พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง สร้างอนาคตผู้เรียนด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

18 กุมภาพันธ์ 2025

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งได้บริหารและจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ปัจจุบัน มีสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งสิ้น 5 รุ่น จำนวน 88 แห่ง ซึ่งมีแนวคิดหลักของการดำเนินงานอยู่บนหลักการของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Transforming) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน โดยมีแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง พ.ศ. 2565 – 2569 ด้วยวิสัยทัศน์ “สร้างพื้นที่ปฏิบัติการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาตามบริบทวิถีชีวิตคนระยองด้วยกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ระยองเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” สู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยมีกระบวนการพัฒนา ดังนี้

  • สร้างกรอบแนวคิดหลักใหม่ของโรงเรียน
  • เปลี่ยนบทบาทผู้อำนวยการให้เป็นผู้นำทางวิชาการและเป็นผู้ชี้แนะการจัดการเรียนรู้
  • เปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้เพื่อศิษย์
  • เปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตและการเรียนรู้แบบใฝ่เรียนรู้
  • สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชั้นเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับชีวิตจริง
  • เปลี่ยนหลักสูตรให้อิงฐานสมรรถนะ
  • ใช้ระบบการวัดประเมินผลที่เน้นการปรับปรุงและพัฒนา

จากการขับเคลื่องานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง
ได้ดำเนินการดังนี้

  • จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีวาระสำคัญ ได้แก่ รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาการปรับใช้หลักสูตร หลักเกณฑ์ วิธีการและเครื่องมือในการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน โครงการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และโครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • เข้าร่วมประชุมรายงานผลการดำเนินโครงการวิจัยระบบการบริหารจัดการการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พบว่า นโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีเสถียรภาพ สถานศึกษานำร่องมีอิสระในการดำเนินงาน
  • เข้าร่วมการตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ด้วย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง
  • จัดงานเวทีบูรณาการหน่วยงานและกลไกพัฒนาเด็กและเยาวชนคนระยองสู่สากล ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 60 คน โดยนำเสนอเนื้อหาดังนี้ สถานการณ์เด็กและเยาวชนระยอง ต้นทุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนคนระยอง คุณลักษณะเด็กระยองสู่สากล พร้อมด้วยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิดหาแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนคนระยอง
  • จัดประชุมการประกันคุณภาพการศึกษา สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งได้มีการจัดทำประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการ และสรุปผลการวิเคราะห์ SAR
  • เข้าร่วมกิจกรรม “สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ควบคู่พัฒนาสมรรถนะครู สู่การยกระดับสมรรถนะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เด็กระยอง” โดยทีมนักวิจัย คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูที่เข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งได้จัดนิทรรศการและจัดทำเอกสารเผยแพร่ผลงานเพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ
  • นิเทศ ติดตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง รอบ 2 ซึ่งสถานศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถจัดทำแผนการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลที่สะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนได้อย่างถูกต้องชัดเจน
  • เข้าร่วมกิจกรรม online focus group ตามโครงการศึกษาและพัฒนาระบบกลไกหนุนเสริมการพัฒนากรอบหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ 8 จังหวัด ซึ่งทำให้พื้นที่มีข้อมูลในการสร้างการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management ให้เกิดขึ้นในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด
  • เข้าร่วมเสวนากิจกรรม TEP Forum 2024 “สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้: เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ” ทำให้ จ.ระยองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัดและระดับสถานศึกษา    
  • ร่วมจัดงานบันทึกข้อตกลงคุณลักษณะผู้เรียนระยองสู่สากล เพื่อจัดการศึกษาในบริบท จ.ระยอง ทำให้มีเครือข่ายการพัฒนาและสร้างการรับรู้ให้สถานศึกษามีแนวทางในการนำไปปฏิบัติ
  • กิจกรรมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
  • อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูสถานศึกษานำร่องในการสร้างเครื่องมือสำหรับประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมถอดประสบการณ์การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาผู้เรียนในมุมมองของผู้สร้างและผู้ใช้ พร้อมกับศึกษารูปแบบข้อสอบและวิธีการทดสอบ
    สร้างความเข้าใจแนวทางการออกแบบทดสอบที่เน้นสมรรถนะ กิจกรรมการจัดทำ Test blueprint

