เปลี่ยนจาก "สอน" เป็น "เรียน" สร้างคุณค่าการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

26 สิงหาคม 2564

สถานการณ์ที่ผันผวนและคาดเดาไม่ได้เลยว่า นักเรียนจะได้มาเรียนที่โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยกันอีกเมื่อไร เด็กๆ อยากมาโรงเรียน ครูก็อยากสอน แต่ความหวังของทั้งเด็กๆ และครูเป็นเพียงความหวังที่ริบหรี่มาก

คำถามเกิดขึ้นในใจของทุกคนว่า “เมื่อไรเด็กจะมาโรงเรียนได้” “เมื่อไรครูจะได้สอน” แรกๆ ครูก็ปรับวิธีการเป็นการให้การบ้านที่นักเรียนต้องมารับการบ้านด้วยตนเองเพื่อจะได้พบหน้ากันระหว่างครู นักเรียน และเพื่อนๆ สัปดาห์ละครั้ง ต่อมาสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น ผู้ปกครองจึงมารับการบ้านด้วยตนเองเพื่อนำกลับไปช่วยสอนลูกหลานที่บ้าน เรียกได้ว่า เป็นความร่วมมือกันระหว่างบ้านและโรงเรียนแบบกระทันหัน แบบไม่ได้คาดฝันมาก่อนเลย

     

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนจาก “สอน” เป็น “เรียน”

ปีการศึกษา ๒๕๖๓ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจัดการเรียนรู้แบบหน่วยการเรียนรู้ มีเป้าหมายให้นักเรียนทำเป็นทำได้ และนำไปใช้ในชีวิตได้จริง ต่อมาได้ประสานกับผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียน ดร.สุรพงศ์ งามสม ท่านแนะนำว่า “ไหนๆ ก็ให้เด็กเรียนรู้แบบนี้แล้ว ลองนำสิ่งที่เด็กลงมือทำไปเชื่อมโยงกับหลักวิชาหรือความรู้ที่เด็กต้องการเรียน โดยใช้ application ที่ชื่อว่า IXL Learning ซึ่งเป็นแหล่งรวมของความรู้ต่างๆ มากมาย เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้เรียน โดยไม่ใช่การบอกความรู้ แต่นักเรียนต้องลงมือทำและสร้างความคิดรวบยอดด้วยตนเอง” นี้คือจุดเริ่มต้นของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย

การใช้  IXL Learning ระยะแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเติมเต็มความรู้ที่คาดว่านักเรียนจำเป็นต้องรู้ สาเหตุเพราะว่าโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยมีครูไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชาเอก จึงคิดว่า IXL Learning จะเป็นตัวช่วยที่ดี ครูจึงมีหน้าที่ไปสำรวจในระบบก่อนว่ามีเนื้อหาอะไรที่นักเรียนจะเข้าไปเรียนได้บ้าง แล้วนำมาแนะนำและพานักเรียนเข้าไปเรียนรู้ แนะนำการเข้าใช้ผ่าน email address การสะสมคะแนน การเลือกเนื้อหาและระดับชั้นที่เหมาะสมกับตนเอง

ต่อมาในสถานการณ์ที่นักเรียนมาโรงเรียนไม่ได้ ครูจะทำคลิปสอนออนไลน์ก็ไม่ได้ เพราะสภาพปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโฉมใหม่กันทั้งโรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจะเลิกสอน แต่เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง นี่คือจุดเริ่มต้น

ภาพเด็กกำลังเรียน IXL ที่โรงเรียน

  

ภาพเด็กกำลังทำ IXL ที่บ้าน

มองเห็นอะไรจากการเปลี่ยน

๑. นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ที่ดีได้ ถ้าเขาอยากรู้และสนุกกับการเรียนรู้นั้น  สิ่งที่มองเห็นอย่างชัดเจนคือ นักเรียนเรียนรู้ได้เอง แม้ว่า application นี้จะใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด จากข้อมูลเราพบว่านักเรียนอนุบาลก็เรียนรู้ได้แล้ว แต่ต้องมีการฝึกฝนการใช้ application ที่เพียงพอ ส่วนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ นี้เรียนรู้ได้เอง และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ บางคนเรียนรู้ได้ดีกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

