นาเกลือแห่งการเรียนรู้ สู่หลักสูตรบูรณาการอิงสมรรถนะ เชื่อมโยงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น: รร.บ้านตันหยงลุโละ

22 กรกฎาคม 2564

โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ ตั้งอยู่ที่ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 เป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี มีบริเวณที่ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล ท่ามกลางชุมชนผู้นับถือศาสนาอิสลาม จากการสัมภาษณ์นางแวอาซีซะห์  หวังแอ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ ได้กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจ

โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ ได้จัดทำหลักสูตรอิงสมรรถนะ ซึ่งนำการเรียนรู้แบบ Phenomenon-based learning (PhBL) และ Project Based learning (PBL) มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยได้หยิบยกเรื่องของนาเกลือมาเป็นหลักสูตร ให้ชื่อว่า “นาเกลือแห่งการเรียนรู้สู่หลักสูตรบูรณาการอิงสมรรถนะ” เป็นหลักสูตรที่ทางโรงเรียนต้องการบูรณาการวิชาการที่เกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ เพื่อให้มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นให้ผู้เรียนฝึกทักษะวิชาชีพผ่านการปฏิบัติจริง เหตุที่นำเรื่องของนาเกลือมาใช้ในการเรียนรู้นั้น เนื่องจากการทำนาเกลือเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชุมชนตันหยงลุโละ อีกทั้งผู้เรียนบางคนก็ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้เลย ทำให้ทางโรงเรียนเกิดความต้องการที่จะสร้างจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์และรู้คุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยชูเรื่องของนาเกลือเป็นสำคัญ

ในการจัดการเรียนการสอนนั้น จะมีการแบ่งขอบเขตของเนื้อหาในแต่ละระดับชั้น ซึ่งจะมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ถึง ป.6 ผู้เรียนจะได้รับโอกาสในการเรียนในหลักสูตรนี้ทุกคน โดยก่อนที่ผู้เรียนจะจบการศึกษาในระดับชั้น ป.6 นั้น จะมีกิจกรรมในการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือที่ได้มาจากนาเกลือในชุมชน เพื่อเป็นกิจกรรมหรือโครงงานก่อนจบการศึกษาและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเกลือ โดยที่ครูผู้สอนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ครูในโรงเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำนาเกลือในท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งเป็นการสอนควบคู่กับครูที่สอนในรายวิชานั้นๆ อีกทั้งยังมีเครือข่ายเยาวชนในชุมชนให้การสนับสนุนทั้งในด้านอุปกรณ์ วิธีการ และการอำนวยความสะดวก ซึ่งทำให้การเรียนรู้ได้รับการเติมเต็มและมีมิติที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้การสนับสนุนในด้านพี่เลี้ยงหรือโค้ช เพื่อช่วยเหลือและแนะนำวิธีการในการจัดการเรียนการสอนของครู รวมถึงติดตามในเรื่องของการ PLC ของครูจากผลที่เกิดขึ้นว่ายังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างไรบ้าง และควรส่งเสริมอย่างไรต่อไป

การเรียนการสอนในหลักสูตร“นาเกลือแห่งการเรียนรู้” ทำให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้อย่างไม่รู้ตัว เพราะความเพลิดเพลินจากการเรียนรู้แบบกึ่งเรียนกึ่งเล่น แต่จะทราบได้อย่างไรนั้นว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ทางโรงเรียนจึงได้มีการจัดทำแบบประเมินที่สามารถให้ผู้เรียนแสดงออกได้ว่าผู้เรียนนั้นเกิดการเรียนรู้จริงๆ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มผู้เรียนที่มีการเรียนรู้ช้า หรือที่เรียกกันว่า “นักเรียนหลังห้อง” ก็มีความสนใจในการเรียนเช่นเดียวกันจากวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดการมีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนในกลุ่มนี้ และทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่ได้ถูกลืมหรือถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากได้รับองค์ความรู้แล้ว พบว่าผู้เรียนมีปฏิกิริยาในเชิงบวก มีความกระตือรือร้นในการเรียน เช่น มักจะมีการถามครูอยู่เสมอว่าเมื่อไรจะได้เรียนหรือทำกิจกรรมในรูปแบบนี้ ในเรื่องนั้นๆ อีก โดยที่ผู้เรียนจะมีการนำเอาองค์ความรู้ไปเชื่อมโยงไปยังครอบครัวหรือที่บ้านเพื่อนำไปขยายผลต่อไป หลังจากนั้นก็จะมีการนำสิ่งที่ทำมาบอกเล่าแก่ครูและเพื่อนร่วมชั้นได้ฟังว่าเกิดความสำเร็จหรือพบข้อผิดพลาดในส่วนไหนบ้าง เพื่อที่ครูจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อเติมเต็มในการจัดการเรียนการสอนต่อๆไป รวมถึงยังพบอีกว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ผลการทดสอบระดับชาติก็ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นตอบโจทย์การศึกษา เนื่องจากต้องให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้เห็นถึงการตอบสนองจากผู้เรียน ซึ่งเป็นอะไรที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้เรียนมีความสนใจในเรื่องที่เรียนในรายวิชานั้นๆ ในกระบวนการนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโรงเรียนได้เดินมาถูกทางแล้วสำหรับวิธีการหรือนวัตกรรมที่พยายามทำขึ้น ทำให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเกิดความมั่นใจ มีกำลังใจที่จะขับเคลื่อนต่อไป และจะพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อเกิดความสำเร็จขึ้นแล้ว สำหรับสิ่งที่จะทำต่อไปนั้น นางแวอาซีซะห์  หวังแอ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ ได้กล่าวว่า หลักสูตรนาเกลือแห่งการเรียนรู้ ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อดำเนินการต่อไป เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ ตอบโจทย์ที่ต้องการที่อยากเห็นผู้เรียนรักการเรียนรู้ หรือมีความสุขจากการเรียนรู้จากวิธีการต่างๆ ไม่ถูกตีกรอบด้วยวิธีการเดิมๆ และต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เพิ่มมิติใหม่ๆเข้าไป เพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยในขณะนี้ทางโรงเรียนกำลังพัฒนาการเรียนรู้แบบ Home-Based Learning โดยผสมผสานกันระหว่าง Phenomenon, Ploblem และ Project เข้าด้วยกัน ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามกันต่อไป

สุดท้ายนี้ เราจะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน และการเรียนรู้อาจไม่ได้เกิดจากแค่วิธีการหรือรูปแบบเดิมๆ ถ้าหากเรามองออกไปรอบๆจากจุดที่เรายืนอยู่ เพียงแค่เราเปิดใจ ไร้อคติ และไม่ยึดติด เราอาจพบกับแหล่งอันเป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้จากธรรมชาติ จากการประกอบอาชีพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออื่นๆอีกมากมายที่เราคาดไม่ถึง ที่ซึ่งก่อนหน้านี้อาจเคยถูกมองข้ามไป หากเราจับต้องให้ได้ ใช้ให้เป็น ประโยชน์มากมายอันมหาศาลก็จะเกิดขึ้นแก่ผู้เรียน เพื่อสร้างโลกทัศน์ใหม่ๆ สร้างความหมายใหม่และเพิ่มคุณค่าให้กับคำว่า “การเรียนรู้” อาจเปรียบได้กับการลงทุนในธุรกิจที่อันจะมีแต่ผลกำไร ไม่มีขาดทุนอย่างแน่นอน

 


ผู้เขียน: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
ผู้ให้สัมภาษณ์: แวอาซีซะห์  หวังแอ  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ
ผู้สัมภาษณ์: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา, , เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ

Facebook Comments
ชุมชนเป็นฐานสร้างการเรียนรู้ ผู้ปกครอง ครู ชุมชน ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง: โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูลสพฐ. จัดสรรงบแนว Block Grant ให้อิสระโรงเรียนใช้พัฒนานวัตกรรม “ยกคุณภาพ-ลดเหลื่อมล้ำ” หนุนเขตและ คกก.ขับเคลื่อนพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยง
บทความล่าสุด