7 ข้อค้นพบสู่ระบบบริหารจัดการใหม่ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ปีการศึกษา 2564

18 มิถุนายน 2564

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ให้ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านเขาจันทร์ (หมู่บ้านคชานุรักษ์) ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอ เขาชะเมา จังหวัดระยอง เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก มีนักเรียนทั้งหมด 101 คน โรงเรียนรายล้อมด้วยธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาระหว่างเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

7 ข้อค้นพบจากปีการศึกษา 2563

ช่วงแรกๆ ของปีการศึกษา 2563 เรามีการปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง การปรับเปลี่ยนสำคัญได้แก่การปรับหลักสูตรสถานศึกษาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เราไม่วัดผลการเรียนรู้ของเด็กด้วยตัวชี้วัด แต่เราพยายามจะวัดเป็นสมรรถนะคือสิ่งที่เด็กทำเป็นทำได้ และนำไปใช้ได้จริง ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิธีการเปลี่ยนอย่างง่ายที่สุดทำได้โดยไม่สอนรายชั่วโมงแต่จัดการเรียนรู้เป็นหน่วยการเรียน แต่ละหน่วยใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เมื่อจบหน่วยมีการวัดสมรรถนะโดยให้นักเรียนทำกิจกรรมในสถานการณ์หลากหลาย เช่น หน่วยไข่ต้ม กิจกรรมประเมินสมรรถนะได้แก่การจัดเวทีให้นักเรียนต้มไข่ตามใจผู้ประเมิน ลักษณะเป็นโจทย์หน้างานที่นักเรียนไม่มีโอกาสรู้ว่าจะต้องต้มไข่แบบไหนบ้าง หรือหน่วยนักข่าวน้อย ก็จัดกิจกรรมเสมือนห้องข่าว แล้วให้นักเรียนจับฉลากเลือกข่าวที่ต้องอ่าน เช่น ข่าวกีฬา ข่าวท้องถิ่น เป็นต้น หลังจากนั้นให้เวลานักเรียนเตรียมตัวหาข่าว อ่านข่าว แล้วก็ประเมินสิ่งที่นักเรียนทำเป็นทำได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและมองเห็นความสำเร็จหลายด้าน

ตลอดเวลา 1 ปีการศึกษาของบุคลากรโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยทำให้ทุกคนได้ข้อค้นพบหลายประการ ดังนี้

ประการที่ 1 การจัดการศึกษาต้องมีเป้าหมายชัดเจน และตอบโจทย์บริบทสถานศึกษา  

เราหลีกหนีความเป็นจริงหลายๆ อย่างของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยไม่ได้ เราเลยเรียกความเป็นจริงเหล่านี้ว่า “บริบทโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย” เช่น ด้านครูที่มีไม่ครบวิชาเอก ด้านนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบธรรมชาติป่าเขา เป็นเส้นทางของช้างป่า ดังนั้นโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยต้องอยู่ให้ได้ในบริบทนี้ด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองหรือ Rayong MARCO ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากปรากฏการณ์ บริบทรอบตัวนักเรียนเป็นตัวตั้ง แล้วเชื่อมโยงไปสู่วิชาการและวิชาชีพ

ประการที่ 2 ต้องมีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

การปรับเปลี่ยนของผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และต้องเกิดการปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน สิ่งสำคัญคือต้องมีการสื่อสารที่ทันเหตุการณ์ เรียกได้ว่า เปลี่ยนนิดเปลี่ยนหน่อยก็ต้องบอกกันให้รู้ว่าทำไมต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วจะเกิดผลดีกับทุกๆ คน อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเปลี่ยนหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ ปรับเปลี่ยนไม่เรียนเป็นชั่วโมง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยปรากฏการณ์จริงให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ก่อนแล้วเชื่อมโยงไปหาหนังสือเรียน ปรับเปลี่ยนนักเรียนให้เป็นผู้เรียนรู้สืบค้นความรู้ความจริงด้วยตนเองไม่ใช่ครูบอก เป็นต้น เหล่านี้ก็ต้องบอกกล่าวกันให้รู้โดยทั่วถึงกันด้วยวิธีการสื่อสารที่หลากหลาย เช่น เชิญประชุม ฝากนักเรียนไปบอกผู้ปกครอง เชิญผู้ปกครองเข้ามาช่วยสอนหรือเป็นกรรมการประเมินสมรรถนะนักเรียน เป็นต้น การบอกกล่าวทั้งหลายหากบอกตรงๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาศิลปะในการบอกที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามธรรมชาติการรับรู้ของแต่ละบุคคล 

