แผนชัด ปฏิบัติมีทิศทาง

25 ธันวาคม 2563

ตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 18 กำหนดให้สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาการและงานธุรการของคณะกรรมการนโยบาย รวมทั้งให้มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศในการดำเนินการส่งเสริมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้น เลขาธิการ กพฐ. และรองเลขาธิการ กพฐ. จึงให้ สบน. เร่งการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้การดำเนินงานแต่ละปีมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม

สบน. จึงได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ระว่างวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมการระดมความคิด แสดงความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย คณะทำงานซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ภายนอก ที่ปรึกษา สพฐ. ประธานคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อาทิ กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดนำร่อง ผู้แทนนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ ตลอดจนบุคลากรส่วนกลาง

ตลอดระยะเวลาสองวันที่ดำเนินการประชุม ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ร่วมกันวิพากษ์ เสนอความคิด อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการจัดทำแผนฯ จนได้ข้อสรุปที่สามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ในวันจันทร์ ที่ 28 ธันวาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานการประชุม ซึ่งผลการประชุมได้ข้อสรุป แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งจะมุ่งเน้นกิจกรรมหลักใน 2 กิจกรรม ได้แก่ 

กิจกรรมหลักที่ 1 คือ การปรับปรุงนโยบายและกฎ ระเบียบให้มีความคล่องตัวและเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษานำร่องและหน่วยงานทางการศึกษา ที่ครอบคลุมใน 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านบุคคล ด้านงบประมาณ และด้านการมีส่วนร่วม
กิจกรรมหลักที่ 2 คือ สร้างกลไกการยกระดับคุณภาพผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
2.1 กลไกระดับกระทรวง/นโยบาย เช่น สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อน หน่วยงานทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง, ดำเนินการจัดให้มีคณะทำงานร่วมด้านแผนและงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระหว่าง สป.ศธ. และ สพฐ. เป็นต้น
2.2 กลไกระดับจังหวัด เช่น การพัฒนาบุคลากร, การสร้างระบบโค้ชและพี่เลี้ยง, การสร้างระบบ PLC, การจัดตั้ง Lab School, การดำเนินงานทั้งสองด้านนี้ให้นำเสนอและรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการประชุม, ออกแบบการปฏิรูปโดยใช้พื้นที่เป็นฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งระบบ, ศึกษาวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่องและการพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น
2.3 กลไกระดับสถานศึกษา มุ่งเน้น การพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน, สนับสนุนช่วยเหลือพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษานำร่องอย่างเป็นรูปธรรม, ดำเนินการวิเคราะห์ภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนที่ส่งผลกระทบการเรียนการสอนเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน, จัดการเรียนการสอนโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา, เพิ่มบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม เป็นต้น

ภาคีเครือข่ายได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตลอดระยะเวลาที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน ดังตัวอย่างแผนภาพการทำงานที่ถูกนำเสนอโดย TDRI ด้านล่างนี้

ยังมีรายละเอียดอีกจำนวนมากจากคณะทำงานที่ร่วมกันเสนอ ที่สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะได้นำไปสรุป และดำเนินการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาต่อไป

ภาพความสำเร็จจากการร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่มาร่วมกันประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ภาพผู้เข้าร่วมประชุมดำเนินการจนล่วงเวลาโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือแสดงออกถึงความเมื่อยล้าให้เห็น พลังความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่จะเป็นเหมือนแผนที่นำทางให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562  และภาพที่ทุกคนต้องการเห็นร่วมกันคือ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศผ่านพื้นที่ที่พวกเราร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โรงเรียนอนุบาลสตูล ที่นี่เด็กๆ ทุกคนเป็นนักวิจัยและเลือกเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง!อนุมัติแล้ว! การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2563
บทความล่าสุด