นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา ช่วยให้โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้ ในบริบทที่มีความหลากหลายทางภาษาได้อย่างไร: กรณีศึกษา รร.บ้านประจัน จ.ปัตตานี

28 มิถุนายน 2564

โรงเรียนบ้านประจัน 1 ใน 32 สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ที่ตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2 ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา โดยเน้นไปที่ช่วงรอยต่อในระหว่างระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 ด้วยการใช้ภาษาแม่หรือภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารก่อนเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งในแต่ละช่วงชั้นมีขอบข่ายในการสอนที่แตกต่างกัน

ท่ามกลางพื้นที่และสังคมที่มีความหลากหลายทางภาษา การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาของโรงเรียนบ้านประจัน ในระยะแรกจึงอาจมีความจำเป็นต้องใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสาร โดยเฉพาะในระดับชั้นอนุบาล 1 หลังจากนั้นจึงค่อยๆสอดแทรกภาษาไทยเข้าไปในการเรียนการสอนและการสื่อสารอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เช่น ในบางรายวิชาอาจมีการใช้คำทับศัพท์เป็นภาษามลายูถิ่น เป็นต้น แล้วจึงค่อยๆ ลดสัดส่วนของการใช้ภาษามลายูถิ่นลง จนเป็นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาไทยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงแรกของการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา ผู้ปกครองอาจมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องของการใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสาร เพราะอาจทำให้บุตรหลานของตนอาจเรียนรู้ภาษาไทยได้ช้าลงกว่าสถานศึกษาอื่น ๆ แต่เมื่อดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนไปได้ระยะหนึ่งจึงเห็นผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ว่า เด็ก ๆ มีพื้นฐานทางภาษาไทยที่มั่นคงขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและคลายความกังวลดังกล่าวลงไปได้ในที่สุด

การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษานั้นจะต้องพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครูจะต้องเปลี่ยนมุมมองจากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิม ๆ ต้องมีพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ซึ่งโรงเรียนบ้านประจันได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อีกทั้งโรงเรียนบ้านประจันยังได้รับโอกาสเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในพื้นที่ที่ใช้ภาษาที่หลากหลาย และได้รับโอกาสร่วมถ่ายทอดเทคนิคการเรียนการสอนแบบทวิภาษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา นอกจากผู้เรียนมีพื้นฐานทางภาษาไทยที่มั่นคงขึ้นแล้ว ยังพบว่าผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน มีนิสัยรักการอ่าน มีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น มีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นและถ่ายทอดไปสู่ผู้อื่นได้

สำหรับความภาคภูมิใจของโรงเรียนบ้านประจันจากการเป็นทางเลือกหนึ่งในหลายๆนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น คือ มีการได้รับความสนใจและมีการมาศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานจากต่างประเทศอยู่เสมอ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะจากพื้นที่ที่มีบริบทเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน รวมถึงได้มีโอกาสนำเสนอความสำเร็จผ่านรายการทางโทรทัศน์อีกหลายครั้ง

จากความสำเร็จดังกล่าวจากการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา โรงเรียนบ้านประจันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ในพื้นที่ที่มีบริบทเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ หรือพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และความหลากหลายทางภาษา ที่ประสบกับปัญหาสำคัญ คือ การเรียนการสอนและการสื่อสารภาษาไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานนั้น สามารถนำเทคนิควิธีการจากโรงเรียนบ้านประจันไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยในบางพื้นที่ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ อย่างเช่นพื้นที่ชายขอบทางภาคเหนือ ก็ได้มีการไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนบ้านประจัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเกี่ยวกับพื้นที่ของตนว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อนำความสำเร็จหรือแนวคิดที่ได้ไปเป็นทางเลือกเพื่อปรับใช้ต่อไป จึงเปรียบได้ดั่งการขยายผลเพื่อขยายผล เป็นไปได้ว่าในอนาคต หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและต่อยอดไปในทิศทางที่ถูกต้อง ความสำเร็จจากจุดเล็ก ๆ จุดนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้าก็เป็นได้ กล่าวคือ ความสำเร็จนี้อาจไม่เกิดขึ้นแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจสามารถยกระดับไปยังประเทศอื่น ๆ ที่กำลังประสบปัญหาจากความหลากหลายทางภาษาได้เช่นเดียวกัน

 


 


ผู้ให้สัมภาษณ์: แวมัสนะห์ แส๊ะเด็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านประจัน
ผู้เขียน: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา, , เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
3 จังหวัดนำร่อง ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC
บทความล่าสุด