เทคนิคทำคลิปให้ไม่น่าดู : ประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาโค้ชเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

17 มีนาคม 2563

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาโค้ชเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ซึ่งได้รับมอบหมายจากรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิทยากรหลัก ให้ช่วยเตรียมประเด็นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มทักษะการสร้างสรรค์คลิปวิดีโออย่างง่ายโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วซึ่งก็คือ “มือถือ” ที่ทุกคนมี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำไปใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

ผู้เขียนเลือกที่จะนำเสนอ “เทคนิคทำคลิปให้ไม่น่าดู” แทนที่จะเสนอ “วิธีทำคลิปให้น่าดู” เนื่องจากเมื่อลองค้น ๆ ดูจาก Google แล้วพบว่ามีความรู้ด้านการทำคลิปให้น่าสนใจจำนวนมาก

ในเมื่อการทำคลิปให้น่าดูนั้นมีองค์ความรู้จำนวนมากอยู่บนอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ในเวทีนี้จึงขอแลกเปลี่ยนและนำเสนอวิธีการที่จะทำให้คลิปไม่น่าดูดีกว่า ซึ่งผู้เขียนได้สังเคราะห์ความรู้จักอินเทอร์เน็ตบวกกับประสบการณ์ของตนเอง สามารถสรุปเป็นหลักการได้ 3 ข้อ ที่หากผู้เข้าร่วมต้องการทำคลิปให้ไม่น่าดู ให้ปฏิบัติตามหลักการสามข้อนี้ รับรองว่าคลิปของท่านจะไม่น่าดูเลย

1. ไม่ต้องเตรียมตัว

เราไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเตรียมการใดๆเลย พอไปถึงอยากถ่ายอะไรก็ถ่าย ไม่ต้องเตรียมตัวว่าจะใช้ขาตั้งกล้อง ไม่ต้องมาเตรียมตัวว่าจะใช้ไมค์หรือไม่ ไม่ต้องทำความรู้จักกับสถานที่หรือแหล่งที่จะถ่ายทำคลิป คือถึงเวลาท่านอยากขายอะไรก็แค่หยิบเครื่องมือที่ท่านมีขึ้นมาแล้วก็ถ่ายแค่นั้นเองง่ายมากเลยไม่ต้องคิดมาก  นี่คือหลักการข้อที่ 1 “ ไม่ต้องเตรียมตัว”

2. ไม่ต้องตั้งใจถ่าย

ครั้นเมื่อท่านได้หยิบมือถือหรือกล้องขึ้นมาถ่ายคลิปท่านก็ไม่จำเป็นจะต้องตั้งใจอะไรมากมาย มือถือจะสั่นภาพจะไหวอย่างไรก็เรื่องของภาพนั้น จะถ่ายมุมไหน หรือมีอะไรรกในฉากก็ไม่ต้องสนใจ จะถ่ายย้อนแสงตัวแบบหรือสิ่งที่ต้องการถ่ายจะมืดหรือสว่างก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไม่ต้องไปจัดการอะไร อารมณ์ประมาณว่าก็ถ่ายๆ ไปให้มันเสร็จๆ กระบวนการ ถ่ายเสร็จก็หมดภาระหมดหน้าที่แล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่อ แค่นั้นเองที่ต้องทำไม่ต้องตั้งใจถ่ายอันนี้คือหลักการข้อที่ 2 (ดูตัวอย่างจากคลิปนี้สิไม่ได้ตั้งใจถ่ายเลย)

3. ไม่ต้องตัดต่อ

เมื่อถ่ายคลิปมาเสร็จท่านก็แค่เปิดให้นักเรียนดูหรืออัพขึ้น YouTube เพื่อสื่อสารไปได้เลยไม่ต้องมาตัดต่อแต่งเติมเสริมแต่งอะไรในคลิปให้วุ่นวาย เป็นการเพิ่มภาระให้กับท่านในการทำคลิป ไม่ต้องมาแทรกภาพแทรกข้อความเพื่อขยายความหรือเพื่อให้คนดูเห็นภาพชัดเจนขึ้น อันนี้คือหลักการข้อที่ 3 คือไม่ต้องตัดต่อ

ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่าหากเราต้องการทำคลิปให้ไม่น่าดูก็อย่าลืมหลักการ 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นเป็นอันขาด แต่! หากว่าเราต้องการทำคลิปให้น่าดู น่าติดตาม น่าชม เราลองไม่ทำ 3 ข้อข้างต้นที่กล่าวมาลองดูไหม แล้วดูว่าคลิปที่เราทำจะน่าดูกว่าเดิมหรือไม่ เมื่อบอกว่าจะทำคลิปก็ให้เรานึกถึง 3 ขั้นตอนดังกล่าวมา เป็นขั้นตอนหลักๆ ที่ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นให้นึกถึงในทุกครั้งที่ทำคลิป

