"กัลยาณิวัฒนาสร้างสุข" เสริมสร้างความสุขทั้งกายและใจของนักเรียนและครู

5 กุมภาพันธ์ 2564

ทีมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยหัวหน้าทีมลงพื้นที่ อาจารย์ ดร.สุนีย์ เงินยวง พร้อมคณะ ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ¬

โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอกัลยาณิวัฒนา เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 นักเรียนเป็นชนชาติพันธุ์ โดยอำเภอกัลยาณิวัฒนามีทั้งหมด 3 ชนเผ่า ได้แก่ ปกาเกอะญอ ม้ง และลีซู โดยรวมทางโรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

เดิมทีโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติมีการจัดการเรียนรู้ผ่านหลักสูตร “กัลยาณิวัฒนาศึกษา” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเชิงวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาสู่โมเดล “กัลยาณิวัฒนาสร้างสุข” ที่มุ่งเสริมสร้างความสุขกายและทางใจของนักเรียนและครู โดยมีกลยุทธิ์ 4 ข้อ ประกอบด้วย การศึกษาแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การวิเคราะห์ผู้เรียน การจัดกิจกรรมกัลยาณิวัฒนาสร้างสุข และ PLC เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน มีการดำเนินการใน 5 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนเป็นไปตามวงจรคุณภาพ PDCA โดยมีการสร้างบริบทและสร้างสภาพแวดล้อม ครอบครัว ชุมชนและโรงเรียนให้มีความสุขเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จ

นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีการจัดกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายชุมนุม ที่สอดคล้องกับความถนัดและความพร้อมของครูผู้สอน รวมทั้งสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน โดยนักเรียนสามารถเลือกกิจกรรมที่ตนสนใจได้ ซึ่งในแต่ละกิจกรรมนักเรียนจะได้รับการฝึกทักษะต่าง ๆ ตามอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อมุ่งสู่การบูรณาการทักษะทางวิชาการในชั้นเรียน และเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของผู้เรียน โดยมีการจัดแหล่งเรียนรู้ที่เน้นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้

อีกทั้งโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ ยังมีโครงการ “School Stay บ้านเด็กดอยมีดี” ที่จัดทำขึ้นควบคู่ไปพร้อมกับการจัดกิจกรรมชุมนุม โดยโรงเรียนได้ใช้ที่พักรับรองของโรงเรียนจำนวน 4 ห้อง ในการทำโฮมสเตย์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติงานจริงในทุกกระบวนการของการบริหารโฮมสเตย์ตามบทบาทที่ตนสนใจ ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาหาร บริการอาหารและอาหารว่าง ทำความสะอาดและจัดเตรียมที่พัก ประชาสัมพันธ์ การบัญชี ดูแลโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้กำกับดูแลในทุกกระบวนการ


ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ปนัดดา ไชยศักดิ์, รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ทศพร ขอนเพ็ชร

Facebook Comments
สรุปผลการจัดเวทีรับฟัง… การกำหนดหลักเกณฑ์ความพร้อมของจังหวัดในการเสนอขอจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใหม่อิสระการใช้งบประมาณ จัดทำ/คัดเลือก/จัดหา/ใช้ตำรา สื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด