โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ กับกระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day” สู่การเรียนรู้แบบองค์รวม (ASK : ฐานใจ ฐานกาย ฐานสมอง อย่างสมดุล)

10 เมษายน 2563

โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 10 บ้านป่าม่วง ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ภารกิจหลักจัดการเรียนรู้ 2 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2–3 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6  มีเขตพื้นที่บริการ 8 หมู่บ้าน ชุมชนพูดภาษาถิ่น คือ ภาษาลาว และภาษาเยอ  นับถือศาสนาพุทธ นักเรียน 335 คน ครูบุคลากร 18 คน

เริ่มต้นเปลี่ยนเพราะไม่อยากให้เรียนแบบท่องจำ

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน เนื่องมาจากที่ผู้อำนวยการเสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) มองเห็นว่าการเรียนการสอนแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ในศตวรรษที่ 21 การเรียนการสอนแบบความรู้อยู่ที่ครูผู้สอน คำตอบที่ถูกต้องมีเพียงคำตอบเดียว โดยที่ครูเป็นผู้ให้คำตอบ ซึ่งโรงเรียนทุกโรงเรียนมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดียวกันที่มุ่งเน้นการสอนความรู้จากการเรียนแบบท่องจำนำไปสอบ ซึ่งจากเหตุผลข้างต้นโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จึงนำหลักการเรียนการสอนแบบ  Active Learning มาศึกษาวิเคราะห์ แล้วนำกระบวนการมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้เรียนและครูผู้สอน โดยที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับห้องเรียนโดยให้มีการเรียนการสอนนอกห้องเรียน ซึ่งเป็นการเน้นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยการให้เกิดการแสวงหาความรู้ ค้นคว้าร่วมกันของผู้เรียนและครูผู้สอน จึงเกิดการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day”  (วันศุกร์คือวันโบยบิน)

ลงมือทำจากเล็กไปใหญ่ จากบางวันเป็นทุกวัน เน้นบูรณาการสร้างพลเมือง 5H

กระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day”  วันศุกร์คือวันโบยบิน เป็นกระบวนการที่ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยมีการทดลองจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการนี้ เมื่อปีการศึกษา 2558 ในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งในช่วงการทดลองนั้นได้ใช้ในบางระดับชั้นเท่านั้น กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ออกแบบการเรียนรู้ การวางแผน การเตรียมตัว รูปแบบของการเรียนด้วยตนเอง มีการออกไปเรียนรู้ในชุมชน อย่างเช่น การออกไปสังเกต เก็บข้อมูลการปลูกผักที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของชุมชน โดยที่นักเรียนจะเก็บข้อมูลการปลูกผักด้วยการจดบันทึก และเมื่อเก็บข้อมูลได้ตามที่ต้องการ นักเรียนจะกลับมาถอดบทเรียนในสิ่งที่ได้รับรู้มา โดยการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยความเข้าใจของตนเอง ซึ่งครูผู้สอนจะอำนวยการในกระบวนนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนที่แต่ละคนได้ข้อมูลมา

ในปีการศึกษา 2559 จากนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ทางโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ต้องการที่จะบรรจุกระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day” เป็นนวัตกรรมของโรงเรียนจึงได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกัน ระหว่างผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการเพิ่มกระบวนการเรียนรู้นี้ตลอดปีการศึกษา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบนำกระบวนการเรียนรู้นี้มาดำเนินการ

กระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day” ในปีการศึกษา 2559 เป็นการดำเนินกิจกรรมในวันศุกร์โดยใช้เวลาทั้งวัน การขับเคลื่อนที่สำคัญในกระบวนการนี้คือการที่ครูมีความเข้าใจที่จะให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้  เพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมตามความต้องการที่จะเรียนรู้ของตนเอง ลักษณะกิจกรรมนี้ให้เสรีและอิสระกับนักเรียนและครูในการจัดการวางแผน การเตรียมการ ในประเด็นที่ต้องการการเรียนรู้ รวมถึงการให้อิสระในการแต่งกายในการทำกิจกรรมด้วย ซึ่งจากการดำเนินตลอดระยะเวลา 1 ปีนี้ ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะว่านักเรียนมีความสุข มีความสนุก และความกระตือรือร้นในการที่จะทำกิจกรรมที่ตนเองมีส่วนร่วมในการออกแบบ การวางแผนเป็นอย่างมาก