1. เตรียมตัว

เป็นสิ่งที่สำคัญมากอันดับแรกเลย คือ เราต้องดูว่าเราจะไปถ่ายทำคลิปอะไร เพื่ออะไร ถ่ายทำตรงจุดไหน เช่นเราจะไปถ่ายทำคลิปสาธิตการทำเครื่องจักรสานเราจะถือมือถือเพื่อถ่ายคลิปให้นานไหมเพื่อให้ได้ภาพนิ่ง ๆ หรือเราจะเตรียมขาตั้งมือถือเล็ก ๆ ติดไปด้วย เราจะต้องถ่ายอยู่ไกลจากตัวแบบหรือไม่ถ้าถ่ายทำอยู่ไกลจากตัวแบบที่เรากำลังบันทึกภาพเราจะสามารถบันทึกเสียงเขามาด้วยได้หรือไม่ หรือเราจะเตรียมไมโครโฟนเล็กๆไปด้วยเพื่อใช้บันทึกเสียง หรือถ้าไม่มีไมโครโฟนอีกตัวเราอาจจะต้องใช้มือถืออีกเครื่องในการบันทึกเสียงอย่างเดียววางไว้ใกล้ๆตัวผู้พูด จากนั้นค่อยเอาเสียงมาเชื่อมกับคลิปวิดีโอเราในขั้นตอนที่ 3 การตัดต่อเติม สำหรับอุปกรณ์นั้นทุกวันนี้ก็หาได้ไม่ยากไม่ได้แพงเหมือนสมัยก่อนแล้วอย่างเช่นขาตั้งมือถือที่เอาไว้พกพาได้อันนี้พร้อมรีโมทกดบันทึกไร้สาย โดยราคาไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ของที่เราอยากได้ลองค้นหาใน shopee หรือ lazada เปรียบเทียบราคาดู ทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยมือถือในมือเราเพียงปลายนิ้วสัมผัส (ผู้เขียนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับร้านค้าหรือภาพตัวอย่างนี้)

ผู้เขียนอยากจะบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการเตรียมตัวว่าต้องเตรียมอะไรบ้างในการไปถ่ายคลิปในแต่ละครั้ง เพราะอุปกรณ์ของแต่ละคนที่มีก็มีไม่เหมือนกัน วัตถุประสงค์ของการไปถ่ายทำคลิปแต่ละครั้งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่หากเราคิดถึงสิ่งที่เราจะไปถ่ายทำก็จะทำให้เรามีการเตรียมตัวเตรียมการ เตรียมของไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถจะหาได้ เมื่อเราทำบ่อย ๆ เราก็จะเรียนรู้ว่าเราจะต้องเตรียมอะไร หรือต้องเตรียมตัวอย่างไร 

สำหรับผู้เขียนนั้นหลักง่ายๆ ในเตรียมตัวที่อยากจะแลกเปลี่ยนกันก็คือจะเตรียม 3 อย่างนี้คือ 1) เตรียมทำความเข้าใจโจทย์หรือสิ่งที่จะไปถ่ายทำ ซึ่งช่วยทำให้เตรียมข้อที่สองได้ดีคือ  2) เตรียมอุปกรณ์ที่คิดว่าจะต้องใช้ และ 3) เตรียมศึกษาสถานที่หรือทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมที่จะไปถ่ายทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่พอไปถึงก็จะรู้มุม รู้จุด รู้ธรรมชาติของที่ตรงนั้น

2. ตั้งใจถ่าย

เมื่อไปถึงหน้างานจริง ๆ เราก็จะพยายามถือกล้องถือมือถือถ่ายทำให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้บนพื้นฐานและข้อจำกัดที่มี คำว่าถ่ายออกมาให้ดีที่สุดนี้ถ่ายอย่างไร ในความคิดของผู้เขียนก็คือพยายามถ่ายให้กล้องที่ถืออยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ามีขาตั้งก็จะใช้ขาตั้งถ้าไม่มีขาตั้งก็จะพยายามหาอะไรที่มารองที่มาวางถ้าต้องถ่ายอยู่ตรงจุดนั้นนานๆ ถ้าจะต้องถ่ายอยู่ตรงจุดนั้นไม่นานก็จะพยายามถือด้วยสองมือให้นิ่งที่สุด หาที่ยืนพิงถ้าทำได้ก็จะช่วยเพิ่มความนิ่ง ในทุกๆ จังหวะ ทุกๆมุมกล้องที่ถ่ายทำก็จะพยายามเลือกเอามุมที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  คำว่า มุมกล้อง นี้ สำหรับผู้เขียนที่ใช้บ่อยๆเวลาต้องถ่ายทำอะไรก็จะประกอบด้วย 5 มุมมองหลัก ๆ ได้แก่ ใกล้ กลาง กว้าง กำลัง วิว ดูตามภาพประกอบน่าจะพอเห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย

มือถือที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็สามารถถ่ายได้ทุกมุมมองที่กล่าวมา  อยู่ที่ผู้ถ่ายทำจะตั้งใจมากน้อยแค่ไหนในการถ่ายทอด บางครั้งเราอาจจะต้องเดินเข้าไปใกล้ ๆ มากขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่มีความชัดเจน หรือเราอาจถ่ายกว้างๆ เพื่อให้เห็นภาพบรรยากาศ และถ่ายภาพวิวทิวทัศน์สถานที่รอบ ๆ มาประกอบเพื่อให้ดูมีเรื่องราว จะถ่ายอะไรอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทำจะเลือกถ่ายทอดผ่านกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดีที่สุดที่จะนำไปทำต่อในขั้นตอนที่ 3 ลองดูตัวอย่างคลิปนี้ถ่ายทำด้วยมือถือตลอดทั้งเรื่อง ด้วยมือถือเครื่องเล็ก ๆ ในมือของเรานั้นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาพยนต์ได้แล้วหากเพียงแค่เราตั้งใจ(ถ่าย)ทำ

ลองดูความตั้งใจถ่ายของคนถ่าย การเลือกมุมกล้องถ่ายทอดเรื่องราวอย่างประณีต

รับชมภาพยนต์สั้นเรื่องนี้ที่ถ่ายทำด้วยมือถือตลอดทั้งเรื่อง

3. ตัดต่อเติม

เมื่อเรามีการตั้งใจถ่ายอย่างดีแล้วขั้นตอนต่อไปก็ไม่ยากแล้ว แน่นอนว่ามันคลิปที่เราถ่ายมาในแต่ละครั้งจะต้องมีบางอย่างในคลิปที่เราไม่ต้องการและต้องตัดทิ้งบ้าง และมีคลิปที่เราถ่ายมาก็จะมีหลายคลิปต้องนำมาต่อมาเชื่อมกัน มีบางจุดในคลิปที่เราอยากจะเพิ่มข้อความอธิบาย หรือเพิ่มเติมรูปภาพ หรือเพิ่มเติมเสียงประกอบ เพื่อให้คลิปออกมาน่าดูน่าชม บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดทำคลิปในครั้งนั้น โชคดีในยุคนี้ที่เรามีมือถือสมาร์ทโฟน ที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้จบในมือถือสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวเรานี้เอง ผู้เขียนบอกได้เลยว่ามือถือหลายเครื่องหลาย ๆ ยี่ห้อในปัจจุบันนั้นมีความสามารถในการตัดต่อวิดีโอได้ลื่นไหลมากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน๊ตบุ๊คซะอีก

ผู้เขียนได้ลองศึกษา ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต และทดลองใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอในมือถือโดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นของฟรีที่ใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ  Android ของ Google และ iOS ของ Apple เน้นว่าเป็นของฟรีเท่านั้น เพราะไม่อยากเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้กับครูผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งพบว่ามีโปรแกรมตัดต่อวิดีโอฟรีอยู่จำนวนมากมายที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้ ซึ่งจากการทดลองใช้ผู้เขียนพบว่าโปรแกรมฟรีเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ

  1. ฟรีแต่จำกัดการ Export กล่าวคือ เค้าจะให้เราโหลดมาใช้ฟรีสามารถใช้งานได้ทุกฟังก์ชั่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เมื่อตัดต่อเสร็จแล้ว เราจะสามารถ Export คลิปวิดีโอได้จำกัดซึ่งอาจจะจำกัด 2 คลิป หรือจำกัด 3 คลิป ก็แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละโปรแกรมจะกำหนดไว้ จากนั้นถ้าจะ Export คลิปต่อไปก็ต้องจ่ายเงินซื้อโปรแกรม
  2. ฟรีแต่เบลอ หมายถึง เราสามารถตัดต่อคลิป และ Export ได้ไม่จำกัด แต่พอ Export จะมีการเบลอภาพงานคลิปวิดีโอเราบางส่วน
  3. ฟรีแต่ติดตราโลโก้ คือ เราจะสามารถตัดต่อคลิปและ Export คลิปได้ไม่จำกัด เวลา Export ก็จะไม่มีการเบลอภาพงานวิดีโอเรา แต่เขาจะมีโลโก้บริษัทของเขาแปะไปกับวิดีโอของเราด้วยตลอดทั้งคลิป 

