พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ผนึกกำลังทุกภาคส่วน มุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เดียวกัน “เพื่อเด็กสตูล”

23 เมษายน 2563

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังมีการตราพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ขึ้น ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษารับผิดชอบงานธุรการของ “คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งเปรียบเสมือนกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ และยังมีอำนาจหน้าที่ด้านงานวิชาการ นอกจากนั้น ผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือศึกษาธิการจังหวัด ยังมีอีกบทบาทที่สำคัญในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ เป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลที่กำลังจะนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับภารกิจในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในฐานะผู้นำหน่วยงานการศึกษาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา…นายดาลัน  นุงอาหลี ศึกษาธิการจังหวัดสตูล

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล มีสถานศึกษานำร่อง จำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนบ้านห้วยน้ำดำ 2) โรงเรียนบ้านทางงอ 3) โรงเรียนบ้านควนเก 4) โรงเรียนอนุบาลมะนัง 5) โรงเรียนบ้านเขาจีน 6) โรงเรียนวัดหน้าเมือง 7) โรงเรียนอนุบาลสตูล 8) โรงเรียนบ้านโกตา 9) โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก 10) โรงเรียนบ้านทุ่งสภากาชาดอุปถัมภ์ 2550 ทั้งหมดนี้ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล

ศึกษาธิการจังหวัดสตูล ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรมการศึกษาซึ่งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลกำลังใช้อยู่ พอสรุปได้ว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาถือเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการปฏิรูปการศึกษา แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความพยายามมาตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม จังหวัดสตูลได้พัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่เรียกว่า “โครงงานฐานวิจัย” มาก่อนหน้าที่จะเกิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว โดยมีผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูลคนปัจจุบัน (ผอ.สุทธิ สายสุนีย์) และคณะนักวิจัยท้องถิ่นในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มจากการลงพื้นที่ทำวิจัยร่วมกับชาวบ้าน แล้วพบว่า ชาวบ้านยังสามารถดำเนินการในลักษณะของงานวิจัยได้ ดังนั้น จึงคิดว่าการพัฒนาผู้เรียนจึงน่าจะนำกระบวนการวิจัยไปใช้ได้ด้วย จึงเป็นที่มาของ“โครงงานฐานวิจัย” ตั้งแต่นั้นมา และถือเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่โดดเด่นของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล

นอกจากนั้น ศึกษาธิการจังหวัดสตูลได้ถ่ายทอดเรื่องราวความน่าสนใจของการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ในมุมมองหัวหน้าหน่วยงานการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ต้องการเห็นหรือเป้าหมายในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การผลักดันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน รวมถึงเรื่องที่ต้องผลักดันต่อไป สรุปได้ดังนี้

1. เป้าหมายการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ศึกษาธิการจังหวัดสตูลเล่าถึงเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสตูล พอสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการศึกษาเป็นแบบ Top Down แต่การปฏิรูปการศึกษาก็ยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก จึงอยากเห็นการบริหารจัดการศึกษาแบบ Bottom up โดยใช้หลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นหรือแต่ละพื้นที่ อยากเห็นเด็กสตูลรู้เรื่องราวเกี่ยวกับของตนเอง จังหวัดสตูลถึงแม้เป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่กลับมีเรื่องราวที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หากเด็กสตูลรุ่นใหม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เด็กจะมีความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของสตูล เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

2. การผลักดันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย

2.1 ใช้กระบวนการเรียนรู้ “โครงงานฐานวิจัย”

โครงงานฐานวิจัย มีที่มาอย่างไรนั้น ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นบทความ การเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย ช่วยฝึกให้เด็กคิดเอง ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และบางเรื่องครูก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเด็ก นอกจากนั้น ผู้บริหารโรงเรียนอีกหลายท่านเห็นคุณค่าของโครงงานฐานวิจัยที่จะเกิดขึ้นต่อผู้เรียน จึงใช้นวัตกรรมนี้และร่วมดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงใช้โครงงานฐานวิจัยในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นไปต่อเนื่อง

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูลได้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จึงดำเนินการ ดังต่อไปนี้

