หลักสูตร Pattani Heritage สู่การเป็น Smart People Smart City ร่วมทำความรู้จักพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานีให้ดียิ่งขึ้น

20 ธันวาคม 2564

จังหวัดปัตตานี เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต มีหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณอำเภอยะรัง มีซากร่องรอยของเมืองขนาดใหญ่ทับซ้อนกันถึง ๓ เมือง ปัตตานีได้รับอารยธรรมจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามาผสมผสานกันอย่างลงตัว กลายเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่น จึงเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพียบพร้อมด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ทั้งผืนป่าสายน้ำและท้องทะเล นับเป็นพื้นที่ที่งดงามด้วยวิถีชีวิตของผู้คนและสภาพภูมิประเทศสมกับความยิ่งใหญ่ ในฐานะเมืองหลวง ของอาณาจักรลังกาสุกะทีมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต

จังหวัดปัตตานีเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีวิสัยทัศน์ นวัตกรรมการศึกษา พัฒนาคุณภาพ สู่พลเมืองอัจฉริยะปัตตานีอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้หลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนได้เสีย ส่งเสริมสนับสนุนให้มีนวัตกรรม ทางการศึกษาทั้งด้านการบริหาร และการจัดการเรียนรู้ สู่การยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้เป็น Smart Student สู่การเป็น Smart People ในอนาคต

การบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ ตามหลักการมีส่วนร่วม และเป็นไปตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 19 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี มีคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จำนวน 20 คน และคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 6 องค์คณะ ประกอบด้วย

  1. คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล
  2. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย
  3. คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ
  4. คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงานบุคคล
  5. คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ
  6. คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม

โดยการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทุกคณะ มีผู้แทนจากคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ และรวมถึงการเป็นอนุกรรมการร่วมกับบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมีบุคลากรของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ของคณะอนุกรรมการทุกคณะ นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การเชื่อมโยง การประสานงาน และความคิดเชิงพัฒนา ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ได้แต่งตั้งบุคลากรของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีทุกคนเป็นคณะกรรมการสนับสนุนงานธุรการคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ เพื่อร่วมขับเคลื่อนพื้นที่กรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี โดยให้เลขานุการของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนงานธุรการ และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานร่วมกันกับคณะอนุกรรมการ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมถึงการวางแผนการใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร จากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดปัตตานี ซึ่งปีงบประมาณ 2564 สำนักศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ได้บริหารงบประมาณ โดยให้คณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ เป็นผู้ดำเนินการ ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารงบประมาณ และคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ งบประมาณส่วนหนึ่งใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ และอีกส่วนหนึ่งได้จัดสรรให้กับสถานศึกษานำร่อง ทั้ง 32 แห่ง เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนของนักเรียน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตามบริบทของสถานศึกษาในสถานการณ์ โรคระบาดอย่างเช่นในปัจจุบันนี้

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปัตตานี มีพันธกิจในการ สร้างเยาวชน และบุคลากรทางการศึกษาสู่ความเป็น Smart people Pattani ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพัฒนาคุณภาพ และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ (1) ส่งเสริมและสนับสนุน การเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ (Co-working space) และ Digital learning Platform (2) สร้างช่องทางการเข้าถึงการศึกษาทั้งด้านโอกาสและคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และ (3) พัฒนาสมรรถนะด้านการสอนของครู ยุคการศึกษา 4.0

การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของสถานศึกษานำร่องจังหวัดปัตตานี ปีการศึกษา 2563 จากผลการวิจัยการขับเคลื่อนสถานศึกษานวัตกรรมทางการศึกษาต้นแบบแบบองค์รวมด้วยกระบวนวิจัย แบบมีส่วนร่วม: กรณี ศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 1 ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเก็บข้อมูลในรูปแบบคณะกรรมการร่วมจากตัวแทน ทุกหน่วยงาน เข้าเยี่ยม สัมภาษณ์ และสนทนากลุ่ม (Focus group) กับตัวแทนสถานศึกษาประกอบด้วย ผู้บริหาร ครูวิชาการ ครูที่รับผิดชอบโครงการ ครูผู้สอน ตัวแทนกรรมการสถานศึกษา และตัวแทนนักเรียน สรุปได้ ดังนี้