ประการที่ 3 การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ ครูต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนด้วยตนเอง

ครูเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนการสอนด้วยตนเอง บังคับไม่ได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ค้นหาสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนทีละเล็กละน้อย ตัวอย่างเช่น การยกเลิกการเรียนรายชั่วโมง ทำได้ง่ายก็เปลี่ยนเรื่องนี้ก่อน โดยครูต้องเป็นผู้ตัดสินใจมองอย่างรอบด้านว่าการไม่สอนเป็นรายชั่วโมงดีกับนักเรียนและครูอย่างไร ถ้าครูเห็นว่าดีกับทุกฝ่าย ครูก็จะยินดีและพร้อมใจกันปรับเปลี่ยน เป็นต้น ต่อมาเมื่อไม่เรียนเป็นรายชั่วโมงก็ต้องเรียนเป็นหน่วยการเรียนรู้ แล้วจะมีหน่วยอะไรบ้างเราก็คุยกันทั้งโรงเรียนว่าถ้าเราจะพัฒนานักเรียนให้เกิดผลลัพธ์ตามจุดเน้นของโรงเรียน “สร้างวิถีแห่งชีวิตสมดุล” นักเรียนจะต้องเรียนรู้ผ่านหน่วยการเรียนรู้อะไรบ้าง ตอนนั้นเรายังมอง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วย สมรรถนะด้วย กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองด้วย ครูก็กำหนดหน่วยการเรียนรู้ขึ้นมา 8 หน่วยการเรียนรู้ ในเวลา 1 ปีการศึกษา ก่อนจะใช้หน่วยการเรียนรู้เหล่านั้น เราก็มีหน่วยสาธิตหน่วยแรก ใช้เวลาเรียน 1 สัปดาห์ ชื่อว่า “หน่วยกล้วย” เป็นหน่วยทดลองว่าถ้าเราจะสอนเป็นหน่วย เรียนรู้จากชีวิตจริง ให้นักเรียนทำเป็นทำได้ ใช้ได้จริง จะต้องทำอย่างไรบ้าง ครูที่สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็จะทำงานกันเป็นทีม ลงมือปฏิบัติการพานักเรียนไปเรียนรู้ที่สวนกล้วยในชุมชน และเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกทักษะต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น กำหนดเรื่องที่จะเรียน จดบันทึก สอบถาม สื่อสาร และสร้างชิ้นงาน เป็นต้น เมื่อจบหน่วยนักเรียนแสดงพฤติกรรมเชิงบวกที่ทำให้ครูประทับใจ นักเรียนร่าเริงแจ่มใส มีความกระตือรือล้น แสดงความคิดเห็น เป็นผู้นำกิจกรรม และอื่นๆ อีกหลายอย่าง จึงเป็นแรงบันดาลใจและการตัดสินใจเลือกการจัดการเรียนรู้เป็นหน่วยการเรียนรู้นับตั้งแต่นั้นมาภายใต้แนวคิดของเราคือ “สมรรถนะสร้างได้ถ้านักเรียนมีโอกาสเผชิญเหตุที่ท้าทายและหลากหลาย” 

ประการที่ 4 การออกแบบชั้นเรียนจำเป็นต้องให้เหมาะสม สอดคล้องกับวัยและพัฒนาการของนักเรียน 

เราเคยจัดชั้นเรียนแบบเดิม คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรียงตามอายุของนักเรียน แต่เราได้ข้อค้นพบโดยบังเอิญเนื่องจากเรามีครูไม่ครบชั้น เราจึงให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 รวมกันเป็นห้องเรียนเดียวกัน แล้วจัดกลุ่มคละและจัดกิจกรรมเดียวกันเรียนรู้ไปพร้อมกัน ผลปรากฏว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บางคนเรียนรู้ได้ดีกว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนที่ได้ชื่อว่าเรียนเก่ง สอบเก่ง ทำกิจกรรมไม่ได้ แต่นักเรียนที่ไม่เก่งและถูกจัดว่าเป็นนักเรียนหลังห้องกลับเป็นผู้นำในการทำกิจกรรม ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ส่วนใหญ่ทำงานไม่ทันพี่ชั้นอื่น บางกลุ่มพี่ก็จะสอนน้องได้ บางกลุ่มพี่ไม่รอน้อง ประเด็นเหล่านี้เราจึงนำมาออกแบบชั้นเรียนใหม่ให้ถูกจริตกับนักเรียนและเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2564 

