สรุปผลการจัดเวทีรับฟัง... การกำหนดหลักเกณฑ์ความพร้อมของจังหวัดในการเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใหม่

3 กุมภาพันธ์ 2564

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) จัดประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Could meeting นำโดยนายพิทักษ์ โสตถยาคม ผอ.สบน และหน่วยงานที่ส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายโกวิท คูพะเนียด ผอ.กลุ่มกฎหมายการศึกษา สํานักนิติการ สป.ศธ, รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ , ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI, นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล, นายดาลัน นุงอาหลี กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล, นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่, นายธงชัย มั่นคง กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง, นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ, นายอภิชาติ อดิศักดิ์ภิรมย์ กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล, นายรตนภูมิ โนสุ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 1, นายสมพงศ์ พรมจันทร์ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 6, นางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี รอง ผอ.ศปบ.จชต., นายอํานวย มีศรี ผอ.โรงเรียนบ้านตะเคียนราม, นายสมศักดิ์ ประสาร ผอ.โรงเรียนบ้านปะทาย และนางสาวณัฐนันท์ อมรานันทศักดิ์ นักวิจัย TDRI เพื่อรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาความพร้อมของจังหวัดในการจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การประชุมมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ตามมาตรา 6 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการพิจารณาว่าจังหวัดใดมีความพร้อมเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมาตรา 7 วรรคสอง บัญญัติให้จำนวนและคุณสมบัติของคณะผู้เสนอ หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอเสนอเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศกำหนด และมาตรา 8 บัญญัติให้การเสนอให้จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามมาตรา 7 วรรคสอง ต้องกระทำอย่างเปิดเผย และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดตามที่พระราชบัญญัติกำหนด ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 3/2563 เห็นชอบให้มีการขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ อีกทั้ง มติคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เห็นชอบให้ สบน. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการและเป็นผู้ยกร่าง “ประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาความพร้อมของจังหวัดในการจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ….” และนำร่างฉบับนี้ ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนได้ข้อสรุปในเบื้องต้นสำหรับเป็นแนวทางการจัดทำ (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าว ประเด็นสำคัญ อาทิ

  1. มีสถานศึกษา หน่วยงาน องค์กร หรือคณะบุคคลในจังหวัด ที่ต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ และมีความพร้อมเป็นผู้นำการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่
  2. มีความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีการระบุบทบาทการทํางานร่วมกันอย่างชัดเจนและสอดคล้องกัน
  3. มีพี่เลี้ยงหรือโค้ชที่เข้าใจเป้าหมายและหลักการสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการและการขับเคลื่อน
  4. กลุ่มสถานศึกษาที่ประสงค์จะเป็นสถานศึกษานำร่องมี (ร่าง) แผนพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ระยะ 3 ปี ที่แสดงให้เห็นถึงกลไกการขับเคลื่อนยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนและวัดผลได้ ประเด็นจำนวนและคุณสมบัติของคณะผู้เสนอ มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีจำนวน 3 ใน 6 คน และประกอบด้วยผู้ใดบ้าง รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งต้องกระทำอย่างเปิดเผยและต้องมีรายละเอียดตามที่ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดไว้

นอกจากนั้น หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเสนอขอเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ควรเปิดกว้าง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่เป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ปฏิบัติตามได้ยาก จนไม่มีจังหวัดใดสนใจเข้าร่วมเป็นพื้นที่ทดลองที่จะนำไปสู่การได้ข้อค้นพบใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ สบน. อยู่ระหว่างนำผลการประชุมดังกล่าวมาใช้ยกร่างประกาศฯ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งเมื่อร่างประกาศฉบับดังกล่าวเสร็จสิ้น จนนำไปสู่การลงนามในประกาศอย่างเป็นทางการโดยประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี) แล้ว จังหวัดใดพร้อมสถานศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ ที่สนใจจะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง สามารถยื่นเสนอคำขอเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประกาศกำหนดต่อไป


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 กับการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมการศึกษา“กัลยาณิวัฒนาสร้างสุข” เสริมสร้างความสุขทั้งกายและใจของนักเรียนและครู
บทความล่าสุด