สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดสรรงบประมาณ 4,000,000 บาท/จังหวัดพื้นที่นวัตกรรม หนุนจัดการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

26 มีนาคม 2563

กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 6 ภูมิภาค 8 จังหวัด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศไทย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ผสานจุดแข็งของการปฏิรูปแบบ top – down และ bottom – up รองรับด้วยพระราชบัญญัติ เน้นนวัตกรรมการบริหารจัดการ นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน และนวัตกรรมเชิงนโยบายในทุกมิติ

นายประเสริฐ  บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 แผนงานบูรณาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ โครงการปรับปรุงระบบการเรียนรู้ กิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ งบรายจ่ายอื่น รายการค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาระบบการศึกษา โดยใช้รูปแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 8 จังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รายละเอียดดังไฟล์นี้ (หนังสือราชการ ที่ ศธ 02145/5189 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เรื่อง แจ้งจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563)

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ปัจจุบันครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดสตูล 2) จังหวัดระยอง 3) จังหวัดเชียงใหม่ 4) จังหวัดกาญจนบุรี 5) จังหวัดศรีสะเกษ 6) จังหวัดปัตตานี 7) จังหวัดยะลา และ 8) จังหวัดนราธิวาส จังหวัดละ 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

โดยให้มุ่งเน้นดำเนินงานในกิจกรรมสำคัญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน อาทิ 1) การสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ และรับฟังความต้องการในการจัดการศึกษาของพื้นที่ 2) สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนนำร่องให้สามารถดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของพื้นที่ 3) ติดตามผลการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนนำร่องและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 4) สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยผ่านการพิจารณาหรือให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด 

ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้าย คือ แต่ละจังหวัดจะมีผลการคิดค้นนวัตกรรมและการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของพื้นที่นวัตกรรม ที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตอบสนองความคาดหวังและต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสามารถนำไปขยายผลในระดับประเทศในวงกว้างต่อไป


ผู้เขียน: ปภาวรินท์ เรืองประจวบกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: thaipost.net/, aec-tv-online.com/

Facebook Comments
ข้อค้นพบจากการพัฒนาสมรรถนะการอ่านกับการทดสอบการอ่าน RT โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยโรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง จ.ศรีสะเกษ ยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ด้วย 3 นวัตกรรม • Problem – Based Learning • จิตศึกษา • PLC
บทความล่าสุด