โรงเรียนบ้านคาโต “โรงเรียน ชุมชน สร้างคน สร้างอาชีพ”

2 สิงหาคม 2564

โรงเรียนบ้านคาโต สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 โดยมีนางสาวจรุณี ทองสุข เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งอยู่ที่ ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ท่ามกลางชุมชนของผู้นับถือศาสนาอิสลาม และเนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากชายหาดปะนาเระ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชนจึงเกี่ยวเนื่องผูกพันกับทะเลมาอย่างยาวนาน อาทิ การทำประมงชายฝั่งทะเล การทำข้าวเกรียบจากปลา การเลี้ยงสัตว์ทะเล หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเลทั้งแบบสดและแบบแห้ง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้นี่เองที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของชุมชนบ้านคาโตในเวลาต่อมา

ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน

โรงเรียนบ้านคาโต ได้จัดทำและพัฒนาหลักสูตร โดยใช้พื้นฐานจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 นำมาปรับให้เป็นรูปแบบการบริหารจัดการหลักสูตรสู่การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการจัดทำหลักสูตร ก็เป็นไปตาม มาตรา 20 และ 25 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ด้วยเช่นกัน ซึ่งโรงเรียนมีการสอนทั้งแบบ Content-Based และการสอนเชิงบูรณาการ หรือสอนโดยการเน้นการปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมรรถนะ โดยใช้หลักการ Phenomenon-Based Learning (PBL) ซึ่งเป็นสิ่งที่โดดเด่นของโรงเรียนบ้านคาโต ความโดดเด่นที่ว่านั้น คือการเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นสาระการเรียนรู้ 13 ตัว เช่น การทำประมงชายฝั่ง ข้าวเกรียบ ขนมอาซูรอ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนในชุมชนนี้อยู่แล้ว การจัดการเรียนรู้นี้มีกระบวนการที่เป็นลำดับขั้นตอน เริ่มจากการให้นักเรียนสำรวจแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เมื่อพบสิ่งที่สนใจแล้วก็จะนำสิ่งที่อยากเรียนรู้มาบอกเล่าหรือพูดคุยและขอคำปรึกษาจากครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนจะเข้าไปเรียนรู้อย่างจริงจัง และเมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาจัดทำเป็นโครงงานต่อไป ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำประมงชายฝั่ง จะเน้นไปที่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 โดยการนำนักเรียนลงไปเรียนในทะเล ซึ่งก่อนที่จะนำนักเรียนไปเรียนรู้นั้น ในการติดต่อวิทยากร การติดต่อเรือประมง เสื้อชูชีพ การบริหารจัดการอื่นๆ นักเรียนจะต้องทำเองทั้งหมด ตั้งแต่การพูดคุยกับครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าจะจัดการอะไรอย่างไร มีการวางแผนในการลงทะเลอย่างไร ไปเมื่อไหร่ ไปเรียนรู้เรื่องอะไร ซึ่งนักเรียนบางคนทำเรื่องการตกหมึก การตกกุ้ง การตกปลา หรือการทำประมงขนาดเล็กจากการออกเรือเล็กซึ่งได้ปลามาจำนวนน้อย ทำให้นักเรียนเกิดความคิดอยากช่วยชาวประมง มีการทำออกเป็นโครงงาน บางคนก็ทำเว็บเพจให้ชาวประมงที่ทำประมงขนาดเล็กได้เจอกันกับกลุ่มลูกค้าที่ อ.ปะนาเระ อีกด้วย
  2. การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำข้าวเกรียบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นภูมิปัญญาชาวบ้าน และขึ้นชื่อในพื้นที่ โดยการเรียนรู้นี้จะเน้นไปที่นักเรียนในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 มีการเชิญวิทยากรในชุมชนเพื่อพานักเรียนทำ โดยโรงเรียนสนับสนุนด้วยการซื้ออุปกรณ์การทำให้นักเรียนเลย การเรียนรู้ในการทำข้าวเกรียบ ไม่ใช่แค่ทำเป็นเท่านั้น แต่ต้องทำออกมาได้ดีกว่า โดยที่นักเรียนจะดัดแปลงรูปแบบหรือรูปทรงแต่ทำจากปลาเหมือนกัน ซึ่งมีผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพนี้และอยากสอนให้กับนักเรียนว่าทำข้าวเกรียบอย่างไร เมื่อจัดทำเป็นโครงงานนักเรียนบางคนทำออกมาเป็นข้าวเกรียบปลากระป๋อง ข้าวเกรียบรสตำลึง ซึ่งแล้วแต่ตามที่สนใจว่าจะเพิ่มตัวเลือกแบบไหน บางคนก็สนใจในเรื่องของการต้มข้าวเกรียบสด ว่าระยะเวลาของการต้ม 20 นาที และ 30 นาที ผลที่ออกมามีความแตกต่างกันอย่างไร

