การส่งเสริมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับนโยบาย โดย ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.

13 พฤษภาคม 2024
การส่งเสริมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับนโยบาย
โดย ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.

วันนี้ 13 พฤษภาคม 2567 ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ประธานกล่าวเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการพลิกโฉมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดสตูล Transforming Satun Sandbox For Sustainable Development ณ โรงเรียนอนุบาลสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดย การ Online เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ การส่งเสริมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับนโยบาย โดย ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ได้นำเสนอใน 3 ประเด็นหลัก ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1) ความสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
2) การออกกฎหมายประกาศระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
3) กำกับดูแลการดำเนินคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ (กขน.) และหน่วยงานต้นสังกัด

สำหรับประเด็นแรก “ความสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”

เป็นพื้นที่สำคัญจะได้นำร่องทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของชาติ มีอิสระในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ อาทิ การที่โรงเรียนนำร่องจะมีอิสระในการเลือกซื้อสื่อหนังสือตำราตามกรอบหลักสูตรของพื้นที่ การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ได้ ไม่ติดตัวชี้วัด สร้างหลักเกณฑ์ประกันคุณภาพแนวใหม่ อาจไม่อิงการประเมินของ สมศ. นอกจากนี้ รร.นำร่องยังสามารถเลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างอิสระเพื่อเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์มากมาย แม้ผลเชิงปริมาณเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนยังไม่ปรากฏชัดเจนเท่าทีควร แต่ผลจากผู้ประเมินอิสระในรอบ 3 ปีที่ คณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้ง ก็ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจว่า การดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในช่วงสามปีแรกอยู่ในระดับค่อนข้างดี ทุกจังหวัดผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำและควรดำเนินการต่อ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผ่านมุมมองจากผลงานการวิจัยของภาคีเครือข่ายที่ได้ดำเนินการก็สะท้อนภาพไปในทิศทางเดียวกันว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อให้เกิดสัญญาณทางบวกกับการพัฒนาผู้เรียนที่ทำให้ผู้เรียนมีทักษะต่างๆ ที่ดีขึ้น ได้แก่ การตั้งโจทย์ การคิดวิเคราะห์ การหาข้อมูล การแสดงออก การอ่านออกเขียนได้ และการนำเสนองาน นอกจากนี้ ผู้ปกครองและชุมชนก็มีความพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมกับโรงเรียนในการจัดการศึกษา โรงเรียนนำร่องกว่า 1,400 โรงเรียนมีการปรับการสอนมุ่งสู่ Active Learning และกว่า 193 โรงเรียนมีการปรับใช้หลักสูตรอิงสมรรถนะ

ประเด็นที่ 2 “การออกกฎหมายประกาศระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา”

ที่ผ่านมาภาคส่วนนโยบายได้มีการผลักดันการออกประกาศ/กฎหมายลำดับรอง แห่ง พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 รวมแล้วกว่า 14 ฉบับ เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในระดับจังหวัดและระดับโรงเรียนสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. โดย สบน. ได้รวบรวมไว้สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Download หนังสือรวมประกาศ/กฎหมายลำดับรอง

ตัวอย่างบางส่วนที่ภาคส่วนนโยบายได้ดำเนินการเพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนของพื้นที่ดำเนินการได้อย่างอิสระ อาทิ การแจ้งไปยัง รร.นำร่องในเรื่องของการปลดล็อกให้อิสระการใช้งบประมาณ ในการจัดทำ/คัดเลือก/จัดหา/ใช้ตำรา สื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่องฯ โดย สถานศึกษานำร่องสามารถเลือกซื้อหนังสือ สื่อการเรียนการสอนตรงตามความต้องการสอดคล้องกับหลักสูตรที่สถานศึกษาเลือกใช้

นอกจากนั้นยังได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จนนำมาสู่การตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา : ปีงบ 2567 ที่จะใช้สำหรับการจัดสรรไปยัง รร.นำร่อง สังกัด สพฐ. มากกว่า 1,142 โรงเรียน เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ภาคส่วนนโยบายได้ดำเนินการ