ผู้เขียนเลือกใช้แบบที่ 3 คือฟรีแต่ติดตาโลโก้ เพราะมองว่าการมีโลโก้บริษัทเขาอยู่ตรงมุมเล็ก ๆ ก็ไม่ได้รบกวนงานวิดีโอที่เราทำมากเท่าไหร่ เราได้ใช้ของฟรีทุกฟังก์ชั่นพื้นฐานและบริษัทผู้ผลิตโปรแกรมก็ได้โฆษณาบริษัทเค้าผ่านงานวิดีโอเรา เป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ในที่นี้ผู้เขียนเลือกใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า KineMaster ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก App store และ Play Store

สำหรับอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการ Android

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

สำหรับอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการ iOS

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงจึงมีผู้ทำคลิปสอนวิธีการใช้งานมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ตที่พวกเราเพียงแค่พิมพ์ชื่อโปรแกรมลงไปใน Google ก็จะพบวิธีการใช้งาน  ก็จะพบวิธีการใช้งานและจากการทดลองใช้เบื้องต้นผู้เขียนพบว่าใช้งานง่ายมากดูวิดีโอสาธิตการใช้งานไม่กี่นาที เราก็จะสามารถทำเป็นได้ไม่ยาก

คลิปสอนการใช้การตั้งแต่การติดตั้งแอพ การตัด ต่อ ย้าย ลบ ไปจนถึงการ Export เพื่อนำไปใช้งาน

หรือจะลองค้นดูใน Youtube ใช้คำค้นหาว่า “kinemaster วิธีใช้” ก็จะพบคลิปการสอนที่เราสามารถเลือกเรียนรู้อันที่เหมาะกับตัวเราได้เลย

สำหรับคลิปวิดีโอข้างล่างนี้คือคลิปที่ผู้เขียนทำการลองผิดลองถูก ทดลองตัด ต่อ แต่ง เติม คลิปจากการลงพื้นร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ จ.สตูล ครั้งนี้

ประชุมช่วงเช้า
ลงพื้นที่ช่วงบ่าย

สิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครั้งนี้ผู้เขียนอยากจะบอกว่าไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนได้ทำมาก่อนเลย เมื่อผู้เขียนได้รับโจทย์ว่าจะต้องมาแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ ก็ได้พยามศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ทดลองโหลดมาใช้ ใช้อุปกรณ์ตามกำลังและข้อจำกัดที่มี ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นกำลังใจและเพิ่มพลังใจให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้เห็นว่า “เราสามารถเรียนรู้เรื่องใดๆ ไปพร้อมกับนักเรียนได้” เหมือนที่คุณหมอวิจารณ์ท่านเน้นย้ำกับพวกเราตลอดถึงแนวคิดการเรียนรู้แบบ Learn – Unlearn – Relearn เปิดใจเรียนรู้โดยพร้อมที่จะละวางความรู้เดิมเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา

และครั้งนี้ผู้เขียนก็เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่รู้จัก ผ่านมือถือที่ท่องไปในโลกออนไลน์ด้วยปลายนิ้ว และสอบถามขอคำแนะนำจากกัลยาณมิตรเพื่อนร่วมงานซึ่งต้องขอบคุณครูแบงค์และภรรยา (นายภาณุวัฒน์ วรพิทย์เบญจา) ครูชำนาญการ โรงเรียนแจ้คอนวิทยา สพป.ลำปาง เขต 3 ที่ช่วยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เขียนเป็นอย่างดีตลอดเวลาที่ผ่านมา 

สุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ทั้งแนวคิดและโปรแกรมตัดต่อวิดีโอฟรีที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม น่าจะสามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้พอมองเห็นภาพสำหรับการใช้เป็นเครื่องมือในการจัดทำสื่อวิดีโอคลิป เพื่อใช้ประกอบการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ไม่มากก็น้อย ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกเราได้ร่วมกันทำอยู่ตอนนี้ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของประเทศเราในที่สุด ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ความท้าทายของครูยุคใหม่ ไม่เฉพาะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาวงสนทนาเชิงสร้างสรรค์ “สมรรถนะคืออะไร” สไตล์บ้านคลองบางบ่อ
บทความล่าสุด