ประการที่ 5 ต้องหาวิธีส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูทำหน้าที่เป็นโค้ช

สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดสมรรถนะตามหลักสูตรของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ช ไม่ใช่ผู้สอนแบบเดิม สิ่งที่เราค้นพบคือการทำหน้าที่โค้ช ไม่ใช่เรื่องง่าย ครูจำเป็นต้องมีตัวช่วยมากมาย เพราะความจริงคือครูเป็นโค้ชไม่ได้ทุกเรื่องทุกสมรรถนะ อีกประการหนึ่งคือโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในระบบดิจิทัลมีสื่อการเรียนรู้ application ต่างๆ มากมาย เราจึงมองว่าในโลกแห่งความเป็นจริง นักเรียนต้องแสวงหาช่องทางหรือโอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เราจึงมองหา application ที่เหมาะสมมาใช้เป็นเครื่องมือของครูในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน นอกจากนี้เรายังพบว่าการจัดการเรียนรู้แบบสมรรถนะนี้จำเป็นต้องใช้สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ จำนวนมาก และต้องเพียงพอกับนักเรียนทุกคน ถ้ายังมีอุปสรรคเหล่านี้ การจัดกิจกรรมของครูจะไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ราบรื่น กลายเป็นสภาพปัญหาและจะไม่ดำเนินการสานต่อ สิ่งที่จำเป็นในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูอีกประการหนึ่งได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาประจำหน่วย ตัวอย่างเช่น หน่วยนักข่าวน้อย เราเชิญนักจัดรายการวิทยุ และนักข่าว มาเป็นที่ปรึกษา หน่วยการเรียนรู้นี้ครูออกแบบร่วมกับที่ปรึกษา และได้นำนักจัดรายการวิทยุ นักข่าวมาสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และตอบคำถามในสิ่งที่เด็กอยากรู้ จนในที่สุดเด็กสามารถจัดทำ “เสียงตามสาย” ในโรงเรียนเองได้ และอีกหลายๆ หน่วยที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของเรา หน่วยสุดท้ายที่เราทำคือหน่วยนักวิจัยน้อยคชานุรักษ์ เป็นหน่วยที่ใหญ่ที่สุด ใช้เวลา 6 สัปดาห์ มีนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 15 คน เข้ามาออกแบบและจัดกิจกรรมร่วมกับครู ผลลัพธ์ที่ปรากฏกับเด็กที่เห็นชัดเจนคือเด็กเป็นผู้เรียนรู้ สร้างนวัตกรรมของตนเอง มีแรงบันดาลใจในการเป็นจิตอาสา เข้าใจบริบทการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่ นับว่าเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่ทำให้โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยรับรู้ว่าการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ต้องมีระบบสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิภาพให้กับครู ได้แก่ 1) ระบบ application 2) สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ 3Ff) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ

ประการที่ 6 ต้องมีการสะสมร่องรอยที่สะท้อนพัฒนาการของนักเรียน

ผลลัพธ์ที่เป็นสมรรถนะเป็นสิ่งที่มองแวบเดียวหรือถามด้วยข้อสอบไม่ได้ ต้องมีการแสดงออก ร่องรอยหลักฐานสนับสนุนที่หลากหลาย จึงจำเป็นต้องมีคลังรวบรวมข้อมูลพัฒนาการของนักเรียน เราจึงนำ  E-Portfolio มาทดลองใช้กับนักเรียนและครู แต่เนื่องจากในช่วงต้นปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยมีคอมพิวเตอร์เพียง 4 เครื่อง และนักเรียนบางคนไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร ไม่มีโทรศัพท์ ทำให้เกิดอุปสรรคมากมายในการนำร่องรอยการเรียนรู้ของนักเรียนไปไว้ใน E-Portfolio ต่อมาช่วงปลายปีการศึกษา 2563 เราได้รับความเมตตาจากหลายฝ่ายทำให้มีคอมพิวเตอร์เพียงพอต่อการใช้งาน จำนวนทั้งสิ้น 20 เครื่อง จึงทำให้การใช้งาน E-Portfolio ราบรื่นขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกคือไม่มีระบบในการกำหนดชิ้นงานประเมินสมรรถนะที่ชัดเจน เราก็ต้องมาเรียนรู้และปรับระบบกันใหม่ในปีการศึกษา 2564 นี้ต่อไป

