คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์สถานการณ์ รร.ดาราวิทยาลัย ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่ อย่างเป็นระบบ

18 ธันวาคม 2563

คณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ หาญวงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษรี เพ่งเล็งดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง อาจารย์ ดร.ภักดีกุล รัตนา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ เขียนงาม พร้อมคณะ เข้าวิเคราะห์สถานการณ์ของโรงเรียนดาราวิทยาลัย หนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ ณ ห้องประชุมโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี โรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทยาลัย ดร.ชวนพิศ เลี้ยงประไพพันธ์ และทีมงานให้การต้อนรับ

รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า โรงเรียนดาราวิทยาลัยดำเนินการมาถูกทาง คือมีการออกแบบการเรียนโดยใช้นักเรียนเป็นฐาน ลดบทบาทครูลง นำเอาปัญหารอบตัวมาบูรณาการเข้าสู่ห้องเรียน และหาหนทางให้นักเรียนค้นพบอาชีพได้โดยเร็ว ซึ่งการออกแบบใหม่นี้จะทำให้นักเรียนไปได้ไกลในทางที่เลือก นอกจากนั้นยังสามารถดึงทั้ง 8 กลุ่มสาระมาสอนในเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์ได้อีกด้วย

สถานการณ์ของโรงเรียนดาราวิทยาลัย

คุณครูรวิวรรณ ทองศรีแก้ว หัวหน้างานหลักสูตรและการสอน กล่าวถึงการดำเนินงานของโรงเรียนดาราวิทยาลัยว่า เมื่อปี 2562 ทางโรงเรียนได้ทำการอบรมแบบเชิงลึกเพื่อพัฒนาครูแกนนำโดยการใช้ DARA Thinking Model ในการพัฒนาครูก่อน พร้อมทั้งมีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่เสมอเพื่อให้เป็นไปตามความเป้าหมายของทางโรงเรียน

การปรับตัวในช่วงโควิด-19

ในช่วงโควิต-19 โรงเรียนดาราวิทยาลัยได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการ ซึ่งเแพตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่แบ่งปันไอเดียในการสอน แบ่งเป็น 3 ส่วน 1) เป็นพื้นที่ให้ความรู้ 2) เป็นพื้นที่ให้ครูเข้ามาแบ่งปันไอเดีย และ 3) เป็นช่องทางการพูดคุยปรึกษาหารือด้านการสอน โดยแพตฟอร์มนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา

ในปี 2563 ทางโรงเรียนได้ริเริ่มการเผยแพร่นวัตกรรมที่ตนได้ทำขึ้น ซึ่งได้จัดทำพ็อดคาสท์ (Podcast) ซึ่งเป็นรายการที่เผยแพร่เสียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สามารถรับฟังได้ทุกที่ทั่วโลก โดยพ็อดคาสท์ของดาราวิทยาลัยนี้ได้เผยแพร่เสียงของนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และครูที่มาสะท้อนคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ทำอยู่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือครู เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจในการสอนให้แก่ครู

การสอนของโรงเรียนดาราวิทยาลัย

คุณครูรวิวรรณ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ทางโรงเรียนได้เพิ่ม “การรู้ รับ ปรับ เปลี่ยนกับห้องเรียนที่ออกแบบได้” โดยใช้ Design Thinking ซึ่งต้นแบบของเราคือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) “เสน่ห์ของ Design Thinking คือล้มเร็ว เริ่มต้นแล้วเอาใหม่ทำใหม่ อย่ากลัวการล้มเหลว”

ต่อมานำมาปรับใช้ในห้องเรียน 2 แบบด้วยกัน 1) จัดตั้งวิชาใหม่ขึ้นมา ซึ่งวิชานี้มีตัวชี้วัดที่ไม่ใหญ่มาก เป็นการให้นักเรียน 2 ห้องช่วยกันสร้างโครงงานเล็ก ๆ หลังจากนั้นมีการต่อยอดโดยให้นักเรียนทุกห้องจัดทำโครงงานห้องละประมาณ 10 โครงงาน และเปลี่ยนหัวข้อใหม่เป็น “โปรเจกต์เล็ก ๆ แก้ปัญหาอะไรก็ได้รอบตัว” การคิดโปรเจกต์ของนักเรียนจะไม่กำหนดกรอบความคิด โดยครูจะเป็นเพียงผู้คอยให้คำปรึกษา ทำให้นักเรียนเลือกในสิ่งที่สนใจได้อย่างเต็มที่ เช่น การทำเกม 2D การทำนิทานอักษรเบลเพื่อให้เด็กพิการทางสายตาได้อ่านหนังสือ การทำสื่อการสอนเรื่องพันธะเคมีให้เพื่อนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น การคิดค้นวิธีการลดไขมันในน้ำนมวัวดิบ แต่ยังคงความอร่อยและคุณค่าทางอาหารเหมือนเดิม และโปรเจกต์อื่น ๆ 2) โรงเรียนดาราวิทยาลัยมีการขับเคลื่อนนำเอา Design Thinking เข้าไปสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ยังมีคุณครูธิดารัตน์ อิงคนันทวารี ครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และคุณครูอรุณ สุวรรณ์ ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าร่วมให้ข้อมูลการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอีกด้วย


ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, ปนัดดา ไชยศักดิ์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปนัดดา ไชยศักดิ์

Facebook Comments
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หนึ่งในนโยบายหลักด้านประสิทธิภาพ ของ สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงพื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่
บทความล่าสุด