จากการร่วมกันขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง
มีนวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัด และระดับสถานศึกษาที่เป็นต้นแบบได้ โดยมีข้อมูลประกอบ ดังนี้
1. นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัด ที่เป็นต้นแบบได้
ชื่อนวัตกรรม : กลไกหนุนเสริมงานวิชาการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
จุดเด่น : เป็นกลไกเฉพาะของด้านวิชาการ ที่มีส่วนสร้างความเป็นเจ้าของของคนในพื้นที่
โดยอาศัยกระบวนการ DE ต้นน้ำ สร้างเป้าหมายร่วมกัน ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเป้าหมายคือ การทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ โดยใช้กระบวนการ DE กลางน้ำและปลายน้ำมาสะท้อนผลการดำเนินงานพร้อมปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ช่วยแก้ปัญหา/ช่วยพัฒนา :

  • เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาผ่านกลไกหนุนเสริมวิชาการของโค้ชแกนนำในพื้นที่
  • เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษานำร่องมีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้และนวัตกรรมการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

2. นวัตกรรมการศึกษาระดับสถานศึกษานำร่อง ที่เป็นต้นแบบได้
ชื่อนวัตกรรม : การพัฒนาโรงเรียนเทศบาลบ้านปากคลอง  สังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นโรงเรียนแห่งการมีวินัย คุณธรรม จริยธรรม โดยใช้รูปแบบ CHARUN Model
จุดเด่น : เป็นนวัตกรรมด้านการบริหารและการบริการของงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ซึ่งส่งเสริมพัฒนาด้านระเบียบวินัย มีคุณธรรมและจริยธรรม ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ สามารถคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงในชีวิตประจำวัน
ช่วยแก้ปัญหา/ช่วยพัฒนา :

  • ช่วยให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
  • ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ก่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูผู้สอนมีเทคนิคในการสร้างขวัญ
  • กำลังใจ ส่งผลให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ชื่อนวัตกรรม : สร้างนวัตกรรมผ่าน Bankhai PBL เน้นภาษาในการสื่อสาร
จุดเด่น : เป็นนวัตกรรมที่ใช้ภาษาในการสื่อสาร เพื่อมุ่งหวังผู้เรียนสามารถคิดเป็น สร้างสรรค์นวัตกรรมได้และเป็นคนดี มีคุณค่าต่อสังคม โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเป็นกระบวนการในห้องเรียนโดยตรง อาศัยพื้นที่เป็นฐาน ซึ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติจริง มีกระบวนการทำงาน 8 ขั้นตอน คือ 1) สำรวจ สังเกตสิ่งรอบตัว 2) ยั่วยุ จับกลุ่ม แยกแยะ 3) คุ้ยแคะ ตั้งโจทย์ 4) การอัปโหลดข้อมูล
5) แยบยลดำเนินการ 6) เพิ่มพูนแปลผล 7) สรุปผลการศึกษาและรายงาน 8) ถอดบทเรียน และฝึกจิตอาสา
ช่วยแก้ปัญหา/ช่วยพัฒนา :

  • ผู้เรียนรู้จักตั้งคำถามที่สำคัญหรือเป็นคำถามที่มีความหมาย มีเหตุมีผล กระตุ้นการเรียนรู้ หรือเกิดการพัฒนาตนเองและมุ่งสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น
  • เกิดทักษะการเรียนรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นทีม ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของเพื่อนร่วมชั้น เกิดทักษะการคิด วิเคราะห์และสรุปผลก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น

3. การมีส่วนเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือยังสถานศึกษานำร่องของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กขน.)
คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือยังสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในเรื่องของการพัฒนาครู การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร
การสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน บทบาทของเทคโนโลยีต่อการประเมินคุณภาพผู้เรียน การใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น การใช้ปรากฎการณ์เป็นฐาน ร่วมกับเทคโนโลยี AI การพัฒนาครูผู้สอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศักยภาพการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของผู้เรียน โดยมีโค้ชแกนนำเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ส่งเสริมให้มีการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมการออกแบบกรอบแนวคิด แนวทางการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและให้ความช่วยเหลือ ติดตามสถานศึกษานำร่องให้สามารถพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งเน้นในผู้เรียนมีสมรรถนะ

4. การเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษานำร่อง/พัฒนาการเรียนที่ดีขึ้นของผู้เรียนจากการจัดการเรียนการสอน
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ร่วมกับโค้ชแกนนำ โดยการร่วมส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม ให้ความช่วยเหลือพร้อมให้คำแนะนำ โดยกระบวนการหรือวิธีการที่หลากหลาย จึงส่งผลให้สถานศึกษานำร่องมีการเปลี่ยนแปลงและสามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้ดี เกิดประสิทธิภาพต่อผู้เรียน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • การพัฒนาหลักสูตร : โดยการออกแบบ วางแผน อบรมพัฒนาครูให้มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรประเภทที่ 1-3 พร้อมลงนิเทศ ติดตามให้คำแนะนำ และมีคณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตร เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะให้สถานศึกษาปรับหลักสูตรให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ส่งผลให้สถานศึกษานำร่องมีหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน
  • การจัดกระบวนการเรียนรู้ : โดยการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ลงพื้นที่นิเทศ ติดตามและให้ข้อเสนอแนะ ส่งผลให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สามารถนำองค์ความรู้ไปจัดการเรียนให้ผู้เรียนได้ตรงกับเป้าหมายและใช้กระบวนการ PLC ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ
  • การวัดและประเมินผล : โดยใช้กระบวนการอบรมและกระบวนการ PLC ในการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่สามารถวัดความฉลาดรู้ตามแนวทาง PISA ทำให้สถานศึกษามีการเตรียมความพร้อมผู้เรียนเพื่อรองรับการประเมิน และเริ่มมีการใช้เครื่องมือวัดสมรรถนะในสถานศึกษา

5. การใช้ความอิสระของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
การใช้ความอิสระของการเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยใช้ในเรื่องของ การขอความเห็นชอบหลักสูตร การจัดหาสื่อ หนังสือเรียนนอกเหนือจากรายการที่ สพฐ. กำหนด และการประกันคุณภาพภายนอก ส่งผลให้สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ตามความมุ่งหวังของชุมชน มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน และมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับห้องเรียนของตนเอง เรียนรู้ผ่านบทเรียนใหม่ น่าสนใจ เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งพบตัวอย่างของสถานศึกษานำร่องที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่

  1. โรงเรียนบ้านสมานมิตร สังกัด สพป.ระยองเขต 1 โดนเด่นเรื่อง หลักสูตรที่บูรณาการกับสิ่งแวดล้อม
  2. โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 8 สังกัด สพป.ระยองเขต 1 โดดเด่น เรื่อง กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ สามารถแก้ปัญหาผู้เรียนได้
  3. โรงเรียนวัดถนนกะเพรา สังกัด สพป.ระยองเขต 2 โดดเด่น เรื่อง กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เช่น การทำอาหารท้องถิ่น
  4. โรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา สังกัด สพม.ชลบุรี ระยอง โดดเด่น เรื่อง กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เช่น การทำกะปิ ปลาหมึกตากแห้ง

ผู้เขียนขอขอบคุณ และขอชื่นชมพร้อมเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ผู้บริหารสถานศึกษานำร่องตลอดจนถึงคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนงานตามโจทย์ของความเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งผลให้ผู้เรียนซึ่งเปรียบเสมือนบุตรหลานได้รับการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อันเป็นการส่งเสริมและต่อยอดหรือจุดประกายความรู้ให้ผู้เรียนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนสามารถค้นพบศักยภาพของตนเองและรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น ส่วนผลที่เกิดกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อาจส่งผลให้ผู้เรียนพบแนวทางในการเลือกเรียนสาขาที่ตนถนัดและสนใจ อันเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ผู้เรียนและครอบครัวได้ในอนาคต

 


ที่มา:นางสาวสุทธิมาศ อภิรักษ์วณิชย์
ผู้เขียน&กราฟิกดีไซน์เนอร์: นางสาวปราชญาพร แช่ใจ

แม่ฮ่องสอนสร้างสรรค์นวัตกรรม ปลดล็อกการศึกษาพื้นที่ห่างไกล“ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ร่วมประชุมฝ่ายเลขานุการฯ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 20 จังหวัด