โรงเรียนวัดตาขัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เน้น Learning Outcome ให้เด็กเรียนรู้วิธีเรียน เปลี่ยนแปลงทั้งระบบด้วย 7 CHANGES

11 เมษายน 2563

เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย ที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งแทบไม่มีรางวัลจากการส่งเด็กไปประกวดแข่งขันใด ๆ แม้มีการส่งเด็กไปประกวดบ้างและถึงแม้โรงเรียนจะมีศักยภาพฝึกฝนเด็กได้ แต่ในปีที่ผ่านมา กลับปรากฏว่ามีหน่วยงานการศึกษามาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนแห่งนี้หลายคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารการศึกษาแห่งหนึ่งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำบุคลากรและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดมาศึกษาดูงานเพื่อค้นหา how to และ Benchmark ด้วยตนเองและโรงเรียนที่กำลังจะนำทุกท่านไปรู้จักนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ใช้รางวัลหรือความดีความชอบเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติงาน แต่กลับส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนทุกคนอย่างมีคุณภาพ ให้เต็มที่ เต็มเวลา เพื่อเด็ก….โรงเรียนแห่งนี้ คือ โรงเรียนวัดตาขัน โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

โรงเรียนวัดตาขัน โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง อยู่ในพื้นที่การเกษตร ท่ามกลางความหลากหลายทางชีวภาพ อยู่ใกล้แม่น้ำ ใกล้วัด และอยู่ใกล้ตัวเมือง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 204 คน ข้าราชการครู 10 คน และครูอัตราจ้าง 3 คน มีนายวิชัย จันทร์ส่อง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จัดการเรียนการสอนภายใต้  School Concept ของโรงเรียน TK Bio-Culture & Innovation school (โรงเรียนนวัตกรเชิงชีววิถี) เป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 Smart kids สู่การเป็น Smart people ผ่านการเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สอดคล้องกับภูมิสังคม วัฒนธรรมและสร้างพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง อยู่ในแวดวงการศึกษาไทยมากว่า 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่เป็นครูผู้สอนจนมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน ถือเป็นประสบการณ์ที่ยาวนานมากพอในการมองเห็นพัฒนาการรวมทั้งปัญหาด้านการศึกษาไทย ผ่านการสะท้อนมุมมองซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังเช่น คุณภาพแรงงานหรือบัณฑิตที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับการบ่มเพาะจากสถาบันการศึกษาเป็นสำคัญ หรือ แม้กระทั่งปัญหาด้านการศึกษาได้รับการกล่าวถึงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับต่าง ๆ มากมาย แต่ส่วนใหญ่ผู้คนเหล่านี้กลับให้ความสำคัญน้อยต่อการมุ่งแก้ปัญหาเหล่านั้น จึงเกิดประโยคขึ้นในใจของ ผอ.วิชัย จันทร์ส่องว่า คนส่วนใหญ่พูดถึงแต่ปัญหา แต่น้อยคนมากที่จะบอกว่า แล้วจะแก้ยังไง ประโยคนี้เอง ที่นำไปสู่การนำพาโรงเรียนวัดตาขัน เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อต้องการทดลองทำ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาไทย 

ผอ.วิชัย  จันทร์ส่อง ได้เท้าความว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นแนวคิดของการปฏิรูปการศึกษาในเชิงพื้นที่ ที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการหาวิธีการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ต่อมามีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นหลักประกันการทดลองการปฏิรูปการจัดการศึกษา ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ได้มองเห็นเป็นโอกาส เป็นช่องทางที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา จึงไม่ลังเลใจที่จะนำโรงเรียนภายใต้การบริหารของตนเองเข้าสู่การเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กว่า 1 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนวัดตาขันได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สรุปได้ดังนี้

1. พัฒนานวัตกรรม ยกระดับผลสัมฤทธิ์เด็ก ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ความสุขของเด็กในการมาโรงเรียน (A S K) หลังจากได้รับการปลดล็อกกฎระเบียบบางส่วน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อม กันทั้งระบบ (4.0 Whole school transform) เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด พร้อมสำหรับการเพาะพันธุ์แห่งปัญญาของเด็ก ๆ ทุกคน ให้งอกงามตามธรรมชาติ ด้วยการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน

2. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ซึ่งมีศักยภาพสูง มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมาก กำลังสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แม้ที่ผ่านมาจะมีส่วนร่วมอยู่บ้าง แต่ยังไม่เต็มรูปแบบหรือไม่มีรูปแบบกระบวนการความร่วมมือที่ชัดเจน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองจึงอยู่ระหว่างเสนอแนวคิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมทำ Action Plan และกำลังจะนำเสนอกลไกความร่วมมือด้วยโครงการ 1 school 2 partners ต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน หมายความว่า 1 โรงเรียนในพื้นที่ควรมี 2 partners เป็นอย่างน้อย partners ดังกล่าว เช่น เอกชน ท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม เมื่อทำได้สำเร็จ จะทำให้เด็กทุกคนในพื้นที่มีโอกาสได้เรียนและมีโอกาสได้ใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียมกัน

3. พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามบริบทความต้องการของพื้นที่ โดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก แต่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการนำหลักสูตรมาใช้ในภาคปฏิบัติการ หันกลับมามองเรื่องจริง ชีวิตจริงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเป็นสำคัญ เพิ่มมุมมองหรือสายตาในการมองให้เห็นสมรรถนะของนักเรียนมากขึ้น ออกแบบการเรียนรู้ให้ครอบคลุมฐานสมอง  ฐานกายและฐานจิตใจ ให้เกิดความสมดุลกัน

จากการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ผ่านมากว่า 1 ปี มีกรณีที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อยสำหรับโรงเรียนวัดตาขัน คือ โรงเรียนแทบจะไม่มีรางวัลใด ๆ จากหน่วยงานต้นสังกัด จากการส่งเด็กไปประกวดแข่งขันต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มีการวัดผลระดับต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยสูงจนโดดเด่น แต่ในรอบปีที่ผ่านมา กลับปรากฏว่ามีโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนวัดตาขัน จำนวนกว่า 10 คณะ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารและคณะครูจากสถานศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นด้านการบริหารและการจัดการศึกษาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่ยิ่งทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีความน่าค้นหามากยิ่งขึ้น จนอาจเป็นแรงจูงใจสำคัญให้หน่วยงานการศึกษามาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนวัดตาขัน ความน่าสนใจดังกล่าว สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. การบริหารจัดการ

            1.1 ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง คำนึงถึงเด็กและครูเป็นสำคัญก่อนตนเอง ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการคว้ารางวัลหรือความดีความชอบสำหรับตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ใช้รางวัลเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติงาน แต่กลับส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนอย่างมีความสุข เน้นคุณภาพให้เต็มที่ เต็มเวลา สำหรับเด็กทุกคน
            1.2 ครูทุกคนจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบเลื่อนเงินเดือนตามปกติ และหากมีคุณสมบัติที่จะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ครูทุกคนสามารถนำสิ่งที่ครูทำอยู่ในปัจจุบัน คือ ภาระหน้าที่หลักในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ใช้ห้องเรียนและนักเรียนเป็นฐาน นำมาเสนอขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้

2. การให้ความสำคัญกับ Learning Outcome ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน

            2.1 โรงเรียนวัดตาขัน ได้นำผลการทดสอบ O-NET NT และ RT ที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น วิเคราะห์ว่า ระดับคะแนนที่ได้เกิดจากสาเหตุใดบ้าง วิเคราะห์ไปถึง input และ process ที่ใส่เข้าไประหว่างการจัดการเรียนการสอน จากนั้นผอ.และครูจึงช่วยกันวางแผน หาวิธีการปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
            2.2 โรงเรียนแห่งนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการส่งเด็กไปประกวดแข่งขัน แม้มีการส่งไปบ้าง ก็เพื่อต้องการให้เด็กได้รับประสบการณ์ และมิใช่โรงเรียนที่มีคะแนน O-NET สูง แต่พยายามให้เด็กมีความสุขในการเรียนให้มากที่สุด เป็น“ความสุข”จากการที่เด็กได้เรียนจากสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวันในหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดของตนเอง ถือเป็น “รางวัล” ของเด็ก
            2.3 โรงเรียนให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวให้มากที่สุด เด็กจึงไม่เครียดกับการเรียน ได้รับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ผ่านการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย วิชาที่เป็น literacy หลัก 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และหมวดวิชาบูรณาการซึ่งให้เด็กได้นำวิชา literacy 4 วิชาหลักนำมาใช้แก้ปัญหา ลงมือทำด้วยตนเอง ออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มีกระบวนการชัดเจน ส่งผลให้เมื่อเด็กเกิดปัญหาหรือความสงสัย แล้วสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อค้นหาความจริงและแก้ปัญหาได้