นอกจากนี้บนฐานของความอยากรู้อยากทำ นักเรียนจะขอให้ครูทำ qr code การเข้าระบบให้ง่ายขึ้น นักเรียนรู้วิธีการเข้าถึงระบบได้หลากหลาย ถ้ามาโรงเรียนจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าอยู่บ้านจะใช้โทรศัพท์มือถือ นักเรียนบางคนยังไม่มีโทรศัพท์มือถือของตนเองก็จะขอยืมโทรศัพท์มือถือของผู้ปกครอง โดยจะสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าจะขอยืมมาทำอะไร จากการสอบถามผู้ปกครองได้รับรู้จากลูกหลานว่าจะเรียนอะไร ไม่มีนักเรียนคนใดบอกกับผู้ปกครองว่าครูบังคับให้ทำ แต่จะบอกว่าอยากทำ อยากเรียน และเรียนรู้จนได้รับผลสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากสถาบันที่เป็นสากล

ภาพใบ certificate

  

    

 

๒. ครูปรับตัวจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ที่ปรึกษา” เป็นเพื่อนคอยสอดส่อง ดูแล ช่วยเหลือให้นักเรียนได้ลงมือทำ ครูจะมองเห็นรายละเอียดของนักเรียนมากขึ้น รู้ว่าต้องช่วยเหลือนักเรียนแต่ละคนอย่างไร โดยครูจะดูข้อมูลในระบบ

เช่น นักเรียนตอบคำถามกี่ข้อ เข้าเรียนในระดับใดบ้าง เลือกเรียนเรื่องอะไร เป็นต้น ครูจะนำข้อมูลนี้ไว้เป็นร่องรอยการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน

๓. ผู้ปกครองเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับลูกหลาน จากการสอบถามผู้ปกครองหลายคน ตอบไม่ได้ว่า IXL คืออะไร แต่มองเห็นความตั้งใจของลูกหลานแล้วรู้สึกดีใจที่โรงเรียนให้นักเรียนทำแบบนี้ ผู้ปกครองบางคนส่งเสริมลูกโดยการซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตให้ บางคนจำเป็นต้องส่งลูกมาใช้อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนหากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่บ้านไม่เสถียร

ภาพผู้ปกครองร่วมเรียนรู้ไปกับลูกหลาน

๔. ส่วนในมุมของผู้อำนวยการโรงเรียนมองว่า “ความเชื่อมั่นว่านักเรียนต้องทำได้สิ” เป็นต้นทุนสำคัญที่ต้องยอมลงทุนใช้งบประมาณที่มีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซื้อ account ของระบบ IXL Learning แจกให้นักเรียนทุกคน เราลงทุนกับการซื้ออย่างอื่นมาเยอะแล้ว ลองลงทุนซื้อ account ให้นักเรียนบ้าง ก็ได้ผลคุ้มค่ามากทีเดียว

ภาพใบเสร็จ และใบเสนอราคา ค่า account

นักเรียนเรียนรู้อย่างไร

            โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเชื่อว่า การให้นักเรียนฝึกบ่อย ทำบ่อย เผชิญเหตุบ่อย ทำให้เกิดสมรรถนะ อย่างน้อยการที่นักเรียนเรียนรู้ผ่าน IXL ด้วยตนเอง โดยมีครูพิพัฒน์ พานิชย์พะเนาว์ หรือ ครูมอส ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นผู้ฝึกฝนให้ในระยะแรก และต่อมานักเรียนมาโรงเรียนไม่ได้ จึงฝึกฝนต่อด้วยตนเอง ส่งผลให้นักเรียนเกิดสมรรถนะอย่างชัดเจนอย่างน้อย ๔ สมรรถนะ 

ภาพ dashboard ผลการเรียนรู้ IXL Learning โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย

ผลการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ จำนวน ๒๗ คน แสดงใน dashboard ของแอพพลิเคชั่น IXL Learning ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ แสดงให้เห็นว่านักเรียนตอบคำถามได้ทั้งสิ้น ๒๗,๘๓๒ คำถาม ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น ๗๖ ชั่วโมง เรียนที่โรงเรียน ๔๓ ชั่วโมง และเรียนที่บ้านใช้ ๓๓ ชั่วโมง ทำให้นักเรียนมีทักษะในระดับเชี่ยวชาญ (skills mastered) ๖๔๐ ทักษะ และทักษะในระดับชำนาญ (skills proficient) ๖๕๘ ทักษะ การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ความอยากรู้ และการสนับสนุนของผู้ปกครอง ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ดังนี้