ปีการศึกษา 2560 – 2561 โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้ทำการขยายกระบวนการเรียนรู้ “Friday is a Fly Day” สู่การจัดการเรียนรู้ให้เป็นวิถีปกติของโรงเรียนในรูปแบบของการบูรณาการ โดยการนำ 5 วิชา ได้แก่ วิชาสังคมศึกษา วิชาสุขศึกษาและพละศึกษา วิชาศิลปะ วิชาการงานอาชีพและวิชาพลเมือง มาบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนวิชาทักษะพื้นฐาน 4 วิชา คือ วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษยังคงเป็นการเรียนการสอนแบบทั่วไป

ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้ประกาศใช้นวัตกรรมกระบวนการ “Friday is a Fly Day : วันศุกร์ คือ วันโบยบิน” สู่ “Every day is a Fly Day : ทุก ๆ วัน คือ วันโบยบิน” คือ การจัดตารางการเรียนรู้เป็นรูปแบบบูรณาการ โดยเป็นการบูรณาการที่มีการเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิต ประเด็นที่ผู้เรียนสนใจ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ในเชิงการสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการสืบค้น ค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งเรียกว่าการถอดบทเรียน โดยเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ 4H ได้แก่

  1. Heard : คุณธรรม/เจตคติ/คุณค่า/ท่าที/จินตนาการ (Attitude)
  2. Hand : การปฏิบัติจริง ทักษะที่เกิด (Skill)
  3. Head : ความรู้ความเข้าใจ/ความจำ/คิดวิเคราะห์เชื่อมโยง/ความรู้ใหม่ (Knowledge)
  4. Health : สุขภาพ หรือ สุขภาวะ Well-being

ซึ่งนอกจาก 4H ข้างบนแล้วทางโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้มีการเพิ่มเติมต่อยอด H ตัวที่ 5 ทักษะความเป็นมนุษย์ (Humanity) เพื่อให้นักเรียนมีทักษะความเป็นพลเมือง ทั้งพลเมืองไทยและพลเมืองโลกยุคดิจิทัล

ใช้ใจนำและทำจนเป็นที่ยอมรับเชิงวิชาการ

โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้พยายามคิดค้นวิธีการ หรือกระบวนการที่เป็นการเรียนรู้ที่ท้าทายผู้เรียน และครูผู้สอน ที่เป็นหลักการของ Active Learning ที่ตอบสนองผู้เรียนทุกคนตามศักยภาพ เรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกระดับการศึกษา และทุกโรงเรียน โดยไม่ต้องใช้สื่อการเรียนรู้ที่มีราคาแพง (แต่ใช้ต้นทุนที่หัวใจของทุกคนเป็นสำคัญ) จึงมีการต่อยอดการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้ามาศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ กระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนเชิงการวิจัย และให้การรับรองว่าเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เป็น Active Learning โดยแท้

ใช้ Active Learning สร้าง ASK

ปีการศึกษา 2562 คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้คัดเลือกโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) เป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รุ่นที่ 1 ประเภทนวัตกรรมการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยมีกระบวนการ “Friday (Everyday) is a Fly Day” เป็นนวัตกรรมหลักของโรงเรียน เนื่องจากกระบวนที่โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ดำเนินการนั้นมีความครอบคลุม รอบด้าน ไม่เพียงแต่ยึดโยงความรู้จากครู หรือตำรา หรือห้องเรียนเพียงอย่างเดียว การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ที่เป็น Active Learning โดยการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการดำเนินการ ด้วยกระบวนการ ASK คือ  เจตคติ/คุณค่า (Attitude) ซึ่งให้ความสำคัญกับความสนใจ ความชอบ ความสุข ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อเป็นการเริ่มต้นสำหรับการเกิดทักษะหรือความชำนาญ (Skill) ก็จะตามมา ส่วนความรู้ (Knowledge) ก็จะเกิดตามมาจากการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองซึ่งเป็นความรู้/ชุดความรู้ใหม่ที่เขาสรุปด้วยตัวเอง และคำชี้แนะจากครูผู้สอน ซึ่งจะเป็นความรู้แท้ ใหม่สด เท่าทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