การเรียนภาคสนามเป็น learning how to learn หรือ เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ การเรียนรู้ภาคสนาม เช่น เด็กสนใจเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนปากน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเป็นมาน่าสนใจ อุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ เด็กจึงเริ่มตั้งปัญหาในมิติต่าง ๆ แล้วลงมือค้นหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เช่น จากหนังสือ อินเทอร์เน็ต แล้วจึงสรุปสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการค้นหาความจริงโดยการวางแผนออกภาคสนาม ตั้งแต่ เขียนโครงการ วางแผนการทำงานร่วมกัน เป็นการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม เมื่อถึงภาคสนาม เด็กจะนำความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนจากในห้องเรียนมาใช้ เช่น เมื่อเรียนวิชาภาษาไทยเพื่อให้สื่อสารเป็น เด็กก็จะใช้ความรู้ทักษะที่ได้จากการเรียนวิชาภาษาไทยไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล การใช้ทักษะด้าน ICT หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ ดังนั้น การเรียนภาคสนาม จะทำให้ทราบว่าเด็กสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนจากในห้องเรียนไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการออกภาคสนามของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 ในหน่วยบ้านค่ายน่าอยู่ ณ สถานีตำรวจภูธรบ้านค่ายและที่ว่าการอำเภอบ้านค่าย เพื่อเรียนรู้ว่าสถานที่ราชการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไร มีหน้าที่อะไร ทำไมผู้คนถึงต้องไปสถานีตำรวจหรือต้องไปที่ว่าการอำเภอ เด็ก ๆ จึงได้ใช้วิชาภาษาไทย ใช้ทักษะการสื่อสาร การตั้งคำถาม การบันทึกข้อมูล การสังเกต การใช้เครื่องมือด้าน ICT การวางแผน และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ครูก็ได้เรียนรู้การออกแบบการเรียนรู้ที่เป็น Active learning เรียนรู้ที่จะเป็นโค้ช เรียนรู้ที่จะมองหาสมรรถนะของเด็ก ๆ (การวัดและประเมินผล) เพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไปนั่นเอง

2.5 เด็กมีพื้นที่การเรียนรู้มากขึ้นจากการที่โรงเรียนสร้าง learning space ทั้งในและนอกโรงเรียน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นไปของท้องถิ่น ชุมชนให้มากขึ้น เด็กจะได้เห็นคุณค่าและความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

การบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึง Learning Outcome เป็นสำคัญ ส่งผลให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งเกิดจากปัจจัยแห่งความสำเร็จใดบ้าง และยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นผลกระทบเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนวัดตาขัน รายละเอียด ดังนี้