  1. สถานศึกษาส่วนใหญ่ในทุกสังกัด ได้สร้างการมีส่วนร่วม ในการนำแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้น และแนวคิดหลักการของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ไปประยุกต์กับแผนยุทธศาสตร์ของสถานศึกษา
  2. นวัตกรรมที่เกิดขึ้น เป็นลักษณะการพัฒนาต่อยอดจากต้นทุนและบริบทเดิมของสถานศึกษา เป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับการเสริมแนวคิดจากคณะกรรมการขับเคลื่อนในบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยง และการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เช่น นวัตกรรมการบริหาร Cato smart school, Dempi mayo model, PLC, PDCA นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน เช่น Open Approach, Lesson Study, Phenomenal Base Learning, Project Base Learning และ Five Step Learning
  3. นวัตกรรมการบริหารส่วนใหญ่มุ่งเน้นด้านการบริหารแบบการกระจายอำนาจ สร้างระบบ การบริหารแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพัฒนาสถานศึกษา มีรูปแบบการบริหารที่ชัดเจน มีแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามนโยบายของสถานศึกษา เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ผู้บริหารและครู นักเรียน ชุมชน มีส่วนร่วม ผู้ปกครองได้สื่อสัมพันธ์กับสถานศึกษามากขึ้น
  4. นวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการสอนของครู นักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ทักษะการทำงาน มีอิสระในการค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองชอบ สามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ มีทักษะด้านการอ่านภาษาไทยมากขึ้น มีความสนใจในการเรียน สถิติการขาดเรียนลดลง ตั้งใจเรียน มีระเบียบวินัยมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานเป็นทีมได้

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ที่ประชุมรับทราบผลการวิจัยฯ ระยะที่ 1 คณะกรรมการฯมีข้อคิดเห็นร่วมกันว่า การปรับหลักสูตรของสถานศึกษามีความหลากหลายเป็นไปตามบริบทของสถานศึกษา ควรมีหลักสูตรเสริมให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ความเป็นปัตตานี จึงมอบหมายคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการดำเนินการปรับหลักสูตรตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง

คณะกรรมการจัดทำหลักสูตร ซึ่งนำโดยประธานคณะอนุกรรมการฯด้านการบริหารวิชาการ รศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตร Pattani Heritage เป้าหมายของหลักสูตร คือสร้างเยาวชนให้เป็น พลเมืองอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ (Smart People Smart City) โดยมีจุดมุ่งหมาย (1) ให้ผู้เรียนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์หวงแหน บำรุงรักษา ให้เป็นมรดกสืบทอดของจังหวัด ปัตตานี (2) ใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูง รวมถึงการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และ (3) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของผู้เรียนในการแสวงหาความรู้ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรม และเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชนผ่านระบบออนไลน์

หลักสูตร Pattani Heritage มีลักษณะเป็นโมดูลการเรียนรู้โดยใช้บริบทของพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพียบพร้อมด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เป็นสาระการเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ โดยที่สถานศึกษาสามารถเพิ่มเติมตามบริบทของตนเองได้ ปรับใช้ตัวชี้วัด โดยการวิเคราะห์รวบรวมและสังเคราะห์ หรือคงตัวชี้วัดบางตัวไว้ โดยในส่วนที่สังเคราะห์และรวบรวม ได้กำหนดเป็นสมรรถนะของผู้เรียนที่ครอบคลุมด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ จัดชั่วโมงการสอนตามความเหมาะสมของสถานศึกษาภายใต้กรอบมาตรฐานกลุ่มสาระวิชาและตามระดับชั้น จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้กำหนดหน่วยการเรียนรู้ให้ผู้เรียน จำนวน 6 หน่วย ดังนี้