การทำโครงงานของนักเรียนนั้น จะใช้เวลา 15 สัปดาห์ในหนึ่งภาคเรียน จากนั้นโรงเรียนจะมีการจัดงาน Open House เพื่อให้นักเรียนได้ร้อยเรียงเรื่องราวในการนำเสนอโครงงานที่ไม่ใช่แค่การนำเสนอธรรมดา เช่น การแสดงละครถึงขั้นตอนระหว่างการทำโครงงาน การร้องเพลง การเล่นลิเกฮูลู รวมถึงยังมีคาบเรียนสำหรับ Phenomenon โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำในสิ่งที่สนใจ โดยสามารถเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ต่างๆ ได้ เช่น การนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปใช้อย่างไร ใช้ภาษาไทยอย่างไร

ทั้งนี้โรงเรียนบ้านคาโต ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในส่วนโครงงานฐานวิจัย การพัฒนาแผนการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการทำ PLC ในทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี จนโรงเรียนได้เป็นต้นแบบในเรื่องของการสอนโครงงานฐานวิจัย อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ในด้านหลักสูตร และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในส่วนของ PBL รวมถึงการได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 โดยศึกษานิเทศก์ ซึ่งทางโรงเรียนมองว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ คือการได้รับการช่วยเหลือจากหลายคนหลายด้าน เพราะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายต่อการพัฒนาโรงเรียน

ผลลัพธ์ที่ได้มา

เนื่องจากโรงเรียนบ้านคาโต มีนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร จึงทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับครู และหวาดกลัวที่จะออกมานำเสนอหน้าชั้น รวมถึงแบกภาระในการเรียนมากมาย ทำให้แรงจูงใจและทัศนคติในการเรียนลดน้อยลง รวมทั้งปัญหาเรื่องพฤติกรรม การหนีเรียน ซึ่งตั้งแต่โรงเรียนนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เด็กได้ลงมือทำมากขึ้น ทำให้นักเรียนบางคนมีความมั่นใจมากขึ้น อันเนื่องจากการมีทักษะชีวิตหรือมีความถนัดในเรื่องต่างๆระหว่างการทำโครงงาน ถึงแม้จะสื่อสารภาษาไทยไม่เก่ง แต่ก็ได้รับการยอมรับจากเพื่อน สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ มีการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้มีที่ยืน กล้าแสดงออก กล้านำเสนอ กล้าที่จะสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครู อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดเรียนได้อีกด้วย และผลลัพธ์ในด้านของชุมชน ก็มีท่าทีเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความใกล้ชิดของชุมชนกับโรงเรียนมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการได้รับความร่วมมือและสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งการมีวิทยากรจากชุมชนเข้ามาให้ความรู้กับนักเรียน คนในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือในการบริหารจัดการ เช่น ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำประมงนั้น ในการออกเรือแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นการทำประโยชน์เพื่อการศึกษา เจ้าของเรือและผู้เกี่ยวข้องจึงเลือกที่จะพานักเรียนออกทะเลในวันที่เป็นวันหยุดของเขา โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเรือ พร้อมทั้งคนขับเรือและเสื้อชูชีพ ซึ่งทางโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำมันของเรือเท่านั้น รวมถึงมีการพาไปแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น คลังปูม้า บ่อปลา การทำน้ำตาลปี๊บ การทำปลาแห้ง เป็นต้น

