การประชุมปฏิบัติการจัดทำร่างนโยบาย ติดตามและประเมินผลและมาตรฐานข้อมูลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

11 มิถุนายน 2564

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ดำเนินการจัดการประชุมปฏิบัติการจัดทำร่างนโยบาย ติดตามและประเมินผล และมาตรฐานข้อมูลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สพฐ. กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมถึงผู้แทนสถานศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการ TSQP ของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กว่า 200 ท่าน จากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 8 จังหวัด

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 8 จังหวัด โดยมี 3 หัวข้อ คือ 1) มาตรฐานข้อมูลของระบบ Q-info (กสศ.) สู่แนวทางการกำหนดมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง 2) เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 – 2569 สู่การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ในการดำเนินการส่งเสริมให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 3) แนวทางการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

หัวข้อแรก มาตรฐานข้อมูลของระบบ Q-info (กสศ.) สู่แนวทางการกำหนดมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ซึ่งให้ข้อมูลโดย นายนคร  ตังคะพิภพ และทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีเนื้อหาในด้านการพัฒนาให้โปรแกรม Q-Info ให้มีความยืดหยุ่นในการออกแบบโดยโรงเรียนเอง การเชื่อมโยงข้อมูลส่วนกลาง การสร้างแรงจูงใจ การลดภาระงานเอกสารของครู และการออกแบบให้สอดรับกับหลักสูตรทั้ง 4 ประเภท มีการติดตามช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาอย่างทันท่วงที มีข้อมูลของโรงเรียนที่เป็นปัจจุบัน และสามารถแสดงผลนำเสนอได้หลายระดับ ทั้งระดับจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง เพื่อใช้ในการติดตามนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นโปรแกรมที่มาตรฐานมีประสิทธิภาพใช้กับสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุกแห่ง โดยหัวใจสำคัญคือการลดการนำเข้าข้อมูลที่ซ้ำซ้อนให้กับครูให้ได้

หัวข้อที่ 2 เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564-2569 ซึ่งเกี่ยวกับการขยายโรงเรียนแกนนำให้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่ฯ รุ่นใหม่ การขยายจังหวัดพื้นที่นวัตกรรม การนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะและการประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาให้โรงเรียนนำร่องมีการพัฒนาเชิงคุณภาพ 4 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมการศึกษา การประเมินพื้นที่ การพัฒนาจากบทเรียนและขยายผล และการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ ประกอบการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาจัดการเรียนรู้ การประเมินผลพื้นที่ ปรับปรุงพัฒนาสู่การถอดบทเรียน ขยายผลสู่ระดับนโยบาย

หัวข้อสุดท้าย แนวทางการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้ประเมินอิสระ ซึ่งเกี่ยวกับการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ประเมินอิสระจากหน่วยงานอิสระ เอกชน หน่วยงานการศึกษา ชื่อบุคคล เพื่อให้ได้คณะผู้ประเมินอิสระ ประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 15 (4) และมาตรา 40 โดยการเสนอหน่วยงานหรือบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีความเป็นกลางเข้ามาเป็นคณะผู้ประเมินอิสระ เพื่อทำหน้าที่ในการประเมินผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายให้มีการยุบเลิกพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น ในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5

แต่ละหัวข้อ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงมีประเด็นคำถามและมุมมองที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ มาเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาในการจัดทำร่างนโยบาย ติดตามและประเมินผล และมาตรฐานข้อมูลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อไป


 


ผู้เขียน:
ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา, อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โรงเรียนวิบูลวิทยา : จัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้บูรณาการความรู้จากนาข้าวคณะศึกษาศาสตร์ มช. รายงานความก้าวหน้าระยะ 6 เดือน ของโครงการกลไกขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
บทความล่าสุด