จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโครงการสร้างการบริหารงานตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำหนด โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์และด้านวิชาการ มีคณะทำงานในเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมีคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 3 แห่ง (เขตพื้นที่ประถมศึกษา 2 แห่ง และเขตพื้นที่มัธยมศึกษา 1 แห่ง) มีการจัดตั้งกลุ่มสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารงานภายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นระบบสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการบริหารงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละแห่ง ในการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกัน ในการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 คือ
กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 จำนวน และ โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 14 แห่ง
กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวน 13 แห่ง
กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน จำนวน 6 แห่ง
กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย สถานศึกษากลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 จำนวน 4 แห่ง กลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะ โดยเป็นการจัดการศึกษาที่กระจายการศึกษาไปตามย่อมบ้านชุมชนที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร เด็กเยาวชนเข้าถึงการศึกษาด้วยความยากลำบาก จึงเกิดแนวคิดในการจัดการศึกษาให้กับประชากรในถิ่นทุรกันดารได้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยจัดให้มีห้องเรียนต่าง ๆ ตามย่อมบ้านที่อยู่ห่างไกล และห้องเรียนเหล่านั้นรวมกันเรียกชื่อว่าโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอนั้น ๆ ซึ่งมีอยู่ 4 อำเภอ ได้แก่ โรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอปาย, โรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอปางมะผ้า, โรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และโรงเรียนเขตพื้นที่การศึกษาอำเภอขุนยวม
ผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ นวัตกรรมด้านการบริหารการศึกษา จำนวน 5 แห่ง และนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน จำนวน 32 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาที่มีความหลากหลายและมีความโดดเด่นภายใต้บริบทพื้นที่และปัจจัยเกื้อหนุนที่แตกต่างกัน
นวัตกรรมด้านการบริหารการศึกษา ได้แก่
1. การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพโดยใช้รูปแบบการบริหารการจัดการศึกษา OPEN MIND MODEL ของโรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1
2. การพัฒนาโรงเรียนสังวาลย์วิทย์ 3 ด้วยรูปแบบ SW3+W MODEL ของโรงเรียนสังวาลย์วิทย์ 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1
3. การขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับนักเรียน กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงและชายแดน ด้วยรูปแบบ “ โรงเรียนมัธยมศึกษาชายแดน โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน
4. รูปแบบการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา สู่ความเป็นเลิศ โดยใช้ PWTK Model ของโรงเรียนปายวิทยาคาร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน
5. D. SMART Innovation ของโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน
นวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น
1. ห้องสอนจักรวาลนฤมิตโมเดลสู่การจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ ของโรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน
2. กระบวนการจัดการเรียนรู้บันไดทักษะ 5 ขั้น เพื่อพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ ของโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
3. การพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาตามแนวทางโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนขุนยวมวิทยา ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนขุนยวมวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน
4. การพัฒนาภาพผู้เรียนโรงเรียนขุนยวม สู่วิถีการปฏิบัติที่ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรม “สามัคคี สร้างคนดี MODEL”ของโรงเรียนขุนยวม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1
จากการที่สถานศึกษาได้เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น สถานศึกษาเกิดการพัฒนาโดยมีความพยายามดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 4 ประการ คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและขยายผลสู่โรงเรียนอื่น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การกระจายอำนาจและการสร้างกลไกความร่วมมือทางการศึกษา โดยได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพื้นที่นวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และสถานศึกษานำร่องทุกแห่งได้นำไปจัดทำแผนปฏิบัติราชการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัด เพื่อรองรับการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนที่ได้รับจัดสรรได้อย่างถูกต้อง มีการนำไปใช้จ่ายเพื่อการจัดหาสื่อ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับจัดการเรียนสอน และการจัดกิจกรรมพัฒนาครูและนักเรียนภายในสถานศึกษาตนเอง แต่ก็มีสถานศึกษาหลายแห่งที่ต้องการให้มีการปลดล็อกการใช้จ่ายงบประมาณที่สามารถข้ามหมวดกันได้ เพื่อให้สถานศึกษาเกิดความคล่องตัวในการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างสะดวกตามความต้องการของสถานศึกษา
สถานศึกษามีการวิเคราะห์ผู้เรียน และคิดค้นสื่อ เครื่องมือ วิธีการ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาผู้เรียนในด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของความแตกต่างทางการเรียนรู้ วัฒนธรรม
ชนเผ่าชาติพันธ์ที่หลากหลาย และบริบทความเป็นอยู่เชิงพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานและทรัพยากรทุนเดิมที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทฤษฎีการเรียนรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ในรูปแบบ Project base Learning ด้วยชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและความร่วมเป็นอย่างดี ที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาสมรรถนะในด้านต่าง ๆ ตามหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งอยู่ในระหว่างที่สถานศึกษากำลังพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรที่สามารถเชื่อมโยงสมรรถนะ 5 ด้านตามหลักสูตรแกนกลาง 2551 เดิม ไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 ด้านใหม่ โดยนำไปสู่แผนการจัดการเรียนรู้ และออกแบบเครื่องมือวัดและประเมินผลตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดใน 4 ระดับ คือ ริเริ่ม กำลังพัฒนา สามารถ และเหนือความคาดหวัง โดยมีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะให้กับผู้เรียนที่หลากหลาย ได้แก่ โครงงานอาชีพ โครงงานวิทยาศาสตร์ กิจกรรมทักษะชีวิต กิจกรรมชุมนุม และกิจกรรมอื่นตามบริบทพื้นที่ เป็นต้น
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำความคิดสร้างสรรค์และการบริหารจัดการที่มีเป้าหมายชัดเจนมาปรับใช้ในบริบทเฉพาะพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมและยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับนักเรียนทุกกลุ่ม ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งสถานศึกษาหลายแห่งมีโมเดลด้านการบริหารจัดการที่ใช้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนภายสถานศึกษาได้อย่างหลากหลาย มีการจัดกิจกรรม PLC ภายในโรงเรียน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนร่วมกับชุมชน และจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกันจัดเวทีเพื่อการนำเสนอผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน สะท้อนผลประสบการณ์ซึ่งกันและกันของสถานศึกษานำร่องทุกแห่งภายในจังหวัด เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือและการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมอย่างหลากหลายและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
ผู้เขียน: นายสมคิด ศรีธร
กราฟิกดีไซน์เนอร์: นางสาวยลดา คำโสภา