เรียนรู้จากรากเหง้าของตนเองสู่ทักษะความสามารถด้านดนตรี

โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้มีการดำเนินการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของชุมชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เยอ โดยการนำ “สะไน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่สำคัญ ปกติแล้วมีการใช้ในพิธีการสำคัญของชุมชน ทางโรงเรียนได้นำมาสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ทางดนตรีด้วยการนำมาสร้างเป็นวงดนตรี “สะในใจเยอ”เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน เพราะมีความยั่งยืน เป็นวงดนตรีพื้นบ้านอีสานรางวัลเหรียญทองระดับภาคและระดับประเทศติดต่อกันมา 8 ปี  กิจกรรมนี้เป็นการให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชน ความยึดโยงกับรากเหง้าของชุมชนตนเองและเพิ่มทักษะในด้านดนตรีให้กับนักเรียนที่มีความสนใจในด้านดนตรีและศิลปะการแสดง

เรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อเป้าหมายการสร้างสมรรถะของบุคคล

จากการดำเนินการกระบวนเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เกิดจากการคิดค้นและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองของโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ด้วยกระบวนเริ่มต้นด้วย “Friday is a Fly Day” จนสู่กระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวมหรือที่ผู้อำนวยการเสถียร พันธ์งาม ให้คำนิยามของคำนี้ว่า “Every day is a Fly Day” อีกนัยยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในทุกวันของรูปแบบบูรณาการที่มีเป้าหมายในการสร้างทักษะ การคิดวิเคราะห์ การกล้าแสดงออกของนักเรียน กล้าคิด กล้าทำ เพื่อที่จะส่งผลให้นักเรียนมีทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้านที่จะทำให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 เป็นคนที่ทันโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และที่สำคัญผู้อำนวยการเสถียร พันธ์งาม กล่าวว่า

เป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษาของทุกประเทศทั่วโลก ต่างก็ต้องการสร้างประชากรของตนเองให้เป็น “พลเมืองตื่นรู้ : Active Citizens” โดยเฉพาะประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ต้องสร้างประชากรทุกคนให้เป็นพลเมืองประชาธิปไตย นั่นคือ พลเมืองรับผิดชอบ พลเมืองมีส่วนร่วม พลเมืองสร้างความเป็นธรรมในสังคม พลเมืองรู้เท่าทันสื่อ เคารพความแตกต่าง แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือทีเรียกว่า “สมรรถนะของบุคคล” นั่นเอง

ร่วมแรง ร่วมใจ สร้างกระบวนการเรียนรู้

ช่วงเวลาดำเนินการในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาของโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่มีผลลัพธ์เป็นน่าพึงพอใจ เพราะนักเรียนมีความสุข มีความสนุกสนานในการเรียนรู้ มีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดประเด็นที่สนใจที่จะเรียนรู้ ประเด็นที่ชื่นชอบที่จะสร้างทักษะ สร้างความรู้ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครูผู้สอนนั้น คือ ครูผู้สอนเปิดใจ เข้าใจ ที่จะเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียนมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้รับฟังและผู้ชี้แนะมากกว่าการสอนเพียงอย่างเดียว รวมถึงการพัฒนาตนเองผ่านการวางแผน การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน การทำงานร่วมกันของครูภายในโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกด้วยด้วยการที่วางแผนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน

โรงเรียนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ในศตวรรษที่ 21

ผู้อำนวยการเสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ได้กำหนดเป้าหมายของปีการศึกษา 2563 ด้วยการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ใช้ Competency-Based Approach ซึ่งเป็นการนำข้อมูลผลการดำเนินการ กระบวนการ ข้อดีและข้อเสียของกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ผ่านมา แล้วมายึดโยงเข้ากับหลักสูตรฐานสมรรถนะ  เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้เกิดการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ด้วยการยึดโยงกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน ให้สามารถเรียนรู้ได้ เห็นคุณค่าตนเอง เกิดทักษะ แล้วเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง บนวิสัยทัศน์ของโรงเรียน “โรงเรียนพลเมืองประชาธิปไตย คุณภาพ 360 องศา” ภายใต้แนวคิด “Active School” สู่การเป็น “โรงเรียนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักเรียนและผู้ปกครอง ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, เสถียร พันธ์งาม
ผู้ให้สัมภาษณ์: เสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: เสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านค่าย พื้นที่นวัตกรรมระยอง การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ด้วยกระบวนการทำงาน 8 ขั้นตอนโรงเรียนวัดตาขัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เน้น Learning Outcome ให้เด็กเรียนรู้วิธีเรียน เปลี่ยนแปลงทั้งระบบด้วย 7 CHANGES
บทความล่าสุด