ประเด็นที่ 3 “กำกับดูแลการดำเนินคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ (กขน.) และหน่วยงานต้นสังกัด”

ในประเด็นนี้ข้อมูลล่าสุดที่ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นำเสนอคือคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและกรอบการกำกับดูแลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

และ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ยังได้กล่าวถึง พันธกิจของ สพท. เพื่อการบรรลุเป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ คือ เมื่อพิจารณาจากจำนวนสถานศึกษานำร่อง จะพบว่า มีโรงเรียนนำร่องสังกัด สพฐ. มากถึงร้อยละ 78 ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ สพท. ต้องเข้ามามีบทบาทร่วมขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน นั่นจึงเป็นที่มาของการกล่าวถึง พันธกิจของ สพท. เพื่อการบรรลุเป้าหมาย จำนวน 6 ข้อ ได้แก่

  1. ส่งเสริมสนับสนุน: ส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อน รร.นำร่องในสังกัดให้สู่เป้าหมายความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย
  2. ลดอุปสรรค เพิ่มอิสระ: ช่วยลดอุปสรรค เพิ่มความอิสระและความคล่องตัวในการบริหารและจัดการศึกษาของ รร.นำร่อง/สพท.
  3. จัดทีมช่วยเหลือ: จัดทีมศึกษานิเทศก์ช่วย รร.นำร่องปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
  4. เสริมพลัง สร้างขวัญกำลังใจ: เสริมพลัง สร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรใน รร.นำร่อง ในการสร้างโมเดลการยกระดับคุณภาพโดยใช้โรงเรียนและพื้นที่เป็นฐาน
  5. เสนอ รร. นำร่องเข้าเกณฑ์ย้าย ผอ. โดยการทาบทาม: ประสาน ศธจ. เสนอให้ รร.นำร่องได้รับการประกาศเป็น รร. ที่มีความต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นพิเศษ เพื่อเป็นเงื่อนไขการย้าย ผอ.โดยการทาบทาม
  6. ผสานพลังทำงานร่วม ศธจ. ขับเคลื่อนฯ: ร่วมมือรวมพลังและทำงานร่วมกันกับ กขน. และ ศธจ. ในการขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน

สำหรับ พันธกิจของสถานศึกษานำร่อง เพื่อการบรรลุเป้าหมาย จำนวน 5 ข้อ ได้แก่

  1. พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนสอดคล้องกับบริบทและยุทธศาสตร์จังหวัด
  2. พัฒนาศักยภาพตนเอง (ผอ. ครู และบุคลากรทางการศึกษา)
  3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้
  4. สร้างเครือข่าย/พันธมิตร ทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ (สถาบันการศึกษาชั้นนำ สถาบันวิจัย และองค์กรต่างๆ)
  5. สะท้อนผล/ประเมินผลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 

ในช่วงท้ายของการบรรยาย ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำและฝากท่านศึกษาธิการจังหวัดและคณะผู้ทำงานในพื้นที่ ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนด Timeline ของการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีแบบแผน มีระบบ และเป็นขั้นตอน นอกจากนี้การกำหนดเส้นทางและกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัดจะทำให้การดำเนินงานเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ สามารถจัดสรรทรัพยากรและกำหนดลำดับความสำคัญได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ช่วยป้องกันความล่าช้าและปัญหาอุปสรรค รวมถึงทำให้การติดตามประเมินผลและการปรับปรุงโครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์

ก่อนจบการบรรยายผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้ส่งกำลังใจและชื่นชมความทุ่มเทของคณะกรรมการขับเคลื่อนจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจผลักดันงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ก้าวหน้า หน่วยงานส่วนกลางขอแสดงความชื่นชมและพร้อมยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้านที่ส่วนกลางฝ่ายนโยบายสามารถเสริมหนุนได้ และพร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากพื้นที่ด้วยความยินดียิ่ง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


 

ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์สพฐ. เช็คความพร้อมหารือ Timeline ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ. บุรีรัมย์ ระยะแรก
บทความล่าสุด