วงสนทนาเชิงสร้างสรรค์ “สมรรถนะคืออะไร” สไตล์บ้านคลองบางบ่อ

18 มีนาคม 2563

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 นางสาวนพรัตน์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ และคณะครู จัดวงสนทนาเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง “สมรรถนะ คืออะไร” โดยมีนายธงชัย มั่นคง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง นางนงค์นุช อุทัยศรี และนางสาวอาภาภรณ์ ชื่นมณี ร่วมวงสนทนา

ประเด็นการสนทนาเกิดจากความต้องการในการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน เรื่อง “สมรรถนะคืออะไร” ซึ่งสืบเนื่องจากโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อจะต้องใช้หลักสูตรสถานศึกษาแบบฐานสมรรถนะในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จึงจำเป็นต้องทบทวน ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจให้ถ่องแท้ และเพียงพอ

บรรยากาศเริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้วงสนทนาได้ตอบคำถามง่ายๆ สร้างกระแสให้มีการทบทวนตนเอง และตอบรับกับคำว่า “สมรรถนะ” ซึ่งทุกคนในวงสนทนาตอบว่ารู้จักคำว่า “สมรรถนะ

วงรอบการสนทนาที่ 2 ประเด็น “หนึ่งประโยคกับสมรรถนะที่ฉันรู้จักนั้นคืออะไร”

ในวงรอบนี้วงสนทนาเริ่มมีรสชาติ เนื่องจากผู้ร่วมวงสนทนาต้องสกัดคำสำคัญที่สามารถอธิบายความหมายของคำว่า “สมรรถนะ” ให้ได้ด้วยประโยคเดียว ผลการสนทนาได้ผลอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากสิ่งที่ทุกคนกล่าวถึง “สมรรถนะ” นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่า “ใช่เลย” เป็นความเข้าใจเช่นนั้นจริงๆ

บทสรุป “สมรรถนะคือ การใช้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดความชำนาญ และประสบความสำเร็จ”

วงรอบการสนทนาที่ 3 ประเด็น “หนึ่งตัวอย่างสมรรถนะของนักเรียน”

เมื่อทุกคนเข้าใจความหมายของ “สมรรถนะ” ไปในทิศทางเดียวกัน วงรอบนี้จึงเป็นการเจาะลึกความรู้ความเข้าใจและเจตคติของทุกคนที่มีต่อ “สมรรถนะ”

วงสนทนานำกิจกรรมการทอดไข่ดาวมาเป็นตัวอย่างในการเจาะลึกถึงสมรรถนะของนักเรียน เริ่มจากประโยคชวนคิดง่ายๆ ที่ว่า “ถ้าจะบอกว่า เด็กหญิงกุ้ง (นามสมมติ) มีสมรรถนะในการทอดไข่ดาวที่กรอบอร่อย เด็กหญิงกุ้งต้องทำอะไรได้บ้าง”

บรรยากาศการสนทนาในวงรอบนี้ แม้ว่าการยกตัวอย่างจะไม่ได้มีการเตรียมการหรือบอกกล่าวไว้ล่วงหน้า แต่ทุกคนในวงได้ร่วมด้วยช่วยกัน ในการระบุรายละเอียดของพฤติกรรมของเด็กหญิงกุ้ง ได้อย่างชัดเจนว่า “เด็กหญิงกุ้ง มีสมรรถนะในการทอดไข่ดาวที่กรอบอร่อย ต้องรับอาสาทอดไข่ดาวให้ทุกคนกิน จัดหาวัสดุอุปกรณ์ มีลำดับขั้นตอนในการทอดไข่ดาว และมีวิธีการแก้ปัญหาระหว่างการทอดไข่ดาว จนกระทั่งทอดไข่ดาวได้สำเร็จ สามารถรับประกันความอร่อย และยังสามารถทอดไข่ดาวได้ตรงกับความต้องการของบุคคลต่างๆ ได้”

นอกจากนี้วงสนทนาสามารถระบุได้ว่า เด็กหญิงกุ้ง ต้องมีองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติ หลายเรื่อง จากการเรียนรู้จากวิชาต่างๆ เป็นฐาน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของการเรียนรู้อย่างมีความหมาย การสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายจนนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้

วงรอบการสนทนาที่ 4 ประเด็น “ครูที่จะสอนแบบฐานสมรรถนะได้ ต้องมีคุณลักษณะอย่างไร”

วงรอบการสนทนานี้เป็นการระดมความคิดเพื่อให้เกิดการตกผลึกของการนำความรู้ความเข้าใจจากวงสนทนาเชื่อมโยงไปสู่การนำไปใช้จริง

คำตอบที่ได้จากวงสนทนา สรุปได้ว่า ครูที่จะสอนแบบฐานสมรรถนะได้ ต้องมีคุณลักษณะอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่ ทำเป็น ออกแบบหน่วยได้ เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ สอนและแนะนำนักเรียนแบบเด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และวัดและประเมินผลเก่ง

การสนทนาเริ่มกระชับเข้ามาและสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ฝังอยู่ในใจของผู้ร่วมวงสนทนา มีข้อสังเกตว่าคำตอบที่ทุกคนถ่ายทอดออกมาจากคำแรก คือ “ครูต้องทำในสิ่งที่จะสอนเป็น” กลับไม่ใช่ “ครูต้องรู้เรื่องที่สอน” เท่านั้น

วงรอบสุดท้าย ประเด็น “องค์ประกอบสำคัญอะไรที่ทำให้การเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะ ประสบผลสำเร็จ”

ความประทับใจในวงสนทนารอบนี้คือผู้ร่วมวงสนทนา แสดงความคิดเห็นได้รวดเร็ว จนคาดไม่ถึงว่า “องค์ประกอบสำคัญอะไรที่ทำให้การเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะ ประสบผลสำเร็จ มีแค่ 3 องค์ประกอบเท่านั้น ได้แก่ 1) การจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ อาจเป็นบูรณาการวิชา บูรณาการกิจกรรม หรือ การบูรณาการช่วงชั้น 2) เวลาที่ให้กับนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง และ 3) ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน หรือ นักเรียนกับนักเรียน

ท้ายที่สุด วงสนทนาเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อจบลงด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน เรียกว่าจบลงด้วยรอยยิ้ม และคำทักทาย คำอำลาที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับทุกคน

ข้าพเจ้าในฐานะผู้บริหารโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ ยังได้เก็บตกความคิดเห็นของผู้ร่วมวงสนทนาหลายคน สรุปได้ว่า “การเรียนรู้เรื่องสมรรถนะแบบวงสนทนาเชิงสร้างสรรค์เป็นกลวิธีที่ดี เนื่องจากทำให้ผู้ร่วมวงสนทนามีเจตคติที่ดี ได้ทบทวน ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการปรับแต่ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ อย่างลงตัว เป็นการเรียนรู้ที่ไม่อึดอัด และที่สำคัญคือสามารถดึงศักยภาพของผู้ร่วมวงสนทนาได้อย่างดี ทุกคนภูมิใจกับวงสนทนานี้มาก” นี่แหละการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ สไตล์โรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ


ผู้เขียน: นพรัตน์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: นพรัตน์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบางบ่อ

Facebook Comments
เทคนิคทำคลิปให้ไม่น่าดู : ประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาโค้ชเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลโรงเรียนเมืองคง จัดการศึกษาแบบองค์รวม เน้นฐานใจ – ฐานกาย – ฐานสติปัญญา
บทความล่าสุด