เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี พ.ศ. 2564 - 2569

16 กรกฎาคม 2564

การประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 13/2564  ในเช้าวันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564 แบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม ZOOM Cloud Meetings ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องเพื่อทราบต่อที่ประชุมในวาระที่ 4 ใน 2 ประเด็น คือ

  1. เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 – 2568
  2. ผลการดำเนินเนินงานการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ผ่านมาและสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจบันของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ดร.พิทักษ์  โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้นำเสนอภาพรวมเบื้องต้นต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ ดร.เก ประเสริฐสังข์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการนำเสนอซึ่งรายละเอียดโดยสรุปที่นำเสนอต่อที่ประชุมในวันนั้นมีดังต่อไปนี้

เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 – 2568

คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 – 2568 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย (1) เป้าหมายการขยายผลของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ (2) เป้าหมายการพัฒนาเชิงคุณภาพของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้

1. เป้าหมายการขยายผลของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เป้าหมายการขยายผลของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ (1) เพิ่มสถานศึกษา  นำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดิม (2) เพิ่มจังหวัดใหม่ให้ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ (3) ถอดบทเรียนและขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น ซึ่งแต่ละลักษณะมีรายละเอียดดังนี้

1.1 เพิ่มสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดิม

1.1.1 เป้าหมายการขยายผลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กลุ่มที่ 1 (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) คือ ร้อยละ 80 ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กลุ่มที่ 1 (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง
1.1.2 เป้าหมายการขยายผลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กลุ่มที่ 2 (เชียงใหม่ กาญจนบุรี ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) คือ ร้อยละ 50 ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กลุ่มที่ 2 (เชียงใหม่ กาญจนบุรี ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง

1.2 เพิ่มจังหวัดใหม่ให้ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เป้าหมายการเพิ่มจังหวัดใหม่ให้ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ ไม่เกิน 3 จังหวัด

1.3 ถอดบทเรียนและขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น

1.3.1 นำร่องและทดลองการปฏิรูปการศึกษาในเรื่องสำคัญ
(1) ใช้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องทดลองหลักสูตรฐานสมรรถนะ ก่อนขยายผลและประกาศใช้ทั่วประเทศ
(2) ใช้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องทดลองระบบการประเมินวิทยฐานะที่สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นของครูในการคิดค้นและใช้นวัตกรรม ที่สอดล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะก่อนขยายผลและประกาศใช้ทั่วประเทศ

1.3.2 ขยายผลโดยนำนโยบายที่ดีจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปใช้ทั่วประเทศ

สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างอิสระในทุกด้าน โดยการนำนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปใช้ขยายผล โดยพิจารณาจากดัชนีการรับรู้ความอิสระในการบริหารจัดการตนเองของสถานศึกษา (School Autonomy Perception Index) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป

2. เป้าหมายการพัฒนาเชิงคุณภาพของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เป้าหมายการพัฒนาเชิงคุณภาพของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับนักเรียน (2) ระดับสถานศึกษา และ (3) ระดับพื้นที่ ซึ่งแต่ละระดับมีรายละเอียดดังนี้

2.1 ระดับนักเรียน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาช่วยยกระดับคุณภาพผู้เรียนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนา ดังนี้

2.1.1 นักเรียนทุกคนในระดับชั้นสูงสุดของทุกช่วงชั้นในสถานศึกษานำร่อง มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ ตามหลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนของสถานศึกษานําร่องที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้
(1) มีผลการประเมินในกลุ่มสมรรถนะพื้นฐาน (สมรรถนะในความฉลาดรู้พื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) อย่างน้อย 2 ด้าน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และอีก 2 ด้าน ที่เหลือไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ยกเว้นกรณีผู้เรียนเป็นเด็กพิเศษ
(2) มีผลการประเมินในกลุ่มสมรรถนะหลักทั่วไป (สมรรถนะทั่วไปด้านต่าง ๆ ที่เกิดจาก การประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติและคุณลักษณะอย่างบูรณาการ ในการคิด การทำงาน และการแก้ปัญหาในสถานการณ์หลากหลาย เช่น สมรรถนะด้านการจัดการตนเอง การสื่อสาร การคิดขั้นสูง การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง) อย่างน้อย 2 ด้าน ในระดับ “สามารถ” จากระดับสมรรถนะทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่ เริ่มต้น กำลังพัฒนา สามารถ และเหนือความคาดหวัง ยกเว้นกรณีผู้เรียนที่เป็นเด็กพิเศษ

2.1.2 นักเรียนในระดับชั้นสูงสุดของทุกช่วงชั้นในสถานศึกษานำร่อง มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่น้อยกว่าเดิม โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของคะแนนการประเมินในกลุ่มสมรรถนะพื้นฐานต้องไม่น้อยไปกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับการสอบครั้งแรก และช่องว่างระหว่างนักเรียนที่มีภูมิหลังต่างกันลดลง โดยพิจารณาจาก ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนสอบการประเมินในกลุ่มสมรรถนะพื้นฐานต้องลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับการสอบครั้งแรก

2.2 ระดับสถานศึกษา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาช่วยยกระดับคุณภาพสถานศึกษา โดยพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนา ดังนี้

2.2.1 สถานศึกษานำร่องทุกแห่งสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ได้ โดยพิจารณาจากดัชนีการมีส่วนร่วมของนักเรียนในห้องเรียน และนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ตามเป้าหมายการพัฒนาเชิงคุณภาพของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับนักเรียน
2.2.2 สถานศึกษานำร่อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เป็นสถานศึกษาแกนนำขยายผลแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการศึกษาไปสู่สถานศึกษาอื่น
2.2.3 สถานศึกษานำร่องทุกสถานศึกษาสามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างอิสระในทุกด้าน วัดด้วยดัชนีการรับรู้ความอิสระในการบริหารจัดการตนเองของสถานศึกษา (School Autonomy Perception Index) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป

2.3 ระดับพื้นที่ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนา ดังนี้

2.3.1 หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ในพื้นที่ที่สถานศึกษาตั้งอยู่ มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษานำร่อง วัดโดยดัชนีการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
2.3.2 ทุกจังหวัดมีกลไกการระดมทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เช่น การพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในสถานศึกษานำร่อง การขยายผลนวัตกรรมการศึกษาที่ดี และการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น
2.3.3 สถานศึกษานำร่องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมในพื้นที่เพิ่มขึ้นในด้านการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา และการระดมทรัพยากร วัดโดยดัชนีการสนับสนุนสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เป้าหมายที่วางเป็นเสมือนภาพความหวังทางการศึกษาที่เราทุกคนอยากจะเห็นที่เราทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างเป้าหมายนี้ร่วมกันขึ้นมา ต่อจากนี้ไปจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามารวมแรงร่วมใจกันพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข และดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ร่วมกัน

บทความต่อไปจะได้กล่าวถึง ผลการดำเนินเนินงานการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ผ่านมาและสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจบันของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 


 


ผู้เขียน:
เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์:
เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: 
ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนแม่แตง “MODERN MT Curriculum” เพื่อส่งเสริมการมีงานทำในศตวรรษที่ 21ชุมชนเป็นฐานสร้างการเรียนรู้ ผู้ปกครอง ครู ชุมชน ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง: โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล
บทความล่าสุด