2.2 บทบาทตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูลได้ดำเนินการตามบทบัญญัติใน พ.ร.บ. เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. ผลักดันการตั้งคณะอนุกรรมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 6 คณะ เพื่อช่วยกลั่นกรองงานให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
  2. จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม 5 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 จนถึงเดือนมกราคม 2563
  3. ในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องงบประมาณ ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
2.3 บทบาทในฐานะผู้นำหน่วยงานการศึกษา
  1. สร้างความตระหนักเรื่องบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมต่อผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
  2. ตั้งศูนย์ประสานงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เนื่องจากมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน จึงให้ผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้มาร่วมกันทำงาน ณ ศูนย์แห่งนี้
    แนวคิดการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน เกิดจากความต้องการประสานความร่วมมือในการทำงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่คนละแท่งกัน ทำให้ศึกษาธิการจังหวัดต้องใช้ทักษะการบริหาร เช่น ศึกษานิเทศก์ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องมีบทบาทสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะให้ศึกษานิเทศก์และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทำงานกับทุกภาคส่วนรวมทั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในที่สุด ศึกษาธิการจังหวัดได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อคลายข้อสงสัยในการทำงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้อิสระทุกคนเปิดใจพูดคุยปัญหากัน หลังเสร็จสิ้นการประชุม ศึกษาธิการจังหวัดสตูลจึงพบว่า จำเป็นต้องตั้งศูนย์ประสานงานแห่งนี้ขึ้นมา
  3. นำคณะบุคลากรในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูลเข้าร่วมกิจกรรมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสม่ำเสมอ
  4. จัดให้มีศึกษานิเทศก์จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจำภารกิจพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  5. สร้างการรับรู้เรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับบุคลากรในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูล และหน่วยงานทุกภาคส่วนตามที่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม เช่น บรรจุวาระประชุมคณะกรรมการจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้ง นำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล เป็นต้น

3. ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ศึกษาธิการจังหวัดสตูลได้สะท้อนให้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ในมิติต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

3.1 ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้เกี่ยวข้อง
  1. ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียน ถือเป็นเป้าหมายหลักในการเปลี่ยนแปลง จากการใช้กระบวนการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัยไปแล้ว 1 ปีการศึกษา พบว่า ผู้เรียนมีสมรรถนะด้านการสื่อสารและการคิดวิเคราะห์ กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น สังเกตได้จากการพูดคุยซักถามกับผู้เรียน ทำให้เห็นว่า ผู้เรียนตอบคำถามได้ชัดเจน คิดก่อนตอบคำถาม เพราะผู้เรียนทำโครงงานฐานวิจัยเองทั้งกระบวนการ จึงสามารถบอกเล่าเรื่องราว ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงงานฐานวิจัยได้ ผู้เรียนได้ข้อค้นพบหรือองค์ความรู้จากจากศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ แสดงถึงความสามารถในการแสวงหาความรู้ของผู้เรียน เมื่อต้องการรู้คำตอบในเรื่องใดก็สามารถศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเองได้จากกระบวนการโครงงานฐานวิจัย
  2. ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีความภาคภูมิใจต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษากับโรงเรียนมากขึ้นในรูปแบบ “ครูสามเส้า” [ครูสามเส้าประกอบด้วย 1) ครูในโรงเรียน 2) ครูชุมชนหรือผู้มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนและอยู่ในชุมชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน และ 3) ครูพ่อแม่] ครูชุมชนและครูพ่อแม่อาสามาสอนเด็กในช่วงที่ครูทำกิจกรรม PLC และมีโอกาสได้ร่วมเสนอความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมของโรงเรียนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น ต้องเรียนรู้ร่วมกับเด็ก และร่วมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองเหล่านี้จึงเกิดทัศนคติที่ดี มีความรักความผูกพันต่อโรงเรียน อยากเห็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี จึงร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาโรงเรียน
  3. ผลที่เกิดขึ้นต่อครู ครูต่างก็ร่วมแรงร่วมใจและเห็นคุณค่าในกิจกรรมของนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัยหรือครูสามเส้า ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ครูได้ผ่านกระบวนการอบรมการพัฒนาที่หลากหลาย จนกล้าเปิดใจเปลี่ยนแปลงตนเองจากการเป็นผู้บอกความรู้ มาเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กได้เรียนรู้แบบ Active Learning มากที่สุด
  4. ผลที่เกิดขึ้นต่อภาคเอกชน ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนด้วย ด้วยมุมมองที่แตกต่าง จึงทำให้เกิดการเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
  5. ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนนำร่องทั้ง 10 โรงเรียน ต่างมีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษามาตั้งแต่ก่อนจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จวบจนมาถึงช่วงเวลาที่โรงเรียนได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนกลุ่มนี้ก็ยังขับเคลื่อนงานต่อไปอย่างไม่เคยย่อท้อ เนื่องจากเป้าหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่ คือ “เพื่อเด็กสตูล” ถึงแม้ในระยะเริ่มแรก การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องมีถึง 2 บทบาท บทบาทแรก คือ การดำเนินงานตามปกติเหมือนเช่นโรงเรียนทั่วไป บทบาทที่สอง คือ การดำเนินงานในฐานะเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เนื่องจากฝ่ายนโยบายต้องใช้เวลาในการปลดล็อกกฎระเบียบบางส่วนตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และขณะนี้ได้รับการปลดล็อกในหลายเรื่อง ทำให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด
3.2 ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงาน