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและการสืบสานต่อ
  1. การพัฒนานวัตกรรมแนวใหม่ตาม School concept ที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น หรือ TK Bio-culture & Innovation school “นวัตกรเชิงชีววิถี” เป็นเป้าหมายที่กำลังออกแบบการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนเพื่อให้เป็นแม่พิมพ์ที่ดีที่สุดในการพัฒนาเด็ก ๆ ตาขัน ให้เป็น Smart kids ตอบโจทย์ชุมชน จังหวัดและประเทศชาติ รวมทั้งการเป็นพลโลกในยุคปัจจุบัน             
  2. สร้าง coding center โดยออกแบบและวางแนวคิด กระบวนการเรียนรู้ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้ชัดเจนขึ้นเป็นไปตาม School Concept ของโรงเรียน
  3. ส่งเสริมการค้นหาความชอบและความถนัดทางด้านอาชีพของเด็ก ให้เด็กมีโอกาสเลือกและสัมผัสอาชีพใหม่ ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งอาชีพภาคการเกษตร งานหัตถกรรม งานศิลปะ อุตสาหกรรม งานบริการการค้าขาย เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแต่ละอาชีพ
  4. เน้นการพึ่งพาตนเองเรื่องการลดใช้พลังงาน พลังงานโซล่าเซลล์ที่เป็นเป้าหมายของโรงเรียน จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการ และบรรจุในหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด
  5. การพัฒนาทักษะชีวิต (Life Skill) ให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจชีวิต การดำรงชีวิต การพึ่งพาตนเอง และการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ สอดคล้องในเชิงพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนวัดตาขัน อยู่ใกล้วัด มีแม่น้ำระยองสายเก่า  จึงส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการเอาตัวรอดจากภัยทางน้ำด้วย เช่น ฝึกว่ายน้ำ ฝึกพายเรือ เพิ่มเติม เป็นต้น
  6. การจัดการเรียนการสอนวิชาที่เป็น literacy 4 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จะปรับปรุงกระบวนการนำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
                ภาษาไทย นวัตกรรมที่นำมาใช้ คือ การเรียนรู้แบบ BBL
                คณิตศาสตร์ นวัตกรรมที่นำมาใช้ คือ การเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบ Open approach
                วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมที่นำมาใช้ คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Inquiry , STEAM (Science Technology Engineering Art and Mathematics Education) และ วิทยาการคำนวณ
                ภาษาอังกฤษ นวัตกรรมที่สนใจนำมาใช้ คือ EIS (English integrated study) การเรียนการ
    สอนโดยการบูรณาการใช้ภาษาอังกฤษจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใน 4 สาระวิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น

