ชุมชนเป็นฐานสร้างการเรียนรู้ ผู้ปกครอง ครู ชุมชน ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง: โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล

20 กรกฎาคม 2564

โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1  ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล  เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนทั้งหมด  96 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา วิสัยทัศน์ของโรงเรียนคือ รักท้องถิ่นเพื่อให้นักเรียนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ หวงแหนในถิ่นกำเนิดของตนเอง ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและร่วมกันพัฒนาชุมชนต่อไป  คนในชุมชนส่วนใหญ่มีแหล่งรายได้จากการหาอาหารทะเล และการแปรรูปอาหารทะเลต่าง ๆ

ในวันหยุดนักเรียนก็จะออกหาสัตว์ทะเลกับผู้ปกครองบ้าง เนื่องจากอยู่ติดกับชายทะเล บ้านบ่อเจ็ดลูกเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง เดิมทีใช้เรือในการโดยสารเดินทางเข้าออก แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านจึงทำให้การเดินทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น บ้านบ่อเจ็ดลูกยังมี แหล่งเรียนรู้  อุทยาน วิสาหกิจชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ  เช่น ปราสาทหินพันยอด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและเป็นที่รู้จักของอำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นต้น

นางญาดา นุ้ยไฉน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ได้จัดประชุมร่วมกับครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนการสอน การดำเนินงาน บทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนในการร่วมจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งเป้าหมาย/ความคาดหวัง คือต้องการให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีสมรรถนะและทักษะขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต สามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติ

นอกจากนี้ผู้อำนวยการและครูได้มีการจัดประชุมร่วมพูดคุยปรึกษากันสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพื่อคิดวิธีการจัดการเรียนการสอน สอบถามปัญหาและอุปสรรคที่ได้พบเจอและร่วมกันคิดวิธีการแก้ปัญหา และได้มีการจัดประชุมร่วมเพื่อพูดคุยกับผู้ปกครองเดือนละครั้งเช่นกัน

นวัตกรรมหลักที่โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกเลือกใช้คือ “ครูสามเส้า” ควบคู่ไปกับ “โครงงานฐานวิจัย” ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้ไม่ได้อาศัยครูเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมงานกันระหว่างครู ผู้ปกครองและคนในชุมชน ในบางครั้งหน้าที่การงานทำให้เกิดการปล่อยปะละเลยในตัวบุตรหลาน เมื่อผู้ปกครองได้ปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ การใส่ใจบุตรหลานมากขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น และการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน/อุทยาน โดยคนในชุมชนทำหน้าที่เป็นวิทยากร การให้ในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ครูสามเส้าเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เห็นว่าทุกฝ่ายมีความสำคัญ

โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกจัดทำหลักสูตรโดยวิเคราะห์ตัวชี้วัดจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ. ศ. 2551 แล้วนำไปบูรณาการให้เหมาะสมกับบริบทและวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และนำมาออกแบบแผนการสอนโดยนำเรื่องรอบตัวมาบูรณาการลงไปในแผนการสอนด้วย เช่น หน่วยโควิค เป็นการสอนให้นักเรียนได้รู้จักไวรัสโคโรนา (covid-19) และวิธีการป้องกัน การใช้ชีวิตในยุคโควิด หน่วยขยะ จะจัดขึ้นทุกวันพุธหรือวันศุกร์ โดยการสอน/จัดกิจกรรมให้นักเรียนรู้จักขยะ การคัดแยกขยะ การพานักเรียนไปรู้จัก/ทัศนศึกษาตามอุทยาน/แหล่งท่องเที่ยว เช่น อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล เพื่อให้นักเรียนรู้จักทรัพยากรณ์ที่สวยงามของท้องถิ่น และสอนให้เกิดสำนึกรักในถิ่นกำเนิดของตนเอง โรงเรียนยังให้ความใส่ใจในเรื่องการอ่านการเขียนของเด็กเป็นอย่างมาก เมื่อนักเรียนอ่านผิดหรือเขียนผิดรีบทำการแก้ไขโดยทันที ณ ตอนนั้น และเมื่อทำอย่างนี้อยู่สม่ำเสมอ จึงทำให้นักเรียนเคยชินและสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างถูกต้อง 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน นักเรียนมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เมื่อนักเรียนสนุกกับการเรียนมากขึ้นจึงทำให้จำนวนการขาดเรียนของนักเรียนลดน้อยลง มีวิจารณญาณในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนจัดกิจกรรมซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกอยู่เสมอ 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู ครูมีความเชี่ยวชาญในการเขียนแผนการสอนมากขึ้น มีแนวคิดที่เปิดกว้างในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning  ทำให้ครูมีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เนื่องจาก ครูต้องคิดค้นกิจกรรมใหม่ๆในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนาน 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง   คือ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับการจัดกิจกรรมของโรงเรียนมากขึ้น เนื่องจากนวัตกรรมครูสามเส้า ผู้ปกครองต้องร่วมเป็นครูให้กับนักเรียนด้วย ทำให้ครูและผู้ปกครองมีการประสานงานและร่วมพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้อำนวยการโรงเรียน คือ การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning  ทำให้ทุกฝ่ายได้รับการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ได้พูดคุยกับครูและร่วมคิดวิเคราะห์แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหาต่าง ๆ  ร่วมกันไปกับครู  ได้ติดต่อประสานงานและได้พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองและคนในชุมชนมากขึ้น ถือเป็นบทเรียนชีวิตบทหนึ่งที่ได้รับ ว่าการจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ผู้อำนวยการโรงเรียนมีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง และใส่ใจในการจัดการเรียนการสอนของครู ร่วมกันออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้ เปิดเวทีให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ ปลูกฝังให้นักเรียนรักในท้องถิ่นของตนเอง ทำให้นักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกมีความร่าเริง แจ่มใส กล้าแสดงออก และรู้สึกสนุกสนานในการเรียน มีทักษะขั้นพื้นฐานของการใช้ชีวิต มีความรักในถิ่นกำเนิด การที่ครู ผู้ปกครองและคนในชุมชนร่วมมือกันทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

 



ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: ญาดา นุ้ยไฉน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก
ผู้สัมภาษณ์: นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก จังหวัดสตูล

Facebook Comments
เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี พ.ศ. 2564 – 2569นาเกลือแห่งการเรียนรู้ สู่หลักสูตรบูรณาการอิงสมรรถนะ เชื่อมโยงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น: รร.บ้านตันหยงลุโละ
บทความล่าสุด