เรียนด้วยเลี้ยงน้องด้วย

            เด็กหญิงปิยธิดา งามเลิศ ชื่อเล่น ปาย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย เล่าว่าเมื่อไม่ได้มาโรงเรียน อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านและเลี้ยงน้อง ชอบเรียน IXL เพราะว่าเรียนเองได้ เลือกเรื่องที่จะเรียนได้ ง่ายหรือยากก็อยู่ที่เราเลือก เลือกเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะชอบบวกลบเลขมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่าอยากให้ตนเองเก่งวิชานี้ รองลงมาเลือกเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะต้องการนับเลขเป็นภาษาอังกฤษได้ เรียนแบบนี้ถ้าเราอยากฟังเสียงก็จะได้ยินเสียงชาวต่างชาติ แล้วพูดตามได้ เช่น lisen to me, number บอกกับแม่ว่า IXL เป็นโปรแกรมช่วยสอน แม่ให้ยืมโนตบุ๊คมาทำโดยแม่จะเข้าไปดูก่อนว่ามันคืออะไร วิธีเลือกเนื้อหา คือ ลองเข้าไปทำดูก่อน ถ้าง่ายก็ทำต่อ ใช้วิธีนี้เพราะว่ายังอ่านภาษาอังกฤษไม่เก่ง เรียนแบบนี้ไม่เหมือนเรียนกับครูตรงที่ไม่มีการบ้าน และอยากเรียนเวลาไหนก็เข้าไปเรียนได้ ครั้งแรกที่เข้าไปเรียนที่บ้านต้องถามแม่ประมาณ ๕ ข้อ หลังจากนั้นก็ทำเองและรู้สึกสนุกจึงทำต่อมาเรื่อยๆ กำลังใจคือการได้รับใบเกียรติบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่ต้องเสียเงินไปเรียนต่างประเทศ และคิดว่าก้าวหน้ากว่าโรงเรียนอื่น จากการเรียนรู้แบบนี้บ่อยๆ ก็ทำให้รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องท่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อ่าน เขียน และแปลความหมายได้ เช่น listen, number, to, good, you

ภาพเด็กหญิงปิยธิดา

          

       

ยืมโทรศัพท์ย่ามาเรียน ใช้การเดาในระยะแรก

            เด็กหญิงจันทร์จิรา วงศ์ศรี ชื่อเล่น กระต่าย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย กระต่ายอยู่กับย่า ตอนเริ่มเรียนใหม่ๆ ยังไม่มีโทรศัพท์จึงยืมโทรศัพท์ย่ามาใช้ บอกกับย่าว่าเอามาใช้เรียน IXL แต่ย่าไม่รู้ว่าคืออะไร ต่อมามีโทรศัพท์ส่วนตัว ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะทำง่าย ไม่ได้เลือกเนื้อหา กดไปเลย เจอเรื่องไหนก็เรียน ครั้งแรกใช้วิธีการเดาไปก่อน ต่อมาก็เรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ฟังคำถามภาษาอังกฤษซ้ำๆ จนเข้าใจคำถาม เรียน IXL ต่างจากเรียนกับครู เพราะง่ายและสนุกเหมือนเล่นเกม ตั้งใจว่าจะเรียนทุกวัน วิธีเรียนคือทำข้อสอบแต่ละข้อ ดูจากภาพและฟังเสียงไปด้วย แรกๆ ก็จะเดา ทำบ่อยๆ แล้วรู้สึกสนุก ส่วนการได้ใบประกาศจากการเรียนก็ดี แต่ไม่รู้สึกดีใจเท่าไร เพราะไม่รู้จักว่าคนให้คือใคร

