ผลการประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

3 กันยายน 2020

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2563 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ครั้งที่ 1/2563 ผ่าน Zoom Cloud Meetings โดยมีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ได้แก่ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช, นางสาวศุภธิดา พรหมพยัคฆ์, นายอโณทัย ไทยวรรณศรี, นางอังคณา สุขเสวี (แทนผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน) และนางอรางค์ลักษณ์ มณีศิริ (แทนผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน) รวมทั้งนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม และผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้าร่วมการประชุม

นายสมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์ ประธานอนุกรรมการ ได้เสนอกลยุทธ์การขยายผลของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีแนวทางการขยายผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 แนวทางคือ

แนวทางที่ 1 การเพิ่มจำนวนสถานศึกษาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยแต่ละพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กำหนดเป้าหมายที่มีความท้าทายและสามารถทำได้จริง ในการขยายผลภายในระยะเวลา 3 ปี

แนวทางที่ 2 การเปิดรับจังหวัดที่มีความพร้อมและประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาความพร้อม ดังนี้

  1. ประชาคมจังหวัดมีความเข้มแข็ง มีภาพรวมของผลงานในการพัฒนาที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความเข้มแข็งของประชาคมจังหวัด และ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษา
  2. มีหน่วยงานพี่เลี้ยงจากภายนอกที่เข้มแข็ง สนับสนุนด้านการจัดการศึกษาแบบ Active Learning
  3. มีกลไกที่มีความสามารถในการระดมงบประมาณสนับสนุน เพื่อสมทบกับงบประมาณของภาครัฐที่จัดสรรให้

แนวทางที่ 3 การถอดบทเรียนเพื่อสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งหมดของประเทศ โดยการถอดบทเรียนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเดิมหรือที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการสร้างนวัตกรรมการศึกษา พร้อมทั้งใช้กลไกการสื่อสารสังคมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติในการพัฒนาสถานศึกษา ให้เป็นสถานศึกษาที่สร้างนวัตกรรมได้

นอกจากนี้ ศ. นพ.วิจารณ์  พานิช อนุกรรมการ ได้แนะนำกระบวนการ Developmental Evaluation หรือ DE เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการถอดบทเรียน การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังโครงการหรือกิจกรรมอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับแนวทางการติดตามและประเมินผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องนั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันทำข้อตกลงและเก็บข้อมูล และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำรายการข้อมูลกลาง ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด สถานศึกษานำร่อง และภาคีภายนอก เช่น มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการเพิ่มขีดความสามารถการสร้างความชัดเจนทั้งในมิติของภาระงานและสถานะของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมการใช้หลักการ Developmental Evaluation ในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการประเมิน


ผู้เขียน: ประสิทธิ์ สุขประสพโภคา
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์, อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
แต่งตั้งแล้ว!! คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมคณะศึกษาศาสตร์ มช. พร้อมพัฒนา 15 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562
บทความล่าสุด