ศึกษาธิการจังหวัดสตูลได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ก็สามารถก้าวผ่านมาได้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับมุมมองการทำงาน ความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น มุมมองการทำงานที่แตกต่างกันของภาคเอกชนและภาครัฐในเรื่องกฎระเบียบ วิธีก้าวผ่านปัญหามาได้ก็คือ การพูดคุยทำความเข้าใจกัน ในที่สุดก็สามารถคลี่คลายปัญหาทุกอย่างลงได้ เพราะทุกคน ทุกภาคส่วน ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ “ทำเพื่อเด็กสตูล” อีกปัญหาอุปสรรคหนึ่งก็คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลทำงานด้วยความเสียสละ แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องงบประมาณสำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว

3.3 เรื่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนา
  1. หลักสูตรภูมิสังคม ภายหลังที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลได้อนุมัติให้ใช้หลักสูตรภูมิสังคมมาเป็นเวลา 1 ปี พบว่า ยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับให้หลักสูตรภูมิสังคมเน้นให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะให้มากขึ้น ซึ่งจะมีการนำเสนอหลักสูตรที่ปรับปรุงแล้วต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อขออนุมัติใช้หลักสูตรต่อไป
  2. การประสานงาน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมีหน้าที่หลักเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงต้องพัฒนาความสามารถ ทักษะและเทคนิควิธีการต่าง ๆ ด้านการประสานงาน พร้อมทั้งด้านการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด เพื่อดึงความร่วมมือและร่วมกันกำหนดทิศทางการศึกษาของจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  3. การประชุมของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต้องดำเนินการให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความโชคดีของจังหวัดสตูลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เมื่อท่านผู้ว่าฯเป็นประธานการประชุม ท่านจะพูดคุยเรื่องการศึกษาและให้การสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเต็มที่
3.4. ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ปัจจัยที่ทำให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ความร่วมแรงร่วมใจไม่ถูกปิดกั้นจากเรื่องความแตกต่างของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการต่างร่วมกันทำงานได้อย่างราบรื่น ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะทุกภาคส่วนต่างยึดเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กสตูลและการจัดการศึกษาของจังหวัด

4. เรื่องที่ต้องดำเนินการผลักดันต่อไป

ศึกษาธิการจังหวัดสตูลเห็นว่า ประเด็นที่ต้องผลักดันต่อไปคือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกฝ่ายว่า สิ่งที่ดำเนินการอยู่ ได้เดินมาถูกทางแล้ว สร้างความเชื่อมั่นให้กับโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) สร้างความเชื่อมั่นต่อไปว่า ทุกฝ่ายยังต้องจับมือร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่กำลังจะขยายผลเป็นโรงเรียนนำร่องด้วย แม้อาจต้องดำเนินการให้เข้มข้นมากกว่าเดิม แต่ผลลัพธ์ที่ได้ซึ่งจะเกิดขึ้นกับเด็กสตูลเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เด็กสตูลจะเก่ง มีสมรรถนะในการเผชิญสถานการณ์จริงในชีวิต มีความกล้าแสดงออก มีทักษะชีวิตหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยศึกษาธิการจังหวัดสตูลยินดีเป็นกระจกสะท้อน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่เล็ก ๆ มีนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้กันมาก่อนเข้าร่วมเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ถือเป็นทุนแห่งความสำเร็จที่มีอยู่ก่อนเดิม ทุกภาคส่วนต่างจับมือร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเข้มแข็งในการจัดการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ปกครองก็ยังสวมบทบาทครู และถึงแม้จะเกิดปัญหาอุปสรรคขึ้นระหว่างดำเนินงาน แต่ก็สามารถก้าวผ่านมาได้เพราะทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อเด็กสตูล จึงน่าภาคภูมิใจแทนเด็กสตูลที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ ฝ่ายกำลังมุ่งมั่นจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้พวกเค้าเติบโตขึ้นมามีทักษะชีวิต มีสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหา เผชิญสถานการณ์จริงในชีวิตได้


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, ดาลัน นุงอาหลี
ผู้ให้สัมภาษณ์: ดาลัน นุงอาหลี ศึกษาธิการจังหวัดสตูล
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ประชาสัมพันธ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูล

Facebook Comments
ผอ.บรรจุใหม่ ใช้ใจนำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ รวมพลังครูและผู้เกี่ยวข้อง จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นโรงเรียนบ้านตือระ พื้นที่นวัตกรรมปัตตานี มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ควบคู่คุณธรรม และมีทักษะพื้นฐานในการดำรงชีพ
บทความล่าสุด