ภาพเด็กหญิงจันทร์จิรา

เรียนด้วยตนเอง เพราะไม่รู้จะถามใคร

            เด็กหญิงอริสรา  บุญแต่ง ชื่อเล่นปีใหม่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย  เลือกเรียนวิชาภาษาอังกฤษ  ชอบวิชานี้เพราะ อยากรู้ คำศัพท์ และสนุกกับการทำข้อสอบไปเรื่อยๆ ประทับใจ ที่ได้รางวัลคือเกียรติบัตรจากคนต่างประเทศที่เราไม่รู้จัก เลือกเนื้อหาและความยากที่เหมาะสมกับตน โดยลองเข้าไปทำดูก่อน ถ้ายากก็เลือกทำเนื้อหาที่ง่ายกว่าก่อน ยืมโทรศัพท์ของแม่มาทำ บอกว่าจะทำข้อสอบภาษาอังกฤษ ขณะทำแม่ก็อยู่ด้วย การเรียนแบบนี้ต้องเรียนเองอยู่บ้าน ครูช่วยไม่ได้ ถามใครก็ไม่ได้ ไม่รู้จะถามใคร เลยต้องทำความเข้าใจจนทำถูก การเรียนแบบนี้ดี อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยากแนะนำให้โรงเรียนสอนให้นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจะได้เก่งกว่านี้ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อ่าน เขียน และแปลความหมายได้ เช่น How many, wet, tree, sun, moon

ภาพเด็กหญิงอริสรา

เวลาเรียนก็เปิดเสียงให้แม่ฟังด้วย เรียนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่เบื่อ รู้สึกสนุกเหมือน ลุ้นผ่านด่านในเกม

            เด็กหญิงณัฐภัสสร จันแสน ชื่อเล่นแก้ม ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะชอบที่จะสื่อสารกับคนอื่น เลือกเนื้อหาโดยลองทำตั้งแต่ระดับอนุบาล และทำไปเรื่อยๆ ทำในโทรศัพท์ส่วนตัว แต่ก็บอกแม่ว่าเรียนภาษาอังกฤษ เวลาเรียนก็เปิดเสียงให้แม่ฟังด้วย เรียนแล้วไม่เบื่อ รู้สึกสนุกเหมือนลุ้นผ่านด่านในเกม

การเรียนแบบนี้ต่างจากเรียนกับครูตรงที่ต้องทำเองไม่ได้คุยกับใครเลย จึงอยากให้เพื่อนมาเรียนด้วยกัน เพื่อจะได้สื่อสารกันได้ ตอนที่ ผอ.เอาใบเกียรติบัตรมาให้ดูทำใหรู้สึกภูมิใจที่โรงเรียนไกลๆ อย่างบ้านน้ำกร่อยได้เรียนจากต่างประเทศ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อ่าน เขียน และแปลความหมายได้ เช่น dog, book, pan, fan, chair จำคำศัพท์ได้ เพราะว่าเห็นบ่อย ได้ยินเสียง บางครั้งพอได้ยินเสียงก็รู้เลยว่าต้องทำอะไร

ภาพเด็กหญิงณัฐภัสสร

 

เลือกตามตัวอย่างใน Recommentdation เนื่องจากมีตัวอย่างแบบฝึกหัดให้เห็น

เด็กหญิงธิพกัญญา จันทศรี  ชื่อเล่นฟาง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ชอบคณิตศาสตร์ เพราะสนุก และคิดเลขได้ง่าย มีรูปบอกจำนวน มีแบบฝึกหัดที่หลากหลาย เลือกตามตัวอย่างใน Recommentdation เนื่องจากมีตัวอย่างแบบฝึกหัดให้เห็น ขอยืมโทรศัพท์พี่สาวมาใช้เรียน บอกว่าขอทำการบ้านหน่อย ขณะที่ทำพ่อแม่ก็นั่งดูอยู่ด้วย พ่อแม่ไม่เข้าใจว่า IXL คืออะไร รู้ว่าเป็นการบ้านภาษาอังกฤษ

วิธีเรียนแบบนี้ต่างกับครูตรงที่ไม่มีใครอธิบายให้ เราต้องทำเอง ประทับใจกับการเรียนนี้เพราะได้ยินเสียงเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเสียงที่อ่านข้อสอบให้ฟัง เลยชอบและอยากเรียนอยากฟัง อยากให้น้องๆ เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้น ป.๑ เลย เลือกแบบฝึกที่ง่ายๆ ก่อน คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อ่าน เขียน และแปลความหมายได้ เช่น one, two, three, four, fifth รู้สึกประทับใจที่เรียนแล้วได้ใบเกียรติบัตรจากต่างประเทศด้วย ดีและสะดวกทั้งที่ไม่เคยรู้จักว่าใครเป็นคนให้

