ข้อค้นพบจากการพัฒนาสมรรถนะการอ่านกับการทดสอบการอ่าน RT โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย

26 มีนาคม 2563

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเห็นคุณค่าและความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะการอ่านของนักเรียนทุกคน และมีแนวคิดว่า สมรรถนะการอ่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะศตวรรษที่ 21 (3R8C) มีความจำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ “หน้าที่ของโรงเรียนคือพัฒนานักเรียนให้มีสมรรถนะการอ่าน” ไม่ใช่มีหน้าที่ในการสอน “วิชาภาษาไทย สอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เท่านั้น” 

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงนำกระบวนการฝึกฝนการอ่านมาใช้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา และเมื่อมีการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test:RT) ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อหาทางดำเนินการต่อไป

ผลการทดสอบการอ่าน (Reading Test: RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย 
ภาพที่ 1 ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกของผู้เรียน (Reading Test: RT)

จากผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test: RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ด้านการอ่านรู้เรื่อง ปรากฏว่า

  1. คะแนนเฉลี่ยร้อยละของโรงเรียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าระดับประเทศทุกปี
  2. นักเรียนรายบุคคล มีคะแนนอยู่ในระดับดีมาก และ ดี ไม่มีนักเรียนคนใดอยู่ในระดับพอใจและปรับปรุง ทุกปี
ข้อค้นพบ

1. นักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยได้คะแนนจากการอ่านออกเสียงน้อย แต่อ่านรู้เรื่อง ข้อค้นพบนี้ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดสอบประเมินความสามารถด้านการอ่านออกของผู้เรียน (Reading Test: RT)  พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านออกเสียง ต่ำกว่าระดับเขต และระดับประเทศ

ภาพที่ 2 คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านออกเสียง อ่านรู้เรื่อง และภาพรวม

ในส่วนนี้ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยยอมรับได้ เนื่องจากการอ่านรู้เรื่อง หรือ Reading Literacy เป็นสมรรถนะหนึ่งที่มีความสำคัญกับคนในยุคศตวรรษที่ 21 มากกว่าการอ่านออกเสียง  แต่ส่วนหนึ่งเห็นว่าผลการประเมินด้านการอ่านออกเสียงยังมีองค์ประกอบหลายด้านที่ยังไม่ชัดเจน เช่น การกำหนดเวลา มาตรฐานการสอบ ความกล้าหาญในการอ่านของนักเรียนต่อหน้าบุคคลแปลกหน้า เป็นต้น 

2. การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน และการค้นหาตัวเองเพื่อให้เป็นสถานศึกษานำร่อง ตาม พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อนักเรียน ข้อค้นพบนี้ได้มาจากสถานการณ์จริงในโรงเรียนที่ทุกคนพยายามปรับเปลี่ยนตนเอง จากวิธีการเดิมมาสู่วิธีการใหม่ ในเรื่องหลักสูตรสถานศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ การประสานเครือข่ายของทุกภาคส่วน การประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ซึ่งต้องใช้เวลา ใช้ความคิด ต้องมีความอดทน ในการค้นหาวิธีการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว แต่โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยค้นพบตัวเองว่าการปรับเปลี่ยนทุกเรื่องต้องเน้นผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นประเด็นสำคัญ ในการปรับการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยจึงเลือกใช้วิธีการสร้างสมรรถนะการอ่านของนักเรียนเป็นหลัก ผลการประเมินการอ่านในครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า “การปรับเปลี่ยนไปสู่สถานศึกษานำร่อง ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายการสอนอย่างเลื่อนลอย แต่ต้องเปลี่ยนเพื่อนักเรียน” 

3. สมรรถนะการอ่านรู้เรื่องเป็นสิ่งที่นักเรียนทำได้ด้วยตนเอง ข้อค้นพบนี้เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลการอ่านออกเสียงและการอ่านรู้เรื่องของนักเรียนรายบุคคล แม้ว่านักเรียนจะอ่านออกเสียงให้ครูฟังไม่ได้ แต่เมื่อนักเรียนอ่านข้อสอบด้วยตนเองกลับสามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้ นั่นแสดงว่านักเรียนได้ใช้ความรู้ ทักษะ ด้านการอ่านจนบรรลุผลสำเร็จ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า “บทบาทของครูเป็นเพียงแค่ผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน ส่วนบทบาทการเรียนรู้เป็นเรื่องของนักเรียน ถ้าครูทำหน้าที่ควบคุมการเรียนรู้ด้วยการสอนทุกอย่าง ทำทุกเรื่องให้กับนักเรียน การเรียนรู้และสมรรถนะก็จะไม่เกิดขึ้นกับนักเรียน”

4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ไม่ให้ความสนใจคำไกลตัว แต่สนใจคำใกล้ตัว แม้ว่าคำนั้นจะมีความซับซ้อนทางภาษาก็ตาม
ข้อค้นพบนี้ได้มาจากข้อมูลผลการประเมินด้านการอ่านออกเสียงและอ่านรู้เรื่อง สรุปได้ว่า นักเรียนอ่านออกเสียงไม่ได้ แต่อ่านรู้เรื่อง เมื่อพิจารณาคำที่นักเรียนอ่านได้ และอ่านไม่ได้ พบข้อสังเกต ดังนี้
คำที่นักเรียนทุกคนอ่านได้ “ไข่เจียว” “กลับบ้าน” และ “วาดภาพ”
คำที่นักเรียนทุกคนอ่านไม่ได้ “เหรียญทอง” “รับทราบ”
คำที่นักเรียนทุกคนอ่านไม่ได้ทั้งสองคำอาจเป็นคำที่นักเรียนไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
การพิจารณาประเด็นนี้ ทำให้ได้ข้อคิดว่า “การพัฒนาสมรรถนะการอ่านของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยทำให้นักเรียนไม่สนใจคำไกลตัว แต่สนใจคำใกล้ตัว” เนื่องจากในการฝึกฝนของนักเรียนมุ่งเน้นไปที่ “การสร้างคำใหม่จากประสบการณ์ในชีวิตของนักเรียน และมีการนำบริบทของคำมาใช้เพื่ออธิบายความหมายของคำอย่างสม่ำเสมอ”

5. การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย เป็นการให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยที่นักเรียนทุกคนจะมีแบบฝึกการอ่านไปฝึกอ่านที่บ้านร่วมกับผู้ปกครอง แล้วมาสร้างคำใหม่ร่วมกับเพื่อนและครูที่โรงเรียน ซึ่งนักเรียนฝึกอ่านแบบฝึก แม่ ก กา อย่างเดียว แต่สามารถอ่านเข้าใจได้ดีไม่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนคิดคำได้มากกว่าคำในบัญชีคำพื้นฐานของแต่ละชั้น แต่จะมีปัญหาเรื่องการสะกดคำตามที่คิดให้ถูกต้องตามหลักภาษา ซึ่งบางครั้งครูก็ต้องให้ความช่วยเหลือบ้าง เนื่องจากนักเรียนยังไม่เคยเห็นรูปคำนั้น ๆ มาก่อน การทำแบบนี้ครูก็จะไม่ต้องติวเด็กก่อนสอบ “การติวเด็กก่อนสอบอาจทำให้โรงเรียนได้คะแนนเฉลี่ยสูง แต่เมื่อนักเรียนเลื่อนชั้นขึ้นไป นักเรียนจะลืมคำนั้น แล้วจะกลับไปสู่สภาพอ่านไม่ออกเช่นเดิม” 

ภาคผนวก

ข้อมูลผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test:RT) โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย

ภาพที่ 3 ร้อยละนักเรียนอ่านออกเสียง จำแนกตามระดับคุณภาพ
ภาพที่ 4 ร้อยละนักเรียนอ่านรู้เรื่อง จำแนกตามระดับคุณภาพ
ภาพที่ 5 ร้อยละนักเรียนอ่าน (ภาพรวม) จำแนกตามระดับคุณภาพ


ผู้เขียน: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย โทร. 087-9628239
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
จังหวัดนราธิวาส เตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เฉพาะจังหวัดนราธิวาสสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดสรรงบประมาณ 4,000,000 บาท/จังหวัดพื้นที่นวัตกรรม หนุนจัดการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
บทความล่าสุด