ความคืบหน้าการดำเนินงาน 8 ประเด็นที่เห็นในพื้นที่ : สบน. รายงานการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในครั้งที่ 2/2563

14 กุมภาพันธ์ 2020

วันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ทาง สบน. ได้เข้ารายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2563 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในครั้งที่ 2/2563 ซึ่งทาง สบน. ได้สรุปผลการติดตามการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 6 พื้นที่ ตามกรอบหน้าที่ในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ซึ่งสามารถสรุปเป็นภาพรวมผลการดำเนินงานได้ 8 ประเด็น ดังต่อไปนี้

1. กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา : พื้นที่นำร่องเกือบทั้งหมดมีการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เหลือเพียงจังหวัดกาญจบุรีที่กำลังจะดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ในเดือนกุมภาพันธ์

2. ทุกพื้นที่นำร่องมีการประสานให้หน่วยงานทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน ดำเนินการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของจังหวัดที่ได้ร่วมกันจัดทำไว้

3. ปัจจุบันนี้ทุกพื้นที่มีการประสานงานให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการจัดทำสื่อการสอน จัดการเรียนรูปแบบใหม่ พัฒนาบุคลากร จัดระบบประเมินและวัดผล และการอื่นที่จำเป็นสำหรับพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อาทิ จ.ศรีสะเกษ ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จ.สตูล ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อรับการสนับสนุน ส่งเสริมเชิงวิชาการ พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในโรงเรียนนำร่อง และพัฒนากระบวนการวัดและประเมินผล ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และบริษัทสตูลสมาร์ทซิตี้ เพื่อจัดทำดิจิตอลแพลตฟอร์มแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ จ.ระยอง ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์และมูลนิธิสยามกัมมาจล หนุนเสริมเชิงวิชาการเรื่องการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา จ.เชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมโรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมทั้ง สพป.เชียงใหม่ เขต 6 ร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนนำร่อง เป็นต้น

4. ในจังหวัดที่มีความพร้อมได้มีการดำเนินการนำหลักสูตรแกนกลางทางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติไปปรับใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาในสถานนำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และทุกจังหวัดได้เริ่มมีการปรับการเรียน เปลี่ยนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้นวัตกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมตามบริบท ซึ่งนำมาสู่การออกแบบหลักสูตรสถานศึกษา เช่น จ.สตูล มีการปรับเปลี่ยนตารางเรียนที่กำหนดให้ในช่วงบ่ายของแต่ละวันเป็นการเรียนในรายวิชาบูรณาการ และที่ รร.วัดตาขัน จ.ระยอง ได้มีการปรับหลักสูตรโรงเรียนเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น

5. แต่ละพื้นที่มีการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษานำร่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ตามรูปแบบนวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนเลือกนำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่นักเรียน ซึ่งตรงตามความต้องการจำเป็นของพื้นที่เหมาะสมกับบริบท โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงแค่หน่วยงานจากส่วนกลาง

6. ในบางพื้นที่มีความพร้อมได้จัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เช่น จ.สตูล ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.ศรีสะเกษ ร่วมมือกับ TDRI และ จ.ระยอง ร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ เพื่อออกแบบวิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในโรงเรียนนำร่องให้เหมาะสมกับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ ให้ได้การประเมินที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับ

7. คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุกพื้นที่ต่างร่วมกับภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชนในพื้นที่ ให้การส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ และด้านนโยบายระดับจังหวัด อาทิ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ว่าราชการให้ความสำคัญและจัดเตรียมงบประเมินเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวนกว่า 12 ล้านบาท มีการร่วมมือกันกับมูลนิธิสยาม กัมมาจล จัดทีมกำกับติดตาม ให้การช่วยเหลือ โรงเรียนนำร่อง ในส่วนของจังหวัดสตูลซึ่งมีการจัดการเรียนรู้รูปแบบโครงงานฐานวิจัย ได้จัดให้มีการ PLC ร่วมกันทุกสัปดาห์ เพื่อสรุปข้อค้นพบจากการเรียน การสอนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยมีทีมโค้ช ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ นักวิจัยท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ และยังได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการติดตามการอบรม การจัดการเรียนการสอนโครงงานฐานวิจัย และการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินพื้นที่นวัตกรรม

8. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวนอย่างน้อย 5 พื้นที่ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการแทนหรือปฏิบัติงานที่คณะกรรมการขับเคลื่อนมอบหมาย ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดระยองมีคณะอนุกรรมการ 1 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง จังหวัดสตูลมีคณะอนุกรรมการจำนวน 6 คณะ ได้แก่ อนุกรรมการฝ่ายโครงสร้างและกลไก อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ อนุกรรมการฝ่ายบริหารทั่วไป อนุกรรมการฝ่ายบุคคล อนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมและงบประมาณ และอนุกรรมการฝ่ายดิจิตอลแพลตฟอร์ม ส่วนจังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการรับรู้และมีส่วนร่วม คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และแผน คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ คณะอนุกรรมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

ในส่วนของ สบน. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายฯ กำกับ ติดตาม และตรวจสอบ การจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้น ได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ. และมีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ภาพความสำเร็จสะท้อนผ่านอัตราการเติบโตของจำนวนผู้เข้ามาติดตามข่าวสารจากทางเว็บไซต์ จากเดิมในช่วงสองเดือนแรกนั้นมีจำนวนผู้เข้าชมแค่หลักร้อยต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 16,891 ต่อเดือน คิดเป็นอัตราการเติมโตกว่า 5000% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนแรกที่ สบน. เริ่มก่อตั้งเว็บไซต์และเริ่มเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

ที่ประชุม กพฐ. รับทราบข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะต่อทาง สบน. ให้การดำเนินการจัดทำ Timeline ภาพการขับเคลื่อนงานที่จะดำเนินการตลอดระยะเวลา 7 ปี มานำเสนอต่อที่ประชุมในคราวต่อไป

ความก้าวหน้าที่นำเสนอครั้งนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือ ร่วมใจ ทุมเท ทั้งแรงกายและแรงใจของทุกคน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นี่ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวของการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังคำกล่าวของอดีตประธานาธิปดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ที่กล่าวว่า

“ แค่คุณมีความเชื่อมั่นว่าคุณทำได้ คุณก็ประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว ”


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
โรงเรียนอนุบาลมะนัง พื้นที่นวัตกรรมสตูล ฝึกครูโค้ชให้พร้อมจัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย“โรงเรียนนำร่องต้องทำทันที ปรับวิธีคิดวิธีทำใหม่ เลือกใช้/ต่อยอดสิ่งดี ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ผอ.โกมุท รุยอ่อน ผอ.สพป.ยะลา เขต 3
บทความล่าสุด