ประการที่ 7 นักเรียนเรียนรู้ได้ดีจากสภาพจริงรอบโรงเรียน

แม้ว่าโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจะตั้งอยู่ในชุมชนของนักเรียน นักเรียนมาโรงเรียนทุกวัน เวลาพักกลางวันนักเรียนก็จะวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณโรงเรียนนั้น แต่จากการสังเกตของครู พบว่า การทำกิจกรรมในห้องเรียนไม่น่าสนใจ เหมือนการพานักเรียนมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ยกตัวอย่างเช่น การเดินป่า แม้ว่าจะร้อนและเหนื่อยมาก แต่นักเรียนก็จะกระตือรือร้นตลอด มองเห็นความหลากหลายทางธรรมชาติ จำและบอกชื่อต้นไม้ในป่าได้แม่นยำ บอกร่องรอยของช้างป่าและสัตว์ป่าได้ดี นอกจากนี้ในหน่วยพื้นที่โรงเรียน นักเรียนได้วัดพื้นที่ของโรงเรียนจริงๆ ทำให้นักเรียนต้องออกแบบและใช้ทักษะที่หลากหลายนอกเหนือตำราเรียนมาใช้ในการวัดพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโรงเรียน แต่นักเรียนกลับไม่เบื่อ เต็มใจทำ เต็มใจเรียนรู้ จึงแสดงให้เห็นว่าสภาพจริง สถานการณ์จริง ความเป็นจริงรอบตัวนักเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีสำหรับนักเรียน 

บทสรุป ข้อค้นพบทั้ง 7 ประเด็น

  1. การจัดการศึกษาต้องมีเป้าหมายชัดเจนและตอบโจทย์บริบทสถานศึกษา
  2. ต้องมีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
  3. การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ครูต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนด้วยตนเอง
  4. การออกแบบชั้นเรียนจำเป็นต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการของนักเรียน
  5. ต้องหาวิธีส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูทำหน้าที่เป็นโคช
  6. ต้องมีการสะสมร่องรอยที่สะท้อนพัฒนาการของนักเรียน
  7. นักเรียนเรียนรู้ได้ดีจากสภาพจริงรอบโรงเรียน

นับว่าเป็นข้อค้นพบที่มีคุณค่าต่อการปรับระบบบริหารจัดการใหม่โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ในปีการศึกษา 2564 ให้เป็นระบบการบริหารที่ดีและเอื้อต่อการตอบโจทย์หลักสูตรฐานสมรรถนะต่อไป

ระบบบริหารจัดการใหม่ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ปีการศึกษา 2564

ในปีการศึกษา 2564 โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยมีนักเรียนระดับปฐมวัย จำนวน 18 คน ระดับประถมศึกษา จำนวน 72 คน ครูประจำการ 5 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนรวม 1 คน และผู้ช่วยสอน 3 คน ธุรการ 1 คน จาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุนนโยบายภาครัฐภายใต้ โครงการ “Restart Thailand” สนับสนุนเป็นระยะเวลา 1 ปี (เดือนมกราคม ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ.2564)

การออกแบบระบบบริหารจัดการใหม่เกิดจากการนำข้อค้นพบในปีการศึกษา 2563 มาใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ปรากฏผลชัดเจน และจะนำไปสู่การพัฒนาในโอกาสต่อไป

ระบบบริหารจัดการใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้

ระบบที่ 1 ระบบการกำหนดเป้าหมายและวางแผน

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) วัดความสำเร็จที่สมรรถนะของนักเรียน หลักสูตรสถานศึกษาจึงเป็นทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน หลังจากนั้นจึงออกแบบชั้นเรียนและกำหนดเป้าหมายในชั้นเรียน โดยมีจุดหมายปลายทางที่สอดคล้องกับจุดเน้นของโรงเรียน (School Concept) “สร้างวิถีแห่งชีวิตสมดุล” การออกแบบชั้นเรียนและกำหนดเป้าหมายชั้นเรียน จำนวน 6 ห้องเรียน ดังนี้

  1. ห้องเรียนปฐมวัย เป้าหมายสมรรถนะตามหลักสูตรปฐมวัย ครูประจำชั้น 2 คน
  2. ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป้าหมาย 5 สมรรถนะ ครูประจำชั้น 2 คน
  3. ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป้าหมาย 6 สมรรถนะ ครูประจำชั้น 1 คน
  4. ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป้าหมาย 6 สมรรถนะ ครูประจำชั้น 1 คน
  5. ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เป้าหมาย 10 สมรรถนะ ครูประจำชั้น 2 คน
  6. ห้องเรียนเด็กพิการเรียนรวม ครูประจำชั้น 1 คน

