บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.6 ความรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจ ลงพื้นที่ติดตามคณะผู้ประเมินอิสระลงพื้นที่ จ.นราธิวาส

16 พฤศจิกายน 2565
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.6
ความรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจ
ลงพื้นที่ติดตามคณะผู้ประเมินอิสระลงพื้นที่ จ.นราธิวาส

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมรับการประเมินผลดำเนินงาน และบริหารจัดการพื้นที่นวัตกกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส โดย คณะผู้ประเมินอิสระการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุมโสภาพิสัย ชั้น 6 โรงแรมตันหยง อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาสซึ่งได้มีคณะผู้ประเมินอิสระ โครงการประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา  ลงพื้นที่ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.นราธิวาส ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง และตัวแทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่

จากการที่ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนราธิวาส นำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ได้ทราบถึงผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ ส่งผลให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัว และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ครูปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ การทำให้ทราบปัญหาและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การพัฒนานวัตกรรมและแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ การค้นพบความเป็นตัวตน เช่น ทุนทางภูมิสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางภูมิปัญญา การกำหนดทิศทางของหลักสูตรสถานศึกษา ค้นหา SCHOOL CONCEPT เป้าหมายของสถานศึกษา มีเครื่องมือการนิเทศ ติดตามสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2564 ได้แก่ ความสามารถในการกล่าวสุนทรพจน์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผู้บริหารสถานศึกษาเกิดทักษะในการ COACH การจัดการเรียนการสอน ปีงบประมาณ 2565 ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์พื้นที่นวัตกรรมมการศึกษา หลักสูตรสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 26 หลักสูตร แนวทางการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และคู่มือการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

ซึ่งนอกจากนี้ตัวแทนคณะกรรมการที่ได้เข้าร่วมประชุมยังได้เสนอความคิดเห็นต่อพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ จ.นราธิวาส อีกว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2562 เป็นฐานเครื่องมือกับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการนำมาใช้ประยุกต์กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยผู้เรียนทางภาคใต้สามารถเรียนรู้ได้เหมือนกับผู้เรียนทั่วประเทศ และในส่วนของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น สามารถเรียนได้ตามความสนใจของตนเอง ซึ่งมีความเชื่อว่า “สิ่งที่เด็กถนัด มักจะทำได้ดีเสมอ”   และอยากให้มีการเดินหน้าขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ สร้างโมเดลทางการศึกษาให้กับ จ.นราธิวาส และยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “เมื่อส่วนกลางให้โอกาส จงอย่าละทิ้งโอกาส     ซึ่งโอกาสดีๆ หากไม่สนใจ เมื่อผ่านไปแล้วจะไปเลย”     

วันที่ 14 กันยายน 2565 ภาคเช้า ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้ประเมินอิสละ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไปยังโรงเรียนบ้านมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และภาคบ่าย โรงเรียนพิมานวิทย์ นราธิวาส ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส เพื่อเข้าไปศึกษาแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาถึงความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ในการลงพื้นที่ครั้งนี้จะขอเขียนถึงโรงเรียนบ้านมูโนะ ซึ่งจากการที่ได้เข้าไปในลงพื้นที่นั้น ทางโรงเรียนได้จัดการแสดงต้อนรับ ซึ่งทำให้ผู้เขียนเกิดความประทับใจ เนื่องจากเป็นการแสดงที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้พบเห็น ซึ่งมีทั้งหมด 3 ชุด การแสดงด้วยกัน นั่นคือ

1) การแสดงกุมปัง ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงหนึ่งเดียวของจังหวัดนราธิวาส เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี เครื่องดนตรีที่ใช้แสดงคือ กลอง สมัยก่อนใช้ตีให้เกิดเสียงดัง เพื่อแสดงถึงความฮึกเหิมในการสู้รบกับข้าศึก หรือใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในหมู่กษัตริย์มลายู และใช้ในงานแต่งงาน ในวันนั้นนักเรียนได้ตีกลองพร้อมกันเป็นแถวยาว ซึ่งถือเป็นการต้อนรับคณะที่ได้ลงติดตามในพื้นที่

