บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.5 จ.เชียงใหม่ ร่วมเรียนรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจ ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่

11 พฤศจิกายน 2565
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.5 จ.เชียงใหม่
ร่วมเรียนรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจ ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรม จ.เชียงใหม่ ณ โรงแรมสรีเวียงพิงค์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้มีคณะผู้ประเมินอิสระ โครงการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการของพื้นที่ฯ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่ ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง และตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่

จากการที่ได้เข้าร่วมเรียนรู้ทำให้ได้ทราบถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของพื้นที่ บทบาทของผู้มีส่วนร่วม แต่ละภาคส่วนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษา ได้แก่ ยุทธศาสตร์หรือแผนการดำเนินงาน ซึ่ง จ.เชียงใหม่ได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ระยะ 5 ปี การประสานให้หน่วยงานทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชนดำเนินการร่วมกัน การประสานให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการจัดทำสื่อการสอน จัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ พัฒนาบุคลากร จัดระบบการประเมินและวัดผลและการอื่นที่จำเป็น การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษานำร่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและเหมาสมกับสภาพในพื้นที่นวัดกรรมการศึกษา การออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และติดตามสถานศึกษานำร่องเพื่อให้จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเกิดการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา การเสริมสร้างและเตรียมความพร้อมให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการเป็นสถานศึกษานำร่องหรือในการนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในการจัดการศึกษา ส่วนการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่องยังอยู่ระหว่างการวางแผนการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง

 

ซึ่งจากที่พื้นที่ได้เข้าร่วมเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น ทำให้พบว่า

  1. สถานศึกษาที่เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องมีนวัตกรรมเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่พอมี พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ 2562 เข้ามาสนับสนุนทำให้การดำเนินการจัดการเรียนการสอนสะดวกมากขึ้น
  2. จากพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ 2562 ที่ได้ให้อิสระแก่ทางพื้นที่ได้จัดการศึกษาด้วยตนเองนั้นทำให้สถานศึกษานำร่องได้จัดทำแผนกลยุทธ์สถานศึกษาและสถานศึกษามีความประสงค์ที่จะพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา
  3. จากคำแนะนำของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้กล่าวไว้ว่า “อยู่ที่การให้อิสระแก่สถานศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ หากมีสถานศึกษาใดที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนน้อย ก็ให้ศึกษานิเทศก์เข้าไปช่วยเติมเต็ม และหากสถานศึกษาไหนที่เด่นในด้านการจัดการเรียนการสอน ก็ให้ศึกษานิเทศก์เข้าไปถอดบทเรียนและนำไปขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น และให้นำปัญหาของสถานศึกษามาสร้างเป็นนวัตกรรมการศึกษา”

และจากการที่ได้เข้าร่วมเรียนรู้กับพื้นที่ในครั้งนี้ ผู้เขียนขอเขียนถึงบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม  ในพื้นที่ (เครือข่ายกลุ่มชมรม สมาคม มูลนิธิสถาบัน และชุมชน) ซึ่งได้เข้ามาสนับสนุนด้านความรู้ของทักษะวิชาชีพเพิ่มเติมตามความต้องการของนักเรียน การเข้าร่วมในการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา เช่น การจัดแสดงผลงานนวัตกรรมของโรงเรียนและได้เชิญชวนส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง

วันที่ 2 กันยายน 2565 ได้มีโอกาสลงพื้นที่โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม และโรงเรียนบ้านโป่งน้อย ทำให้ทราบถึงแนวทางและผลของการจัดการเรียนการสอน คือ

  1. มีการนิเทศกำกับติดตาม โดยให้ครูรายงานผลจากการที่ได้จัดการเรียนการสอนทุกสัปดาห์ ซึ่งถ้าหากผลการดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ ก็จะมีรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่คอยให้ข้อเสนอแนะหรือเรียกประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง
  2. สถานศึกษาให้ความสำคัญกับผู้ปกครองของนักเรียน โดยการรับรู้ รับฟังข้อปัญหาจากที่ผู้ปกครองได้สะท้อนกลับมา
  3. สถานศึกษาพานักเรียนเข้าไปเรียนรู้จากสถานประกอบการ จากผู้ประกอบอาชีพจริง โดยได้มี การสัมภาษณ์ความต้องการหรือความสนใจของนักเรียน ทำให้นักเรียนได้รู้จักความชอบ ไม่ชอบของตนเองได้มากขึ้น
  4. นักเรียนมีความหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้พบปัญหาคือ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ปัญหาการติดต่อสื่อสาร ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ละลายพฤติกรรม ทำให้มีโอกาสสร้างความคุ้นเคยกันและกันมากขึ้น
  5. มีกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตนเอง ซึ่งในวิชาทั่วไปจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารประมาณร้อยละ 30 ซึ่งหากมีนักเรียนที่ไม่ถนัดในวิชาภาษาอังกฤษก็ได้มีการจัดให้ครูเข้าไปช่วยสอนเสริม
  6. สถานศึกษามีหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้มากขึ้นด้วยหลักสูตรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดมาจากความต้องการของผู้เรียน
  7. ครูเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ทำให้ครูได้รู้ว่าตนเองต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน โดยไม่มีการใช้ตารางสอน หากมีวิชาที่จำเป็นต้องมีการสอบวัดและประเมินผล ครูก็สามารถจัดสอบได้ และได้มีการแจ้งผลคะแนนการสอบให้ทางผู้ปกครองได้รับทราบ ทำให้ลดปัญหาการติด 0 ติด ร ในส่วนกรณีของนักเรียนที่ได้ไปฝึกประสบการณ์นอกสถานที่ ก็ได้มีการให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประเมิน ส่วนครูเป็นผู้วัดและประเมินผลการเรียนตามกรอบหลักสูตรตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนด ซึ่งหากจบปีการศึกษาในแต่ละภาคเรียน ก็ได้มีการสรุปผลการเรียนการสอน พร้อมกับผู้ประกอบการ เพื่อร่วมเสนอแนวคิด และข้อเสนอแนะต่างๆร่วมกัน

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       


ผู้เขียน : ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
บริหารสถานศึกษาตามศาสตร์พระราชาด้วย KHUEN Model รร.เขื่อนบางลาง สพป.ยล.2บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.6 ความรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจ ลงพื้นที่ติดตามคณะผู้ประเมินอิสระลงพื้นที่ จ.นราธิวาส
บทความล่าสุด