ระบบที่ 2 ระบบการจัดการองค์การ

การมอบหมายครูประจำชั้น ทั้ง 6 ห้องเรียน มอบหมายโดยใช้หลักความสมัครใจ ความเหมาะสม และความจำเป็น ต่อจากนั้นจึงร่วมกันออกแบบและวางแผนการจัดการเรียนรู้ โดยผู้บริหารโรงเรียนและคณะครูร่วมคิดร่วมวางแผนเป็นรายห้องเรียน สำหรับห้องเรียนปฐมวัยจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เน้นการพัฒนาสมรรถนะประจำตนของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เน้นการเตรียมตัวนักเรียนให้พร้อมในการทำกิจกรรมเชิงสมรรถนะ ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เน้นการเรียนรู้และสร้างสมรรถนะ การวางแผนการเรียนรู้มีข้อตกลงร่วมกันว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูต้องเห็นผลลัพธ์ที่นักเรียนอย่างต่อเนื่องและชัดเจน สามารถระบุได้เป็นรายสัปดาห์ เช่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สัปดาห์ที่ 1 นักเรียนต้องจัดการตนเอง เรื่อง การแต่งกายมาโรงเรียนได้ เป็นต้น

ระบบที่ 3 ระบบภาวะผู้นำ
  1. ใช้ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างบุคลากรในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เน้นการสื่อสารเกี่ยวกับการออกแบบ การวางแผนการเรียนรู้ เป้าหมายความสำเร็จของแต่ละห้องเรียน โดยใช้ google calendar เป็นตัวเชื่อมให้เกิดการสื่อสาร เริ่มต้นที่ทีมบริหารสร้างปฏิทินของโรงเรียน กำหนดการนับสัปดาห์ที่ 1 ถึง 40 กำหนดวันที่ทำกิจกรรมร่วมกันไว้ให้ทุกคนรับรู้ ต่อมาเป็นการจัดทำปฏิทินของห้องเรียน ครูประจำชั้นแต่ละห้องเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีการบันทึกเป้าหมายประจำสัปดาห์ กิจกรรมสำคัญ สื่อ การวัดและประเมินผล และอื่นๆ ไว้ หากครูท่านใดมีการเปลี่ยนแปลงจากที่วางแผนไว้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ บุคลากรทุกคนในโรงเรียนจะมองเห็นปฏิทินของทุกคน แต่จะแก้ไขได้เฉพาะปฏิทินของตนเท่านั้น
  2. จากการใช้ google calendar สร้างปฏิทินการทำงานร่วมกัน ผู้เกี่ยวข้องจะได้ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า ไม่ต้องรอสั่งการ เป็นการสร้างภาวะผู้นำให้กับผู้ร่วมงานตามบทบาทหน้าที่ หลังจากนั้นจึง ใช้ google docs สร้างเอกสารวาระการประชุมล่วงหน้าตามที่ระบุไว้ในปฏิทิน เช่น การประชุมครู (PLC) 2 สัปดาห์/ครั้ง ก็จะเปิดให้ทุกคนมองเห็นวาระการประชุมล่วงหน้า หากครูท่านใดต้องการเพิ่มวาระการประชุมก็สามารถเพิ่มเติมได้ล่วงหน้าเช่นกัน
  3. ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูตัดสินใจปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed) โดยการแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำหน่วยการเรียนรู้ การเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและจัดการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ครูวางแผนบริหารจัดการ ประเมินโอกาสแห่งความสำเร็จด้วยตนเองอย่างมีเป้าหมาย
  4. ใช้ application และระบบการสอนที่ดี สนับสนุนให้ครูทำหน้าที่เป็นโค้ช

องค์ประกอบที่ 1 application และเทคโนโลยี โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเลือกใช้ application ที่ชื่อว่า IXL ซึ่งเป็น application ของต่างประเทศ ประกอบด้วยเนื้อหาและแบบฝึกเพื่อนำไปสู่ความคิดรวบยอดของวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปะทางภาษา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ สำหรับเด็กปฐมวัยจนถึงเกรดที่ 8(8th Grade) รวมทั้งมีตำราเรียน (Textbooks) อีกจำนวนมาก โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยได้จัดซื้อ account สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 72 คน เพื่อช่วยให้ครูเชื่อมโยงสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้กับระบบการเรียนรู้สากล

