พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ปัตตานี พื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง

20 พฤษภาคม 2565
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ปัตตานี
พื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิง

การจัดการศึกษาของโรงเรียนนำร่องในจังหวัดปัตตานีเน้นกระบวนการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการได้ระดมพลังร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ กำหนดวิสัยทัศน์คือ นวัตกรรมการศึกษา พัฒนาคุณภาพ สู่พลเมืองอัจฉริยะ ปัตตานี โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพและความเท่าเทียมการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา เพื่อถ่ายทอดสู่สถานศึกษา โดยการประชุม สัมมนา ร่วมกับตัวแทนโรงเรียนนำร่องเพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพในสถานศึกษา ส่งผลให้

1) โรงเรียนส่วนใหญ่ในทุกสังกัด ได้สร้างการมีส่วนร่วม ในการนำแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นและแนวคิด หลักการของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ไปประยุกต์กับแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียน เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน มีบางโรงเรียนที่ยังไม่ได้ปรับปรุงแผน ของโรงเรียน เนื่องจากรอให้ครบรอบการใช้แผนในปีต่อไป

2) นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เป็นลักษณะการพัฒนาต่อยอดจากต้นทุนและบริบทเดิมของโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับการเสริมแนวคิดจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและคณะอนุกรรมการฯ ในบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยง และการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน

ตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เช่น รูปแบบการบริหารเฉพาะบางโรงเช่น Cato smart school, Dempi mayo model , จัดการระบบมักตับ , PLC , PDCA นวัตกรรมการบริหารส่วนใหญ่มุ่งเน้นด้านการบริหารแบบการกระจายอำนาจ สร้างระบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม

นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนแบบ Active Learning เช่น Open Approach , Lesson Study , Phenomenal Base Learning , Project Base Learning , , STEM , ทักษะชีวิตเพื่อการสื่อสาร , Theme-Based Learning , ICS to Classroom design , โครงงานฐานวิจัย/บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย , หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง , อ่านเขียนเรียนภาษา , ช้างน้อยเรียงร้อยถ้อยภาษา กิจกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น นวัตกรรมด้านการสอน การจัดการเรียนรู้ เน้นผลที่เกิดกับนักเรียน ด้านการคิดวิเคราะห์ การกล้าแสดงออก ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

จุดเริ่มต้นที่ได้ดูแลงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยของ ผอ.กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปีงบประมาณ 2564 ต่อมา ผอ.กลุ่มนิเทศฯ เกษียณอายุราชการ ปีงบประมาณ 2565 จึงได้รับมอบหมายจากศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ให้รับผิดชอบดูแลงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมโดยจะรับผิดชอบงานหลักคือในส่วนของงานวิชาการ โดยปฏิบัติงานร่วมกับศึกษานิเทศก์ และปฏิบัติงานร่วมกับเลขานุการของคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ (ซึ่งจะเป็น ผอ.กลุ่มต่าง ๆ ใน ศธจ.) และผู้รับผิดชอบจากต้นสังกัด เพื่อร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ทั้ง 32 โรงเรียน กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่

มุมมองต่อพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • สำหรับสถานศึกษา ถือว่าเป็นโอกาสดีมากในการเปิดโอกาสให้สถานศึกษาได้กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สถานศึกษามองว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ และการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด และสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่จะร่วมกันในการพัฒนาสถานศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
  • สำหรับตนเอง ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายความรู้ความสามารถมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ ที่ส่วนตัวไม่เคยมีโอกาสเข้ารับการพัฒนาใด ๆ มาก่อนเลย เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ค้นคว้า หาภาคีเครือข่ายจากจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยมีเป้าหมายว่าอยากทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จและเกิดผลดีกับสถานศึกษาให้มากที่สุด
หลักการทำงานของศึกษานิเทศก์ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

นำกระบวนการนิเทศแบบช่วยคิดช่วยทำ ที่ตนเองพัฒนามาจากงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อมผู้บริหารและครู เป็นขั้นศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับจุดที่ต้องพัฒนาของโรงเรียน ทิศทางการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อเตรียมวางแผนและดำเนินงานการขับเคลื่อนงาน
  • ขั้นที่ 2 ขั้นเสริมสร้างความรู้นำสู่การปฏิบัติ เป็นขั้นวิเคราะห์วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดปัตตานี ร่วมวางแผนและดำเนินงานการขับเคลื่อนงาน โดยสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ สร้างประสบการณ์ เพื่อนำไปกำหนดเป็นขั้นตอนในการดำเนินการของโรงเรียน ต่อไป
  • ขั้นที่ 3 ขั้นร่วมเป็นพี่เลี้ยงเคียงคู่สู่การพัฒนา เป็นขั้นร่วมพัฒนาการขับเคลื่อนงานตามขั้นตอนการดำเนินงานที่โรงเรียนออกแบบไว้ และดำเนินการนิเทศ ติดตาม โดยความร่วมมือจากต้นสังกัดและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้บริการ บำรุงขวัญ กำลังใจ ให้เกิดการพัฒนาในการดำเนินงานการขับเคลื่อนงาน
  • ขั้นที่ 4 ขั้นนำพาผลงานสานสำเร็จ เป็นขั้นประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน ในแต่ละกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อสะท้อนผลความสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรค นำไปสู่การพัฒนา ต่อไป
  • ขั้นที่ 5 ชื่นชมผลงานและเผยแพร่ เป็นขั้นสรุปผลการดำเนินงานและเผยแพร่ โดยให้โรงเรียนเผยแพร่ผลงานที่โรงเรียนประสบความสำเร็จให้เกิดความภาคภูมิใจ และใช้เป็นแนวทางให้โรงเรียนอื่น ๆ นำไปพัฒนาการขับเคลื่อนงาน