2) การแสดงปันจักสีลัต คือ การแสดงการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คล้ายกับมวยไทยที่มีการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายแต่ไม่ได้ใช้นวม

3) การแสดงระบำกรงนก เป็นการแสดงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชน ที่มักเลี้ยงนกเขา หรือนกกรงหัวจุก ซึ่งการแสดงของนักเรียนที่ได้ร่วมแสดงนั้น ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจ ความพร้อมเพรียง ความงดงามอ่อนช้อยและความมีเสน่ห์ของพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

โรงเรียนบ้านมูโนะมีแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้นวัตกรรมต้นแบบการเรียนรู้ตลาดนัดสองแผ่นดินไทย – มาเลย์ในรูปแบบ 4P MODEL” เพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น มีความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีคุณลักษณะตามทักษะในศตวรรษที่ 21   สื่อสารทั้งภาษาไทย ภาษามลายูและภาษาอังกฤษ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม P1 ชั้นปฐมวัยพหุภาษาโดยใช้ Active Learning P2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 3R (หนังสือส่งเสริมการอ่าน 3 ภาษา) P3     ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 STEM (สะเต็มศึกษา) P4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 Career Skills (ทักษะอาชีพ) ซึ่งหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนมาจากความต้องการของชุมชน บริบทของชุมชน จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่ชุมชนได้ประสบพบเจอ ประกอบกับชุมชนอยู่ติดแม่น้ำ ติดชายฝั่งมาเลเซ๊ย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง

 

และทางโรงเรียนยังได้นำนักเรียนมาร่วมทำกิจกรรม เช่น การทำขนมพื้นบ้าน (ขนมอาเกาะ) โดยผู้เรียนกล่าวว่า ได้ศึกษาวิธีการทำจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งครั้งแรกที่ได้ลองทำตนได้ใส่น้ำผสมลงไปในแป้งมากจนเกินไป ทำให้ลักษณะของขนมผิดเพี้ยนไปจากตัวอย่างที่ศึกษามา จากนั้นจึงได้ลองผิด ลองถูกปรับส่วนผสมให้ลงตัวจนถึงครั้งที่ 3 ขนมถึงอร่อยและรับประทานได้ การตกแต่งผ้าคลุมผม โดยการให้นักเรียนออกแบบลายผ้าคลุมผมด้วยตนเอง โดยครั้งแรกใช้ดินสอในการร่างแบบก่อน จากนั้นจึงนำมุก เลื่อม ลูกปัดมาปักผ้าตามที่ได้ออกแบบร่างไว้ การทำกรงนก การเพ้นท์เสื้อ เพ้นท์กระเป๋า โดยค่าใช้จ่ายหลังจากหักต้นทุนคืนให้กับโรงเรียนแล้วจะนำไปให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นรายได้และสร้างกำลังใจต่อไป

หลังจากที่โรงเรียนบ้านมูโนะได้เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำให้ได้รับโอกาสด้านการจัดการเรียนการสอนด้วยตนเอง ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน นางโสรยา  อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมูโนะ ได้กล่าวว่า “จากการที่ให้เราได้ออกแบบเสื้อที่ใส่ได้เอง ด้วยตัวของเรา ถือว่าเป็นความสุขของโรงเรียนมาก เนื่องจากเด็กที่นี่บางคนตัวใหญ่เกิน หรือเด็กบางคนของเราตัวเล็ก ใส่เสื้อตามที่กำหนดให้มาไม่ค่อยได้” ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของโรงเรียนบ้านมูโนะที่ได้ทดลองจัดการเรียนการสอนตามบริบทของตนเอง และยังสามารถช่วยให้เด็กเกิดทักษะที่หลากหลายด้าน เป็นผู้มีสมรรถนะในการพัฒนาทักษะอาชีพ  การทำงาน การใช้ชีวิตและสามารถพึ่งพาตนเองได้

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       


ผู้เขียน : ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
บันทึกร่องรอยการเดินทางลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ EP.5 จ.เชียงใหม่ ร่วมเรียนรู้ ประสบการณ์ และความประทับใจ ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่โรงเรียนบ้านควนเก พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล พัฒนาการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ด้วยการจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย
บทความล่าสุด