องค์ประกอบที่ 2 ระบบทดสอบภาษาอังกฤษ ด้วย Tracktest ใช้ในการทดสอบสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนด้วยมาตรฐานสากล CEFR สำหรับการใช้ Tracktest นักเรียนจะได้รับ account ของตน แล้วนำไปใช้ทดสอบความรู้พื้นฐานของตนเองเป็นระยะๆ ควบคู่ไปกับการใช้ IXL ในการเรียนรู้ จนกว่านักเรียนทุกคนจะผ่านการทดสอบอย่างน้อยระดับ A1 ในระบบ Tracktest โดยมีครูเป็นผู้ตรวจสอบและส่งเสริมการเข้าใช้ระบบ Tracktest และ IXL ของนักเรียนอย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลสารสนเทศของระบบทั้งสอง

องค์ประกอบที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของสถาบัน ORIGO แห่งประเทศไทย โดยการส่งเสริมและประสานงานให้มีการนำวิธีการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของสถาบันนี้มาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อทำให้นักเรียนมีความคิดรวบยอดที่ถูกต้องทางคณิตศาสตร์ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันสำหรับนักเรียนระดับปฐมวัยถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดและการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์

องค์ประกอบที่ 4 การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา สืบเนื่องจากโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียนน้อย จึงทำให้ได้รับงบประมาณรายหัวน้อย ไม่เพียงพอต่อการใช้ในการซื้อวัสดุ อุปกรณ์การเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีการระดมทรัพยากรทั้งสิ่งของที่จำเป็น และการระดมทรัพยากรบุคคลจากหน่วยงาน องค์กร จิตอาสา มาช่วยออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

องค์ประกอบที่ 5 ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิประจำโรงเรียน สืบเนื่องจากประสบการณ์ที่จะนำไปสู่สมรรถนะของนักเรียนไม่มีอยู่ในหนังสือเรียน อยู่ในวิถีชีวิตของนักเรียนและชุมชนที่อยู่นอกห้องเรียน จำเป็นต้องอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจึงได้สำรวจและค้นหาผู้รู้เฉพาะด้านเหล่านั้นมาเป็นที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียน และจัดให้มีการประสานความร่วมมือออกแบบการจัดการเรียนรู้ กำหนดเป้าหมาย วิธีการจัดกิจกรรมร่วมกับครูผู้สอน ตัวอย่างเช่น ในหน่วยนักวิจัยน้อยคชานุรักษ์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับช้างป่าในเขตอุทยานเขาชะเมา-เขาวง จึงเชิญทีมนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติจังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ปรึกษา และร่วมจัดกิจกรรมกับครู เป็นต้น

ระบบที่ 4 การนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลและการประกันคุณภาพภายใน 

แม้ว่าโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็ตาม แต่จำเป็นต้องมีระบบการนิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผลและการประกันคุณภาพภายในที่ดี บทเรียนที่ได้รับจากปีการศึกษา 2563 เราพบว่าการขาดการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลที่ดี ทำให้นักเรียนหลายคนขาดโอกาสที่ดีไป ทำให้โรงเรียนต้องให้ความใส่ใจกับระบบนี้ให้มากขึ้น

องค์ประกอบที่ 1 google classroom ซึ่งเป็นห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ นำมาใช้เป็นระบบการนิเทศ กำกับ ติดตามผลระหว่างผู้บริหารโรงเรียนและครู

องค์ประกอบที่ 2 E-Portfolio โดยออกแบบจาก google site สร้างเป็น portfolio ของครูและนักเรียนรายบุคคล เพื่อสะสมร่องรอยการเรียนรู้รายสัปดาห์ตลอดปีการศึกษา และผลงานที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสมรรถนะต่างๆ ระหว่างต้นภาคเรียน กลางภาคเรียน และปลายภาคเรียน กรณี portfolio ของครูเป็นการสะสมผลงานตามระบบการประเมินสมรรถนะ (PA) ด้วย

องค์ประกอบที่ 3 google calendar โดยการกำหนดเป้าหมายรายสัปดาห์ให้ชัดเจน เมื่อการจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นลง ครูจะรายงานผลลัพธ์ ปัญหาและอุปสรรค ไว้ใน google calendar ของชั้นตนเอง ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างบุคลากรในโรงเรียนที่จะรับรู้และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อ นางอิงกมล บุญลือ โทร. 097-9628239

 


 


ผู้เขียน:
อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โชติกา สมหมาย

Facebook Comments
รมว.ศธ. แจงแผนฯ สร้างพื้นที่ทดลองหลักสูตรให้มีความหลากหลายพื้นที่นวัตกรรมสตูล ขับเคลื่อนด้วย Inside-out วางเป้าที่คุณภาพ
บทความล่าสุด