“โรงเรียนนำร่องต้องทำทันที ปรับวิธีคิดวิธีทำใหม่ เลือกใช้/ต่อยอดสิ่งดี ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ผอ.โกมุท รุยอ่อน ผอ.สพป.ยะลา เขต 3

18 กุมภาพันธ์ 2563

ช่วงวันที่ 13-15 กุมภาพันธุ์ 2563 เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเดินทางไป อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การเตรียมการปรับหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และเชื่อมโยงต่อยอดสิ่งดีที่โรงเรียนมีอยู่ เน้นอัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียน ของโรงเรียนนำร่อง ในสังกัด สพป.ยะลา เขต 2 สพป.ยะลา เขต 3 สพป.ปัตตานี เขต 3 และ สช.ยะลา

การเดินทางมาเบตงครั้งนี้ได้พบผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครู และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการสร้างสรรค์โรงเรียนที่ดีเพื่อลูกศิษย์ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา แต่คำว่า “โรงเรียนที่ดี” ในความหมายของแต่ละคนย่อมต่างกัน การประชุมสัมมนาเพื่อเตรียมปรับหลักสูตรสถานศึกษาครั้งนี้ จึงได้พูดคุยกันมากในประเด็นเป้าหมาย/ผลลัพธ์ผู้เรียนที่โรงเรียนจำเป็นและต้องการ เพื่อให้ลูกศิษย์และลูกหลานอยู่รอดอยู่ร่วมในภาวะเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกระทบชีวิตอย่างมาก และโอกาสของการเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เอื้อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาของโรงเรียนปรับเปลี่ยน/ออกแบบ/พัฒนาแต่ละองค์ประกอบของการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบท ตอบโจทย์ของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนให้มีคุณสมบัติตามที่ทุกฝ่ายเห็นว่าจำเป็น สำคัญ และต้องทำให้สำเร็จ

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผอ.โกมุท รุยอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 เป็นผู้ให้แนวคิดในการทำงานของโรงเรียนนำร่องในช่วงเปิดการประชุม ท่านเป็นผู้นำองค์กรและเป็นผู้สนับสนุนให้ ศน.วัชระ จันทรัตน์ ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.ยะลา เขต 3 เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ สิ่งที่ ผอ.สพป.ยะลา เขต 3 กล่าวไว้ถือเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโรงเรียนนำร่อง และเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าท่านสนับสนุน ส่งเสริมด้วยความเข้าใจในเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. และพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สาระสำคัญที่ ผอ.โกมุท รุยอ่อน ผอ.สพป.ยะลา เขต 3 ได้กล่าวไว้ในวันเปิดประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 มีดังนี้

1. พ.ร.บ.ใหม่เปิดช่องให้แก้ไขปัญหาเก่าที่จำเจ

รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพราะนับจากที่ได้รับผิดชอบการจัดการศึกษา ตั้งแต่เป็นผู้บริหารโรงเรียนได้เห็นข้อเรียกร้องจำนวนมาก เกี่ยวกับความต้องการหลักสูตรที่จะต้องสอดคล้องกับชีวิตจริง ที่เป็นอยู่กลับไม่สอดคล้อง แต่ก็ต้องสอน สื่อการสอนที่ต้องเลือกก็ไม่ตรงความต้องการ ไม่สอดคล้องบริบทพื้นที่ ด้านครูและบุคลากรก็ไม่สามารถเลือกครูใด ๆ ได้ตามความจำเป็นและความต้องการของโรงเรียน ซึ่งเมื่อได้ศึกษา พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว พบว่า พ.ร.บ.ได้เปิดช่องทางไว้ให้มาก และจะนำไปสู่การมีอิสระในการบริหารจัดการและการจัดการศึกษามากขึ้น จะตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้เรียนมากขึ้น

2. จะแก้ปัญหาได้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ทำทันที

หากต้องการแก้ไขปัญหาและทำแบบเดิม ๆ ไม่สามารถแก้ไขได้หรือประสบความสำเร็จ การจะดำเนินการให้สำเร็จ จะต้องทำแบบใหม่ คิดแบบใหม่ ทำทันที เปลี่ยนแปลงทันที เปลี่ยนแปลงที่จิตใจ เริ่มเปลี่ยนที่ผู้นำ/ผู้อำนวยการโรงเรียน เปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำใหม่

3. ต้องคิด/ตอบคำถาม 4 ข้อ ก่อนลงมือทำ

การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้ นั่นคือ
1) จะพัฒนาการเรียนการสอนอย่างไร จะพัฒนาผู้เรียนอย่างไร จะสอนอย่างไร จึงจะเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทที่ตั้งอยู่ ซึ่งหลักสูตรสถานศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ และต้องปรับเปลี่ยน
2) จะพัฒนาครูอย่างไรให้เหมาะสมกับบริบท พื้นที่ ยกตัวอย่างครูที่อยู่ในโรงเรียน สพป.ยะลา เขต 3 ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.เบตง และ อ.ธารโต อำเภอเบตงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ส่วนอำเภอธารโตเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ป่าเขาอุดมสมบูรณ์ ทุเรียนอร่อย ดังนั้น ทั้งหลักสูตรและการพัฒนาครูจึงไม่ใช่หลักสูตรเดียวกัน
3) จะพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างไร ให้เป็นระบบเปิด ให้สามารถดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ให้ร่วมคิด ร่วมจัดหลักสูตร ร่วมสนับสนุนสื่อและแหล่งเรียนรู้
4) จะพัฒนาภาวะผู้นำของผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างไร ให้ ผอ.รร.สามารถเป็นผู้ร่วมกำหนดเป้าหมาย ทำให้ทุกคนรู้เป้าหมาย และเดินไปในทิศทางเดียวกัน

4. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และเคล็ดลับจากประสบการณ์

ในการพัฒนาโรงเรียนให้ได้ตามจุดมุ่งหมาย จะต้องมีปัจจัยสำคัญดังนี้
1) ต้องมีข้อมูลสารสนเทศ ทั้งข้อมูลปัจจัยภายในและภายนอก จะต้องเข้าใจบริบทแวดล้อม จุดเด่นจุดด้อย ปัจจัยเอื้อ มีข้อมูลเชิงลึกถึงการทำงานของครู
2) ต้องไม่ทำอะไรแบบเดิม ๆ ผอ.รร.ต้องเป็นผู้นำต้องกล้าเปลี่ยน ร่วมกับครูคิดว่าอะไรต้องปรับ หรือต้องลด หรือต้องเพิ่ม ให้เลือกเฟ้น ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ให้ครูได้อยู่กับเด็ก เพราะคุณภาพอยู่ในห้องเรียน ทำให้ลงลึก ให้ดี ให้มีคุณภาพ ให้ได้สอนมากขึ้น ให้ ผอ.รร.ได้อยู่บริหารโรงเรียนมากขึ้น ให้โรงเรียนเลือกใช้ต่อยอดนวัตกรรมการเรียนการสอน เลือกใช้สื่อการสอนที่ใช้ได้ผลจริง ใช้ระบบการวัดประเมินผลที่จะมาทดแทน O-NET ปรับเปลี่ยนการประกันคุณภาพ การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
3) ต้องใช้กลไกและโครงสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นบอร์ดในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ ให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยโรงเรียนนำร่องต้องสะท้อนสภาพจริงให้ได้รับทราบเพื่อการส่งเสริมแก้ไขปัญหาและพัฒนาตามบริบทพื้นที่


ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ลุตฟีย์ สะมะแอ (ครูวิทยากรอิสลามศึกษา รร.บ้านเกล็ดแก้ว สพป.ยะลา เขต 2)

Facebook Comments
ความคืบหน้าการดำเนินงาน 8 ประเด็นที่เห็นในพื้นที่ : สบน. รายงานการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในครั้งที่ 2/2563สบน. เสนอ “ผลการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
บทความล่าสุด