โรงเรียนบ้านคูซอด พื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ ปรับหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ เน้นจิตศึกษา PBL และ PLC

26 พฤษภาคม 2563

โรงเรียนบ้านคูซอด ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านคูซอด ตำบลคูซอด อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนบ้านคูซอดมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีบุคลากรเป็นผู้บริหาร 1 คน คุณครูประจำการ 6 คน อัตราจ้าง 3 คน และมีนักเรียนทั้งหมด 112 คน

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้

จากการศึกษาของประเทศไทยนั้น ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการศึกษาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงและไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีจำนวนนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก ใช้วิธีการจัดการศึกษาที่ล้าสมัย รวมถึงมีการตื่นตัวของกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาของประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาความด้อยคุณภาพของผู้เรียนเมื่อเทียบกับการจัดการศึกษาของประเทศชั้นนำอื่น ๆ

ปัญหาของนักเรียนไทยที่เห็นได้อย่างชัด คือ ปัญหาในเรื่องของการประยุกต์ใช้ เพราะระบบการศึกษาของโรงเรียนยังคงยึดติดกับวิธีการสอนแบบเดิม ๆ ทำให้นักเรียนถูกปลูกฝังด้วยการเรียนรู้แบบท่องจำเพื่อนำไปสอบ มากกว่าที่จะเรียนรู้เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ และมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถนำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ตนเรียนรู้มาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคมได้ กล่าวคือ เด็กไทยนั้นมีสมรรถนะที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อันเป็นเรื่องที่เสียเปรียบอย่างมากในการแข่งขันกับนานาประเทศ และจากสาเหตุดังกล่าว ทำให้นางสาวพีระพรรณ ทองศูนย์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูซอด จึงคิดหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ พัฒนาครู และผู้เรียนไปพร้อม ๆ กัน ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนรู้เสียใหม่ โดยเปลี่ยนจุดเน้นจากที่เคยเป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา (Content – Based) คือ เน้นเนื้อหาวิชา และมีมาตรฐานและตัวชี้วัดจำนวนมาก ไปเป็นหลักสูตรที่เป็นฐานสมรรถนะ (Competency – Based) คือ มุ่งไปยังพฤติกรรมที่ผู้เรียนโดยตรง ยึดความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้เป็นหลัก เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้เรียนจะมีทักษะและความสามารถในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เมื่อผ่านการเรียนรู้

โดยโรงเรียนบ้านคูซอดได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยโมเดลลำปลายมาศพัฒนา มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ในโครงการของ สสส. และได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา โดยการเรียนการสอนของโมเดลลำปลายมาศพัฒนานี้ ประกอบด้วย การพัฒนาผู้เรียนแบบจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – Based Learning) และการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional Learning Community) มีรายละเอียดดังนี้

กิจกรรมจิตศึกษา

คือ การพัฒนาผู้เรียนจากภายใน เข้าถึงปัญญา สร้างการตระหนักรู้ของนักเรียนให้นักเรียนรู้สึกตัว รู้ตัวเอง และมีจิตใจจดจ่อกับสิ่งรอบตัวที่กำลังเกิดขึ้น มีความพร้อมในการรับข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อความจำและการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความฉลาดในด้านของจิตวิญญาณและความฉลาดด้านอารมณ์ ปฏิบัติต่อเด็กอย่างมีคุณค่าความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน บ่มเพาะความดีงามให้กับเด็ก และเสริมสร้างความดีงามที่มีอยู่เดิมให้งอกงามยิ่งขึ้น

ในกิจกรรมจิตศึกษานี้จะเริ่มหลังเคารพธงชาติและก่อนเริ่มการเรียนการสอน คุณครูจะให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลมเพื่อทำกิจกรรมฝึกสมอง สร้างสมาธิเป็นเวลา 20 นาที เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในแต่ละวัน

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – Based Learning)

คือ การที่นักเรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) ตั้งแต่การคิด ริเริ่มและลงมือทำ โดยเน้นให้นักเรียนมองปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว ตั้งคำถามจากปัญหานั้นและค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง นักเรียนจะได้ตั้งคำถามและแก้ปัญหาในเรื่องที่ตัวเองสนใจหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของตัวเอง เพื่อฝึกทักษะ กระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้อีกด้วย เพราะนักเรียนจะกล้าพูดและแสดงออกในสิ่งที่คิดจากข้อมูลที่ค้นคว้ามาด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ โดยไม่มีคุณครูดุว่าหรือตัดสินว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกหรือผิด ซึ่งคุณครูจะต้องทำงานหนักขึ้นแต่ได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดีกว่าการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดิม ๆ แน่นอน เพราะเมื่อนักเรียนได้เรียนสิ่งที่อยากรู้ ได้ลงมือหาคำตอบด้วยตนเองและสนุกกับมัน นักเรียนจะสามารถจำและเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้มากขึ้นด้วย

กิจกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานนั้น ทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียน มีการพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทั้งการเขียน การสื่อสาร ช่วยให้นักเรียนรู้จักการปรับตัวยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนในชั้นเรียน เพื่อช่วยให้เกิดเรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี

สำหรับคุณครูผู้สอนเองจากการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานนั้น คุณครูได้พัฒนาตนเอง คือ ศึกษาหลักสูตร ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้สื่อ เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ภายในและนอกชุมชนเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ออกแบบกิจกรรม การใช้สื่อให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ทันกับคำตอบของนักเรียน โดยออกแบบกิจกรรมการสอนแบบบูรณาการรายวิชา และเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูใช้คำถามกระตุ้นคิดให้นักเรียนนำความรู้เดิมที่มีอยู่มาใช้ และเกิดการเรียนรู้โดยการตั้งคำถาม พร้อมกับให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการพัฒนาตนเองได้

การขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional Learning Community)

คือ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคุณครูและชุมชนวิชาชีพ โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนการสอนด้วย โดยการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม เพื่อเสนอปัญหาและแนวการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ และเรียนรู้เพิ่มเติมเทคนิคในการจัดกิจกรรมและรับข้อเสนอแนะจากการ Site visit จากโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมเดียวกันและได้รับการนิเทศจากศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบพื้นที่นวัตกรรม การสังเกตการสอนในชั้นเรียน การReflection หลังจากสังเกตการสอนเพื่อเติมเต็มให้การสอนครั้งต่อไปสมบูรณ์ขึ้น  และจากการร่วมมือ ร่วมใจ ของคุณครู ผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองที่ทำความเข้าใจและเปิดใจ รับการนำนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาทักษะโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปที่นักเรียนในโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น

จากการที่โรงเรียนบ้านคูซอดได้ดำเนินการใช้นวัตกรรมการสอนของโมเดลลำปลายมาศพัฒนาเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอนนี้ ทำให้โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงกับโรงเรียนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้อำนวยการพีระพรรณ ทองศูนย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูซอด มีความพึงพอใจอย่างมากที่ได้นำนวัตกรรมทั้ง 3 นวัตกรรมมาใช้ เพราะเป็นการเรียนการสอนแบบใหม่ ถือเป็นเรื่องราวใหม่ ๆ ทั้งในส่วนของคุณครูผู้สอน นักเรียน และผู้อำนวยการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกับทุกฝ่าย

ส่วนผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนนั้น นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีสติจดจ่อกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้รับทักษะในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากการเรียนในแบบเดิม ๆ และยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้จริง รวมถึงมีความกล้าแสดงออกในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่คิดต่อคุณครูผู้สอนมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ยิ่งขึ้น

ทางด้านผลสัมฤทธิ์ของบุคลากรในโรงเรียน คุณครูผู้สอนมีความสุขที่ได้สอนในรูปแบบของนวัตกรรมทั้ง 3 นวัตกรรมนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดใจ และทำความเข้าใจ พร้อมกับการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียน เพราะคุณครูผู้สอนนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอน นอกจากนี้คุณครูผู้สอนยังได้พัฒนาตนเองผ่านการวางแผน มีการทำงานร่วมกันของคุณครูผู้สอนภายในโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีระบบ ด้วยการที่วางแผนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน และผู้อำนวยการเองก็มีบทบาทหน้าที่ สนับสนุนสร้างสนามพลังบวกให้กับครู บุคลากร นักเรียน และผู้ผู้ปกครองในทุกเรื่อง ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สร้างการแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันระหว่างคุณครูผู้สอนอีกด้วย

เป้าหมายของโรงเรียน

เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนกาสอนและยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ผู้เรียนได้รับการพัฒนาคุณภาพและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชน โดยใช้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นฐานการพัฒนาการศึกษา “เปลี่ยนจากจุดเล็ก ๆ ที่เราทำได้ด้วยมือเรา”


ผู้เขียน: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, พีระพรรณ ทองศูนย์
ผู้ให้สัมภาษณ์: พีระพรรณ ทองศูนย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูซอด จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านคูซอด

Facebook Comments
กระบวนการเรียนรู้สู่สัมมาชีพโดยใช้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ “ล่องแพแม่วิน” โรงเรียนแม่วินสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่โรงเรียนบ้านนากลาง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ สื่อสารเพื่อการเรียนรู้ เชื่อมภาษาถิ่นกับภาษาไทย ด้วยนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา
บทความล่าสุด