ภาพเด็กหญิงธิพกัญญา

   

ทำข้อสอบครั้งแรกทำได้ช้า เพราะไม่เข้าใจ ต้องเอาไปแปลในโปรแกรมแปลภาษา ใน Google ตอนหลังทำเองได้เร็วขึ้น

            เด็กหญิงกัญญาภัค พระประทุม ชื่อเล่นแอน ช้ันประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย บ้านอยู่ในป่าลึกไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แม่จึงซื้ออินเทอร์เน็ตให้ เด็กๆ ที่อยู่ใกล้เคียงก็จะมาใช้เข้า IXL ที่บ้านด้วย แม่สนับสนุนให้ลูกได้เรียน และชอบมาดูเวลาแอนเรียน แอนเลี้ยงน้องด้วยเรียนไปด้วย ทำข้อสอบครั้งแรกทำได้ช้า เพราะไม่เข้าใจ ต้องเอาไปแปลในโปรแกรมแปลภาษา ใน Google ตอนหลังทำเองได้เร็วขึ้น และสนุกที่เรียน ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเข้าใจง่าย มีภาพประกอบ เลือกเนื้อหาจากในหน้าใบแนะนำ ครั้งแรกที่เข้าไปทำก็เริ่มรู้สึกชอบเลย โดยไม่คาดคิดว่าจะได้รับเกียรติบัตรจากต่างประเทศโดยไม่ต้องไปต่างประเทศ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อ่าน เขียน และแปลความหมายได้ เช่น math, English, pick, for, in

ภาพเด็กหญิงกัญญาภัค

 

เรียนทุกวัน วันละ ๒ ชั่วโมง บังคับตัวเองได้ ไม่ต้องให้แม่บังคับ

            เด็กชายธนทัต วงศ์ศรีแก้ว ชื่อเล่นทัต ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ทัตเข้าไปเรียน IXL โดยใช้อีเมลล์ส่วนตัว บางทีก็ใช้ qr code ที่ครูทำให้ แม่จะเติมอินเทอร์เน็ตให้เดือนละ ๒๐๐ บาท ทัตบอกว่า App IXL ที่เรียนมี ๔ วิชา คือ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา ทัตทำเวลาว่างวันละ ๒ ชั่วโมง  ทัตบอกว่า บังคับตัวเองให้เรียนได้ ไม่ต้องให้แม่บังคับ ถ้าเข้าไปเรียนทุกวันก็จะทำได้คล่องขึ้น ซึ่งทัตชอบวิชาภาษาอังกฤษมากที่สุด เพราะสนุกและสาระเยอะ เวลาทำมีทั้งออกเสียง พูด และกดตอบ เมื่อเราตอบผิดจะขึ้นข้อที่ถูกให้ แรกๆ ทำไม่ค่อยได้แต่พอทำไปเรื่อยๆ รู้สึกง่ายขึ้น และทำถูกมากขึ้น เพราะเราเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด ทำแต่ละครั้งประมาณ ๑๕-๓๐ ข้อ จะได้คะแนนประมาณ ๑๐๐ คะแนน ขึ้นไป ทัตบอกว่าชอบทำที่บ้านเพราะมันสงบทำให้มีสมาธิ และอยากเรียนแบบนี้ในปีต่อไป พ่อแม่ไว้วางใจเพราะเชื่อว่าลูกเป็นคนตั้งใจเรียน การเรียนแบบนี้ไม่ต่างจากการเรียนกับครู ขึ้นอยู่กับตัวเรา ถึงจะอยู่ป่าอยู่เขา แต่เราก็เรียนและได้รับใบประกาศได้ ดีใจมาก อยู่ประเทศไหนก็เรียนได้ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อ่าน เขียน และแปลความหมายได้ เช่น note, big, slope, horse, blue ทัตบอกว่าถ้ามีเพื่อนคนใดอยากเรียนแต่ทำไม่เป็นก็ยินดีจะสอนให้ อยากให้รู้วิธีใช้งาน เพราะ  ixl มันดีมีหลายวิชา อยากให้เริ่มเรียนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล

ภาพเด็กชายธนทัต

   

ครูมอสกับการสร้างมูลค่าการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

            ครูมอส ครูพิพัฒน์ พานิชย์พะเนาว์ ตำแหน่งครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย เพิ่งบรรจุเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ รับผิดชอบการฝึกฝนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ให้เรียนรู้ IXL ครูมอสเริ่มฝึกฝนให้นักเรียนใช้ IXL โดยมีระยะการฝึกฝน ๓ ระยะ ดังนี้

ระยะที่ ๑ ระยะเชื่อมโยง IXL ไว้ในหน่วยการเรียนรู้ เมื่อครูจัดกิจกรรมตามหน่วยการเรียนรู้แล้ว จะเชื่อมโยงกับ IXL ทันที โดยครูจะพานักเรียนไปที่ห้องคอมพิวเตอร์แล้วก็ให้นักเรียนทำด้วยตนเองในหัวข้อที่ครูกำหนดให้ ระยะนี้เป็นเสมือนการเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน ตอนนั้นนักเรียนยังมาโรงเรียนได้

ระยะที่ ๒ ระยะอิสระในการเรียนรู้ IXL โดยครูมอสจะพานักเรียนเข้าห้องคอมพิวเตอร์แต่ไม่จำกัดเนื้อหาที่จะเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ความยากง่าย

ระยะที่ ๓ ระยะทำเองที่บ้าน นักเรียนส่วนใหญ่อยู่บ้านไม่ได้มาโรงเรียน ยกเว้นนักเรียนที่สมัครใจมาโรงเรียน และมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ มาเป็นอุปกรณ์อื่นๆ และต้องอยู่บ้าน ครูมอสทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ดูข้อมูลจากในระบบว่านักเรียนคนใดทำหรือไม่ทำ ทำได้ในระดับใด หลังจากนั้นก็จะติดต่อพูดคุยกับนักเรียนเป็นระยะ

ความคิดเห็นส่วนตัวของครูมอส เห็นว่า นักเรียนมีพัฒนาการเรียนรู้ที่รวดเร็วมาก สังเกตจากระยะที่ ๑ เป็นระยะที่ครูต้องบอกหลายอย่าง แต่เมื่อผ่านระยะที่ ๑ ไปแล้ว นักเรียนเริ่มมีวิธีการเรียนรู้ของตนเอง บางทีก็อาจเป็นโอกาสดีของนักเรียนที่มาโรงเรียนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาตนเอง ทำให้กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองมีความชัดเจนขึ้น ตอนนี้นักเรียนได้เป็นผู้เรียนรู้แล้ว เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับครูมอส

ภาพครูพิพัฒน์ พานิชย์พะเนาว์ (ครูมอส)

บทสรุป เปลี่ยนจาก “สอน” เป็น “เรียน”

            ถ้าวันนี้เด็กมาโรงเรียนได้ เราคงไม่ได้เห็นศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าวันนี้ครูยังไม่เปลี่ยนจาก “สอน” เป็น “เรียน” โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยคงไม่ได้เห็นเด็กเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ชัดเจน บทเรียนจากสถานการณ์โควิด ทำให้โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยปรับเปลี่ยนวิถีแห่งการเรียนรู้ที่สมดุล สอดคล้องกับจุดเน้นของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย “สร้างวิถีแห่งชีวิตสมดุล” ปรับเปลี่ยนให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ที่ดีในสังคมอันผันผวน

ภาคผนวก

ข้อมูลแสดงจำนวน certificate ของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔)

 


ผู้เขียน: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย 
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: พิพัฒน์ พานิชย์พะเนาว์  ครูโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย 

 

Facebook Comments
? ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ #EP.2 “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง -Inclusive Education”ทีมวิจัยคณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่ Coaching and Empowering ครูโรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ ใช้หลักสูตร Modern Komthieng พัฒนาผู้เรียนสู่สมรรถนะ 10 ประการ
บทความล่าสุด