ก้าวต่อไป

ถึงแม้มีความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้วในหลายด้าน แต่โรงเรียนบ้านคาโตจะไม่หยุดนิ่ง เพื่อที่จะพัฒนาและต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรและการออกแบบการเรียนการสอนที่จะต้องพัฒนาในรูปแบบที่เป็นฐานสมรรถนะมากขึ้น การต่อยอดในส่วนของการทำโครงงาน เพราะขณะนี้นักเรียนมีความเข้าใจ และเปิดใจมากขึ้น แต่ยังขาดทักษะหลายอย่าง จะเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป โดยอาจขอความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญหรือโค้ชเข้ามาช่วยสนับสนุน นอกจากนี้โรงเรียนกำลังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียน เพื่อสร้างความสนใจให้กับนักเรียนและทำให้เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลในปัจจุบันนั้น ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้ และสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือ การส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการน้อย เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ท่ามกลางแหล่งผลิต เช่น อาหารสด อาหารทะเล อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งนอกจากการทำโครงงานตามที่กล่าวไปแล้วนั้น โรงเรียนต้องการที่จะต่อยอดให้นักเรียนสามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการน้อยได้ ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ หรือการขายผ่านออนไลน์ เพื่อให้เกิดสมรรถนะในด้านของอาชีพ เป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้สู่ครอบครัว โดยขณะนี้โรงเรียนได้ทำ MOU ร่วมกับสถาบันการศึกษาในสายอาชีพ ในการที่จะรับเข้าเรียนและดูแลทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อด้วย เนื่องจากนักเรียนบางคนอาจมีทักษะแต่ยังขาดทุนทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างโอกาสในการพัฒนาความสามารถต่อไป

เรื่องราวของโรงเรียนบ้านคาโตตามที่กล่าวมา เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาเท่านั้น แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยกลไกและความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจและเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เป็นการตอกย้ำอย่างมีนัยสำคัญว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนในแง่มุมของการมีส่วนร่วมนั้นมีความสำคัญอย่างมาก และการเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ แหล่งเรียนรู้ก็สามารถพบเห็นได้รอบๆตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา องค์ความรู้ต่างๆ หรืออาชีพในพื้นที่นั้นๆ เพียงแค่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญ นำมาประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงให้เข้ากับการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน และการสนับสนุนในการพัฒนาด้านต่างๆจากหน่วยงานหรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้วยแล้ว จะเกิดประโยชน์และสร้างโอกาสนานัปการให้แก่นักเรียน และอาจขยับขยายหมายรวมไปถึงระดับครอบครัว หรือระดับชุมชนเลยก็ได้ หรือกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่อยู่แค่ในมิติของการศึกษาเท่านั้น แต่เชื่อมโยงไปถึงมิติของเศรษฐกิจและสังคมได้อีกด้วย ดังที่โรงเรียนบ้านคาโตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในตอนนี้

 


 


ผู้เขียน:
ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
ผู้ให้สัมภาษณ์: จรุณี ทองสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคาโต
ผู้สัมภาษณ์: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านคาโต จังหวัดปัตตานี

Facebook Comments
สพฐ. ขอความร่วมมือ คกก.ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 8 จังหวัด ร่วมจัดทำข้อเสนอปลดล็อก “การบริหารงานบุคคล” จากล่างขึ้นบน (bottom up)“โรงเรียนนำร่องเพื่อการเรียนรู้” กรณีศึกษาของ สพป.เชียงใหม่ เขต 2 จากมุมมองของ ศน. ผู้รับผิดชอบในพื้นที่
บทความล่าสุด