สิ่งที่สำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบรรลุผลสำเร็จ

คือ การร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือ รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวในการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ สถานศึกษาและต้นสังกัด (สพป. , สพม. , สช. , อบจ.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ , คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ฝ่าย , คณะกรรมการขับเคลื่อน ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกับให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่ต่อไป

การเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่หลากหลาย ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานวิชาการและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ รู้สึกว่าตัวเองเจริญเติบโตขึ้นมากในงานวิชาการ มีหลักคิดในการทำงานว่า “การไม่หยุดนิ่งคือการพัฒนาตลอดชีวิต” การมีโอกาสได้รับผิดชอบงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ถือเป็นโอกาสของตัวเองที่จะได้เจริญเติมโตทางความรู้ความสามารถและเพิ่มพูนประสบการณ์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เป้าหมายที่อยากจะทำ หรืออยากให้เกิดกับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ สามารถดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ให้ได้มากที่สุด และอยากเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานผ่านภาคีเครือข่าย

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอะไรบ้าง พร้อมบอกวิธีการแก้ไข
  1. ผลของการดำเนินงานบางกิจกรรมในโครงการ ยังไม่ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ควรมีการนำผลการดำเนินงานมาเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วม PLC เพื่อหาแนวทางปรับปรุง แก้ไข พัฒนา ด้วยการมีส่วนร่วม ต่อไป
  2. การบริหารงบประมาณ มีระยะเวลาจำกัด ในขณะที่กิจกรรมยังคงต้องดำเนินการต่อไป ควรปรับระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณที่เอื้อต่อการบริหารจัดการ
การให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ชี้แนะ หรือหนุนเสริม ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียน ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

เป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งของพี่เลี้ยง (ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา จากต้นสังกัด) ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ในการจัดกิจกรรมการส่งเสริม พัฒนา ดูแล ช่วยเหลือ ในหลายรูปแบบ เช่น การจัดประชุม/อบรม ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ การลงพื้นที่นิเทศ ติดตาม การทำ PLC เพื่อรับทราบความต้องการของครู ผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อร่วมกันให้เกิดภาพความสำเร็จกับนักเรียนต่อไป

ความรู้สึกในการทำงานร่วมกับโรงเรียน ครู ผู้อำนวยการ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

มีความสุขมากในการทำงาน เพราะได้รับรู้ถึงความต้องการของครู ผู้อำนวยการ และเห็นถึงพลังและความตั้งใจของทุกคนที่จะร่วมพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ถึงแม้บางครั้งอาจจะยังเห็นภาพความสำเร็จไม่ชัดเจนนักเพราะอยู่ในระหว่างการปรับตัว และดำเนินงาน แต่ตัวเองก็จะเดินเคียงข้างโรงเรียนร่วมกับครู ผู้อำนวยการ และผู้รับผิดชอบของต้นสังกัด

ผลที่เกิดกับโรงเรียน ต่อครู นักเรียนและชุมชนในพื้นที่

เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแต่เป็นไปอย่างช้า ๆ เห็นความกระตือรือร้นของครู ผู้อำนวยการ ที่อยากจะลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดผลลัพธ์กับผู้เรียน ซึ่งในขณะนี้ที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของการปรับหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเลยก็ว่าได้ เพราะทุกขั้นตอนในการปรับหลักสูตรสถานศึกษาในครั้งนี้ เป็นการปรับที่ทุกคนมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติเองกับมือและการระดมความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในโรงเรียน ชุมชนก็ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนเป็นอย่างดี ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนต่อไป

ผลที่เกิดจากการพัฒนานวัตกรรม
  • ด้านการบริหาร เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพัฒนาสถานศึกษา มีรูปแบบการบริหารที่ชัดเจน แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามนโยบายของโรงเรียน เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ผู้บริหารและครู นักเรียน ชุมชน มีส่วนร่วม ผู้ปกครองได้สื่อสัมพันธ์กับโรงเรียนมากขึ้น
  • ด้านการจัดการเรียนรู้ มีการพัฒนาด้านทักษะการสอนที่สร้างสรรค์ มีเทคนิคการสอนใหม่ๆ การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มสาระ การใช้สื่อเทคโนโลยีประกอบการสอน ใส่ใจนักเรียนมากขึ้น ปฎิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนมากขึ้น มีการพัฒนา ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ
  • ด้านผู้เรียน มีพัฒนาการด้านทักษะการคิดวิเคราะห์  การแก้ปัญหา ทักษะการทำงาน มีอิสระในการค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองชอบ มีทักษะการเรียนรู้ มีทักษะอาชีพมากขึ้น สามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ มีทักษะด้านการอ่านภาษาไทยมากขึ้น  มีความสนใจในการเรียน  สถิติการขาดเรียนลดลง ตั้งใจเรียน มีระเบียบวินัยมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานเป็นทีมได้

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       




ผู้เขียน:
ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ผู้ให้สัมภาษณ์
: ฐิติรัตน์ ปุยริพันธ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี
ผู้เขียน/เรียบเรียง: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ฐิติรัตน์ ปุยริพันธ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี

Facebook Comments
“ทำ ทัน ที” การนิเทศอย่างท้าทายสู่ความสำเร็จศึกษานิเทศก์ สพป.ศก.2 ทุ่มแรงกาย-ใจ ลงพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนการศึกษา
บทความล่าสุด