การดำเนินการดังกล่าว ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ผลการพัฒนาในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระบวนการที่ครูได้รับการอบรม พัฒนา เรียนรู้และศึกษา จนถึงการออกแบบการเรียนรู้ สื่อ การวัดและประเมินผล ว่าสามารถดำเนินการได้ในระดับใด มีตัวแปรแทรกซ้อนใดบ้าง เพื่อให้สามารถปรับปรุงการดำเนินการในปีการศึกษาใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
  1. ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง มองเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนเอง เพื่อให้สามารถส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติงานของครูให้ตรงเป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ต้องสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน ตรงกันกับครูเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามแนวทางของโรงเรียน
  2. ด้านงบประมาณ โดยปกติงบประมาณที่โรงเรียนได้รับมีความเพียงพอสำหรับจัดซื้อสิ่งจำเป็นในการบริหารและจัดการศึกษาทั่วไป หากเกิดโครงการ/กิจกรรมใหม่ในเชิงพัฒนา เช่น การสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน [โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โรงเรียนวัดตาขัน (โรงเรียนเสียดายแดด)] การสร้างห้อง coding center สำหรับการทำนวัตกรรมต่าง ๆ (TK maker) จำเป็นจะต้องมีการระดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการโรงเรียนประชารัฐด้วยการเจรจาความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าระยอง 3 บริษัทเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมต่าง ๆ เป็นต้น  
เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ
  1. โรงเรียนวัดตาขันอยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะตามกระบวนการสร้างและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และจะถอดเป็นภาคปฏิบัติการถึงวิธีการนำไปใช้ หลักสูตรมีความสมบูรณ์ประมาณ 90% ซึ่งตาม Roadmap จะทำประชาพิจารณ์ในเดือน เมษายน 2563 และนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองเพื่อขอความเห็นชอบใช้ในปีการศึกษา 2563 ในหลักสูตรนี้ต้องการให้เด็กมีสมรรถนะ ดังต่อไปนี้
    1.1 สมรรถนะหลักพื้นฐาน (Basic Core Competencies) ประกอบด้วย 4 สมรรถนะ ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและความเป็นไทย (Thai Language for Communication and Thainess), คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (Mathematics in everyday life), การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry & Scientific Mind) และ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication)
    1.2 สมรรถนะหลักทั่วไป (Generic Core Competencies) ประกอบด้วย 6 สมรรถนะ ได้แก่ ทักษะการคิดชั้นสูงและนวัตกรรม (Higher Order Thinking Skills (4R) and Innovations): 4Rs; Reasoning, Critical, Thinking, Problem solving and Creative thinking), การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (Media, Information and Digital Literacy: MIDL), ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน (Life Skills and Personal Growth), ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ (Career and learning Skills), การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีและภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) และ พลเมืองมีส่วนร่วมและสำนึกสากล (Active Citizen and Global Mindedness)
  2. การบรรจุเรื่องพลังงานลงในหลักสูตร โดยเน้น BIO Culture ความหลากหลายทางชีวภาพ
  3. การสร้างโจทย์ปัญหา/สถานการณ์/กิจกรรม ที่หลากหายสอดแทรกในรายวิชาให้เด็กเกิดความท้าทายในการแก้ปัญหา เช่น การนำนวัตกรรมมาลดใช้พลังงาน การอำนวยความสะดวก การลดภาระการทำงาน การนำเศษขยะกลับมาใช้หรือทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เป็นต้น เพื่อมุ่งฝึกเด็กในด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
ผลที่เกิดขึ้นต่อโรงเรียน บุคลากรในโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และชุมชน
  1. โรงเรียน
    โรงเรียนวัดตาขันได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้น มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัยและน่าเรียนมากยิ่งขึ้น ประเมินได้จากความไว้วางใจในการส่งนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้น และความร่วมมือจากคนในชุมชน 
  2. ครู
    2.1 ครูเห็นคุณค่าของตนเองและปรับเปลี่ยนมุมมองให้ความสำคัญต่อการออกแบบการจัดการเรียนรู้ การใช้และพัฒนาสื่อ ระบบการวัดและประเมินที่สะท้อน เจตคติ ทักษะ ความรู้ (A S K)
    2.2 ครูเห็นประโยชน์และทดลองออกแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการสอน Learning how to learn ได้มากขึ้น
  3. ผู้บริหารโรงเรียน
    ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ได้เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมคิดว่าตนเองมีความสามารถด้านการบริหารจัดการศึกษาในระดับดีอยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนมุมมอง ได้พิจารณาพบว่า ด้านการบริหารงานวิชาการยังดำเนินการได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
  4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
    มองพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นงานเชิงภารกิจมากขึ้น มีศึกษานิเทศก์เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับโรงเรียนมากขึ้น
  5. ชุมชน
    ชุมชนให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตามกำลังความสามารถที่มีอยู่ และกำลังจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาผ่านการร่วมทำ Action Plan และโครงการ 1 school 2 partners ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วในตอนต้น

โรงเรียนขนาดเล็กอย่างโรงเรียนวัดตาขัน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนกล้าเปลี่ยนแปลงความคิดตนเอง ใช้ learning outcome ของเด็กเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติงาน ครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มเวลา เน้นการพัฒนาทักษะให้กับเด็ก ให้เด็กมีความสุขกับการเรียนจากเรื่องใกล้ตัวผ่านหลักสูตรสถานศึกษาที่ปรับใช้จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้ากับบริบทพื้นที่ ตามที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นหลักประกันให้กระทำได้ ความสุขของเด็กจากการเรียน รวมทั้งการบริหารและการจัดการศึกษาภายใต้หลักสูตรนี้ จะสามารถตอบโจทย์พื้นที่จังหวัดระยองได้มากน้อยเพียงใด ระยะเวลาหลังจากพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประกาศใช้จนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 1 ปี เพียงเท่านี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้น่าติดตามการจัดการศึกษาของโรงเรียนวัดตาขันในการณ์ต่อไป


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, วิชัย จันทร์ส่อง
ผู้ให้สัมภาษณ์: วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ทัศวรรณ ชินวัลย์ ครูผู้ช่วยโรงเรียนวัดตาขัน

Facebook Comments
โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ กับกระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day” สู่การเรียนรู้แบบองค์รวม (ASK : ฐานใจ ฐานกาย ฐานสมอง อย่างสมดุล)สื่อสารด้วยข้อความเชิงบวก เสริมสร้างความสามัคคี ดึงพลังการมีส่วนร่วม: 6 เดือนของ ดร.ปิยภัทร ทองพรม กับตำแหน่ง ผอ.รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด