โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC

29 มิถุนายน 2564

จุดเริ่มต้นนวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนบ้านตะเคียนราม

โรงเรียนบ้านตะเคียนราม อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศรีสะเกษ เขต 3 มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนายอำนวย มีศรี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนบ้านตะเคียนรามได้มีการนำนวัตกรรมการศึกษามาใช้เป็นรูปแบบการจัดการศึกษา คือ โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC จุดเริ่มต้นของการนำนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC มาเป็นส่วนสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านตะเคียนรามนั้น เนื่องจากนายอำนวย มีศรี เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตร จึงทำให้ผู้อำนวยการต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการศึกษาและค้นคว้าหาแนวทางที่จะสามารถนำมาลดปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการไปศึกษาดูงานของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้เข้าร่วมเรียนรู้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมิน และการพัฒนาครู

เมื่อได้ไปเรียนรู้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินพัฒนาครูมาแล้ว นายอำนวย มีศรี ได้นำรูปแบบทั้ง 2 มาปรับใช้กับการเรียนการสอนกับนักเรียนทุกระดับชั้น รวมถึงการพัฒนาครูไปพร้อมๆกัน ผลลัพธ์ในช่วงแรกถือว่าเป็นไปด้วยดี ค่อยๆมีการปรับตัวของการเรียนการสอนทั้งนักเรียน ครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียน

จากวันนั้นสู่พัฒนาการโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC

การใช้นวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC ของโรงเรียนบ้านตะเคียนรามยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆของทุกฝ่าย จนกระทั้งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 คณะผู้แทนจากภาคีเพื่อการศึกษาไทย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้เข้ามาศึกษาดูงานการจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนบ้านตะเคียนราม พร้อมทั้งได้หารือกันสร้างกลไกขับเคลื่อนพื้นที่การศึกษาจังหวัดศรีสะเกษขึ้น โรงเรียนจึงถูกชักชวนและสมัครเข้าเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจนถึงปัจจุบัน

โรงเรียนบ้านตะเคียนรามใช้นวัตกรรมจิตศึกษากับนักเรียนเพื่อบ่มเพาะปัญญาภายใน ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการจดจ่อ ให้เกิดการรู้ตัว ให้เกิดการฝึกฝน ให้เกิดการเรียนรู้ และการสร้างพลังสงบ จากช่วงเวลาที่ผ่านมาของการนำนวัตกรรมจิตศึกษามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนสอนนั้น ส่งผลให้นักเรียนมีความจดจ่อ ให้ความสนใจกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และกำลังลงมือทำได้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาขึ้นในลักษณะการแสดงออก เชื่อมโยงความรู้สึกของตนเองกับเพื่อน สัมพันธ์มิติต่อเพื่อนร่วมชั้นและครูผู้สอน รวมทั้งการใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning : PBL) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมองเห็นปัญหาและหาคำตอบ โดยการมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียน ได้ลองเผชิญหน้ากับปัญหา ได้ลองวางแผน และลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ผ่านกระบวนการ ชง เชื่อม ใช้ ซึ่งเวลาของการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นในห้องเรียนเสมอไป ทุกๆที่สามารถเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ได้ และทุกปัญหาต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อได้ลองหาวิธีการแก้ไขปัญหาแล้วนั้น นักเรียนต้องสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำได้จริง

นวัตกรรม PLC (Professional Learning Community) คือ นวัตกรรมที่โรงเรียนบ้านตะเคียนราม นำมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาครูผู้สอน เป็นกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้ครูผู้สอนได้มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนกัน ร่วมพูดคุย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเล่าถึงการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการ ใส่ใจกันและกัน ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และทบทวนสิ่งที่ผ่านมาของกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งกระบวนการ PLC นี้ไม่เพียงแต่นำมาเป็นเครื่องมือของครูเท่านั้น แต่ยังได้มีการนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารกับผู้ปกครองของนักเรียนด้วยเช่นกัน โรงเรียนบ้านตะเคียนรามได้มีการเชิญผู้ปกครองมาร่วมรับฟัง รับรู้และทำความเข้าใจกับรูปแบบการเรียนการสอนและการได้แสดงผลงานของนักเรียนที่ผ่านมาในแต่ละช่วงของการเรียน พร้อมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนของผู้ปกครองต่อผลการเรียนและความประพฤติที่เปลี่ยนไปของนักเรียนด้วยเช่นกัน

คำตอบการเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านตะเคียนราม

“ คนเรามีต้นทุนไม่เท่ากัน เมื่อไม่รู้ต้องแสวงหาคำตอบของปัญหาเหล่านั้น
ต้องช่วยกัน กระตุ้นกันและกันอยู่เสมอ เพื่อให้ได้ซึ่งคำตอบที่เหมาะสมกับเรา ”

นายอำนวย มีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนราม

หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านตะเคียนรามด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC ทำให้สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทั้งในตัวนักเรียน ครู ผู้บริหาร รวมถึงผู้ปกครอง เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการศึกษา ทดลอง เรียนรู้ และนำมาปฏิบัติจริง จากครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ร่วมมือร่วมใจกันแสวงหาแนวทาง รูปแบบและการออกแบบแผนการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสมกับตนเองและมีความสอดคล้องกับมาตรฐานที่หลักสูตรฯกำหนดได้เป็นอย่างดี จึงเกิดผลลัพธ์ที่ทำให้ทุกฝ่าย ได้แสดงศักยภาพ ความสามารถ และความถนัดของตนเองออกมาได้

เป้าหมายต่อไปของโรงเรียนบ้านตะเคียนรามคือ การนำนวัตกรรมการศึกษาที่มีอยู่สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมุ่งเน้นสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิดสมรรถนะที่จำเป็น ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ ความสามารถไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่เพียงแต่ในหนังสือหรือห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนรู้สึกถึงการมีอิสระทางความคิดและการลงมือทำ อาจสร้างผลลัพธ์ที่มากกว่าที่เคยมีมา เพราะการได้เรียนรู้จริงจากสถานการณ์จริง การได้เรียนรู้ผ่านธรรมชาติหรือการได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว จะส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจ เข้าถึงได้มากกว่าเดิม ซึ่งสามารถเห็นได้จากโรงเรียนบ้านตะเคียนราม เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การหาแนวทางหรือวิธีการที่เหมาะสมกับตนเองก็สามารถแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาได้และยังสร้างผลลัพธ์ที่ดีในด้านต่าง ๆ ได้ด้วย

 


 


ผู้เขียน:
ฐิติมา ท้วมทอง, อำนวย มีศรี
ผู้ให้สัมภาษณ์: อำนวย มีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนราม จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: อำนวย มีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนราม จังหวัดศรีสะเกษ

Facebook Comments
นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา ช่วยให้โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้ ในบริบทที่มีความหลากหลายทางภาษาได้อย่างไร: กรณีศึกษา รร.บ้านประจัน จ.ปัตตานีนราธิวาสเดินหน้าพัฒนากรอบหลักสูตรจังหวัด
บทความล่าสุด