว สิ่งสำคัญคือ ครู และโค้ชของครู โดยเฉพาะโค้ชของครู จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีเพียงพอในระบบการขับเคลื่อนของพื้นที่
            – มุ่งเน้นการปฏิรูป “กระบวนการเรียนรู้” สู่การพัฒนาสมรรถนะ/ศักยภาพผู้เรียนรอบด้านและพหุปัญญา เพื่อพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ตอบโจทย์ชุมชนและประเทศ

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by เจตจำนง สาดประดับ
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.กาญจนบุรี นำเสนอนวัตกรรมการศึกษา ต่อ รมว.ศธ. เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของจังหวัดรวมหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
บทความล่าสุด