  • หน่วยที่ 1 เปิดประตูสู่เมืองปัตตานี สาระการเรียนรู้ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมาของจังหวัด ปัตตานี บุคคลสำคัญของจังหวัดปัตตานี ปืนใหญ่พญาตานี การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี
  • หน่วยที่ 2 ความหลากหลายทางชีวภาพ สาระการเรียนรู้ประกอบด้วยป่าชายเลน ชายหาด น้ำตก ภูเขา แม่น้ำ และเกาะที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี
  • หน่วยที่ 3 ท่องเที่ยวไทย วิถีชาวปัตตานี สาระการเรียนรู้ประกอบด้วยสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี
  • หน่วยที่ 4 มรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และการละเล่น สาระการเรียนรู้ประกอบด้วยเรื่องราว ทางวัฒนธรรมของชนชาว พุทธ มุสลิม และจีน ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมเดี่ยว และพหุวัฒนธรรม
  • หน่วยที่ 5 อาหารท้องถิ่น ดินแดนปัตตานี สาระการเรียนรู้ประกอบเรื่องราวของอาหารท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี ที่เป็นที่นิยมของชาวพุทธ และมุสลิม
  • หน่วยที่ 6 ภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานงานอาชีพ สาระการเรียนรู้ประกอบด้วยเรื่องราวของอาชีพดั้งเดิมของชนชาวปัตตานีที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การทำนาเกลือ การทำหมวกกะปิเยาะ การทำปาลอกือโป๊ะ การทำผ้าจวนตานี และการตีกริช

กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Pattani Heritage เน้นการสอนเชิงรุก (Active Learning) ร่วมกับ TPACK Model ประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ประเมินระหว่างเรียน และหลังเรียน (Formative Learning and Summative learning) ประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน (Portfolio Assessment) ผลสำเร็จที่เกิดแก่ผู้เรียน สามารถนำเสนอสู่สาธารณชนได้

ความสำเร็จของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ด้านการจัดการในพื้นที่ เกิดกระบวนการทำงานแบบร่วมมือ และการทำงานเป็นทีมระหว่างภาครัฐ และเอกชน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ได้รับการจัดการให้เป็นสื่อและแหล่งเรียนรู้ของสถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษาทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดให้การสนับสนุนนวัตกรรมการสอน การพัฒนาบุคลากร และการวิจัยทางการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้ทำ MOU กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ในการร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษา ของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำหลักสูตร Pattani Heritage

ด้านสถานศึกษา

ทั้งสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นศูนย์รวมการบริหารของสถานศึกษาทุกสังกัด เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ทั้งด้านการบริหาร และการจัดการเรียนการสอน สถานศึกษา นำร่องทุกแห่งเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมการบริหาร และนวัตกรรมการสอนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ครูปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น

ด้านผู้เรียน

นักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ทักษะการทำงาน มีอิสระ ในการค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองชอบ สามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ มีทักษะด้านการอ่านภาษาไทยมากขึ้น มีความสนใจ ในการเรียน สถิติการขาดเรียนลดลง ตั้งใจเรียน มีระเบียบวินัยมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และทำงาน เป็นทีมได้

ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม คณะอนุกรรมการ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมปัตตานีทุกคณะ ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย รวมถึงศักยภาพในการประสานงาน การจัดระบบงานอย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์ของคณะกรรมการสนับสนุนงานธุรการการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานีส่งผลต่อความสำเร็จ ปัจจุบันเยาวชนปัตตานี คือ Smart Student เมื่อจบการศึกษาคือ Smart People ของ Smart City Pattani

หากท่านผู้อ่านสนใจเรื่องราวดี ๆ หรือความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี สามารถติดตามและรับชมได้ที่เว็บไซต์ www.sandbox.ptnpeo.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี

 



ผู้เขียน: นปภา ศรีเอียด
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
“คณิตศาสตร์ พาเพลิน” ด้วยนวัตกรรมศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) โรงเรียนบ้านโพนข่า(วินิตวิทยาคาร)พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง (RILA)  และ Google for Education ร่วมวางแผนปรับเปลี่ยน Platform ทางการศึกษาจังหวัดระยอง 
บทความล่าสุด