เปิด Action Plan พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ปี 2563 มุ่งสร้างพลเมืองยุคดิจิทัล ด้วยการร่วมมือรวมพลังของทุกภาคส่วน

20 มีนาคม 2563

ด้วยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองมีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2563 มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยองในฐานะเลขานุการ ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในจังหวัด และจัดทำโครงการ/กิจกรรม รองรับตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง พิจารณาร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดระยอง (พ.ศ.2562-2565) แผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหัวดระยอง พ.ศ.2561-2564 เพื่อดำเนินการเสนอของบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายของแผนต่อไป และโดยมีสาระสำคัญและข้อสรุป ดังนี้

วิสัยทัศน์

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองเป็นพื้นที่วิจัยปฏิบัติการ เพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของประเทศ สู่การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ในโลกยุคดิจิทัล

พันธกิจ
  1. ส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
  2. ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
  3. ส่งเสริมการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัด การศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  4. ส่งเสริมการสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
เป้าประสงค์
  1. หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษามีนวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน และมีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
  2. ไม่มีเด็กตกหล่นในเขตบริการของสถานศึกษา
  3. หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษามีข้อเสนอยกเว้นการเข้าร่วมกิจกรรม/ โครงการที่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา
  4. มีกลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 “ค้นหา ปรับ เปลี่ยน” สถานศึกษานำร่องให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 “ค้นหา ปรับ เปลี่ยน” ขีดความสามารถของหน่วยงานทางการศึกษาในการส่งเสริมสถานศึกษานำร่อง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง

โครงสร้างของแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง (Action Plan) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 บทนำ
ส่วนที่ 2 บริบทที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
ส่วนที่ 3 ทิศทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
ส่วนที่ 4 โครงการ/งบประมาณ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
ส่วนที่ 5 ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองสู่การปฏิบัติ

โครงการ/กิจกรรม

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 สถานศึกษานำร่องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเสนอโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 32 โครงการ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 31,856,047 บาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง (Action Plan) มีมติให้ดำเนินการ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ปรับแผนดังกล่าวเป็น 2 ระดับ คือ แผนระยะ 1 ปี (ประจำปีงประมาณ พ.ศ.2563) และแผนระยะ 3 ปี (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – 2565)
  2. นำผลการ SWOT จากประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ ความเข้าใจและร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง มาใช้ประกอบการจัดทำแผน
  3. ข้อมูลสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษานำร่อง ควรมีคำอธิบายรายละเอียดและเป้าหมายของ School Concept แทรกไว้ในภาคผนวก
  4. มอบหมายให้หน่วยงานทางการศึกษาแต่ละแห่งร่วมกับสถานศึกษานำร่อง ปรับโครงการให้มีความเป็นเอกพันธ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และเป้าหมายการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โดยเรียงลำดับความสำคัญและความจำเป็นของแต่ละโครงการ รวมถึงการพิจารณาเสนอของบประมาณให้ยึดตามระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวง
  5. ควรมีคณะนิเทศ ติดตามและประเมินผลผลการดำเนินงานตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ของแผนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง


ผู้เขียน: สุทธิมาศ อภิรักษ์วณิชย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ชลลดา เตชะบวรกุล

Facebook Comments
ศธจ.ระยอง ร่วมกับเขตพื้นที่และโรงเรียนนำร่อง ร่วมวางแผนเพื่อขับเคลื่อนและร่วมสร้างมิติใหม่ทางการศึกษา ในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยองสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ นำเสนอ Research Proposal “รูปแบบการพัฒนาโค้ชและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ช ในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ” ต่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติทุนวิจัย บพท.
บทความล่าสุด